×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-สหภาพยุโรป ถนนขรุขระในยุคทรัมป์ กับรอยร้าวที่รอการสมาน

20.10.2020
  • LOADING...
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-สหภาพยุโรป ถนนขรุขระในยุคทรัมป์ กับรอยร้าวที่รอการสมาน

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี วิวาทะของผู้นำสหรัฐฯ ได้ปรับโทนเป็นเชิงลบต่อสหภาพยุโรป (EU) ทรัมป์หนุนสหราชอาณาจักรแยกตัวจาก EU (Brexit) อย่างเปิดเผย นอกจากนี้ยังวิจารณ์ชาติยุโรปว่าเอาเปรียบสหรัฐฯ เรื่องการจ่ายเงินสมทบงบประมาณขององค์การ NATO  
  • ในมิติการค้า ทรัมป์ไม่พอใจที่สหรัฐฯ เสียดุลการค้าให้กับยุโรป จึงออกมาตรการตอบโต้ต่างๆ ซึ่งบั่นทอนบรรยากาศความสัมพันธ์ทางการค้า ซึ่งบานปลายไปสู่สงครามการค้าระหว่างกันในเวลาต่อมา
  • หาก โจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ บรรยากาศความสัมพันธ์น่าจะดีขึ้น เพราะ EU จะได้เพื่อนที่มีแนวคิดร่วมกันเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในเวทีระดับพหุภาคี

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ชาวอเมริกันจะได้เลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครสองคนที่มีมุมมองด้านการต่างประเทศต่างกันมาก ยุโรปในฐานะพันธมิตรที่เก่าแก่ของสหรัฐฯ ก็กำลังจับตามองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ยุโรปจะต้องประคับประคองความสัมพันธ์กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อไปอีก 4 ปี หรือจะได้กดปุ่มรีเซ็ตความสัมพันธ์บทใหม่กับโจ ไบเดน หลายคนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า หากโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (EU) จะกลับมาสนิทสนมกลมเกลียวกันเหมือนเดิมได้หรือไม่ 

 

 

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-สหภาพยุโรป ที่ถดถอยในช่วงทรัมป์

ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปี 2016 เป็นเวลากว่า 70 ปี สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปคือคู่มหาอำนาจพันธมิตรของโลกเสรีประชาธิปไตย สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือยุโรปอย่างมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและผลักดันการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพยุโรป) เพื่อให้ยุโรปมีความเข้มแข็งและสามารถร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการกำหนดกฎกติกาโลก  

 

ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดนี้ได้มีการก่อตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN), องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO), ธนาคารโลก (World Bank), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization-WTO) เป็นต้น เพื่อส่งเสริมหลักการด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย และการค้าเสรี ทั้งหมดนี้คือกระจกสะท้อนความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างคู่พันธมิตรสองฝั่งแอตแลนติก หรือเรียกว่า ‘Transatlantic Relationship’ มาโดยตลอด…จนกระทั่งปี 2016

 

เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี วิวาทะของผู้นำสหรัฐฯ ได้ปรับโทนเป็นเชิงลบต่อสหภาพยุโรป และหลายครั้งก็ดูจะไม่ให้ความเคารพกันเลย ทรัมป์กล่าวสนับสนุนการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นเหมือนการทำลายความน่าเชื่อถือของสหภาพยุโรปในฐานะตัวอย่างการรวมกลุ่มทางภูมิภาค นอกจากนี้ยังพูดลดค่าองค์การ NATO ที่เป็นสัญลักษณ์ความสามัคคีระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปมาหลายทศวรรษ โดยทรัมป์วิจารณ์อย่างหนักว่ายุโรปเอาเปรียบสหรัฐฯ เรื่องการจ่ายเงินสมทบงบประมาณของ NATO และล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ประกาศอีกว่าจะถอนทหารสหรัฐฯ กว่า 10,000 คน จากเยอรมนี เพื่อตอบโต้ที่เยอรมนีไม่ยอมเพิ่มเงินสนับสนุนองค์การ NATO ตามที่สหรัฐฯ เรียกร้อง ซึ่งคำประกาศนี้เป็นเรื่องน่าตกใจเนื่องจากเยอรมนีคือที่ตั้งของกองบัญชาการกำลังทหารสหรัฐฯ ในยุโรป (United States European Command-EUCOM) 

 

เมื่อสหรัฐฯ มีท่าทีเหินห่างหรือถึงขั้นดูถูกยุโรปเช่นนี้ อังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนีจึงย้ำความเป็นจริงในปัจจุบันว่า ยุโรปไม่สามารถหวังที่จะพึ่งคนอื่น (สหรัฐฯ) ได้อีกต่อไป และจำเป็นที่ต้องเพิ่มศักยภาพทางการทหารของยุโรปเองมากขึ้น

 

ในมิติการค้า สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปคือคู่ค้าและแหล่งลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของกันและกัน แต่ทรัมป์ไม่พอใจที่สหรัฐฯ เสียดุลการค้าให้กับยุโรป จึงมีมาตรการตอบโต้ต่างๆ ออกมา ซึ่งเป็นการบั่นทอนบรรยากาศความสัมพันธ์ทางการค้า ตั้งแต่การยกเลิกการเจรจาข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนสหรัฐฯ-สหภาพยุโรป (Translatlantic Trade and Investment Partnership-TTIP) ที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ริเริ่มไว้ จนถึงการใช้มาตรการด้านภาษีจนเกิดเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ EU (สหรัฐฯ ไม่ได้มีแต่สงครามการค้ากับจีนที่ถือว่าเป็น ‘ภัยคุกคาม’ แต่ยังเปิดสงครามการค้ากับยุโรปที่ถือว่าเป็น ‘พันธมิตร’ ด้วย) 

 

การถอยห่างของสหรัฐฯ จากกรอบความร่วมมือพหุภาคีเป็นอีกผลพวงหนึ่งของนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First) ซึ่งมีหลายอย่างที่สร้างความไม่พอใจให้กับ EU เริ่มตั้งแต่การประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) เมื่อปี 2017 ต่อมาสหรัฐฯ ขัดขวางการแต่งตั้งคณะผู้พิพากษาขององค์การการค้าโลก (WTO) จนทำให้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ต้องเป็นอัมพาตตั้งแต่ปลายปี 2019 

 

และในปีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทรัมป์ก็ได้ประกาศถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยกล่าวหาว่า WHO ล้มเหลวในการแจ้งเตือนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการที่ WHO มีท่าทีเข้าข้างจีน ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกรอบความร่วมมือพหุภาคีเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสหภาพยุโรปโดยตรง เนื่องจากสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก เช่น สภาวะโลกร้อน และการแพร่ระบาดของไวรัส และเมื่อสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งเคยร่วมจัดตั้งระบบพหุภาคีนี้ขึ้นมาด้วยกันในปัจจุบันกลับตีตัวห่างออกไป EU จึงต้องรับบทบาทหนักขึ้น รวมถึงต้องเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้กับกลไกเหล่านี้ด้วย 

 

 

หากไบเดนชนะการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ยุโรป จะดีขึ้นหรือไม่?   

หาก โจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ บรรยากาศความสัมพันธ์สหรัฐฯ-สหภาพยุโรปน่าจะเป็นไปอย่างฉันมิตรมากขึ้น ผู้นำยุโรปอาจดีใจกันพอสมควรที่จะไม่ต้องทนกับพฤติกรรมและทัศนคติที่ไร้ความเคารพของทรัมป์อีกต่อไป และจะได้เพื่อนที่มีแนวคิดร่วมกันเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ 

 

แอนโทนี การ์ดเนอร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหภาพยุโรป (ปัจจุบันอยู่ในทีมงานของ โจ ไบเดน) ได้ให้ความเห็นในงานเสวนาของสถาบัน European Policy Center เมื่อเดือนกันยายนว่า สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปจะกลับมามีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงมากขึ้น โดยไบเดนจะกลับมาสนับสนุนองค์การ NATO และไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของทรัมป์ก่อนหน้านี้ที่ให้ถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากเยอรมนี ซึ่งจะต้องมีการทบทวนเรื่องนี้กันใหม่

 

นอกจากการพูดคุยกันมากขึ้นระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำยุโรปแล้ว สหรัฐฯ ก็น่าจะกลับมามีบทบาทในเวทีพหุภาคีมากขึ้นด้วย ไบเดนเคยประกาศชัดเจนว่าจะฟื้นฟูบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีโลก เช่น การกลับเข้าเป็นสมาชิกของ WHO และความตกลงปารีสฯ รวมทั้งการร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการผลักดันการปฏิรูป WTO (แทนการขัดขวางกลไกอย่างที่ทรัมป์ทำ) ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศดั้งเดิมของสหรัฐฯ มากขึ้น โดยมียุโรปเป็นพันธมิตรเพื่อจัดการกับประเด็นท้าทายระดับโลก รวมทั้งเพื่อต่อกรกับคู่ปรับสำคัญอย่างจีนและรัสเซีย

 

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกปัญหาจะหายไปทันทีเพียงเพราะบรรยากาศการพูดคุยดีขึ้น  บางประเด็นปัญหาระหว่างสหรัฐฯ กับ EU ไม่ได้เกิดจากความเห็นส่วนตัวของทรัมป์แต่เพียงผู้เดียว เช่น ประเด็นการสมทบงบประมาณ NATO ซึ่งทรัมป์ไม่ใช่ผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาถก หากแต่เขาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่มีท่าทีก้าวร้าวที่สุดเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ 

 

นอกจากเรื่องความมั่นคงแล้ว ประเด็นการค้าบางอย่างก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงท่าทีได้ เนื่องจากไบเดนเองต้องพยายามรักษาฐานเสียงชนชั้นแรงงานด้วย โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและเกิดความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นผู้นำสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือไบเดน น่าจะต้องพยายามปกป้องธุรกิจและงานสำหรับชาวอเมริกันเองก่อน นโยบายการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าน่าจะคงมีต่อไป และการรื้อฟื้นการเจรจาข้อตกลง TTIP หรือการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีใดๆ นับเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่ไบเดนคงไม่รีบร้อนที่จะหยิบขึ้นมาปัดฝุ่น

 

จีนจะเป็นอีกประเด็นปวดหัวในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป กล่าวคือ แม้ในกรณีที่ไบเดนชนะการเลือกตั้ง สหรัฐฯ ก็จะยังคงมองจีนเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อสถานะมหาอำนาจของตน (ที่ไม่เคยมีใครสามารถขึ้นมาท้าทายได้ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา) 

 

แต่สิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงในสมการนี้คือ ความคาดหวังของสหรัฐฯ ต่อยุโรป ในการช่วยคานอำนาจของจีน จากเดิมที่ทรัมป์เน้นคิดเองทำเองฝ่ายเดียว ก็จะเปลี่ยนมาเป็นความคาดหวังที่สหรัฐฯ ต้องการให้สหภาพยุโรปอยู่ข้างเดียวกันในประเด็นพิพาทกับจีน เช่น เรื่องการแบนเทคโนโลยี 5G ของจีน และเรื่องสงครามการค้า ซึ่งสหภาพยุโรปก็จะต้องระมัดระวังในการรักษาสมดุลที่เปราะบางระหว่างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และความสัมพันธ์กับจีน ไปพร้อมๆ กัน (คลิกที่นี่เพื่ออ่านเพิ่มเติมเรื่องความสัมพันธ์สหภาพยุโรป-จีน)

 

โดยสรุป สหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดนน่าจะมีความร่วมมือกับสหภาพยุโรปมากขึ้น ให้ความสำคัญกับกรอบพหุภาคีต่างๆ มากขึ้น และมีความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี การขึ้นมาของไบเดนคงไม่สามารถพาโลกย้อนกลับไปสู่ยุคก่อนทรัมป์ได้เต็มรูปแบบ ที่ทุกประเทศพร้อมใจกันชูนโยบายเรื่องโลกาภิวัฒน์และการค้าเสรี เพราะโลกปัจจุบันมีตัวแปรใหม่เข้ามา (โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีน) ดังนั้น มหาอำนาจเก่า ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือยุโรป ต่างก็ต้องดำเนินนโยบายที่เน้นผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ 

 

*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X