×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ‘ทรัมป์แคร์’ ระบบประกันสุขภาพแทนที่หรือเพียง ‘โอบามาแคร์’ ในชื่อใหม่

29.09.2020
  • LOADING...
Donald Trump

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดตัวนโยบายประกันสุขภาพแทนที่โอบามาแคร์ ก่อนเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายนนี้
  • นักวิเคราะห์ชี้ เนื้อหา ‘ทรัมป์แคร์’ กลวง เหมือนเป็นแค่สโลแกนหาเสียง
  • ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หวังเพิกถอนโอบามาแคร์ในชั้นศาลสูงสุด หลังเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่
  • พรรครีพับลิกันพยายามเพิกถอนโอบามาแคร์มากว่า 10 ปี ต่อสู้ในสภาฯ มาเกิน 60 ครั้ง
  • โอบามาแคร์ถูกปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นในสมัยของทรัมป์

 

 

 

 

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการเพิกถอนรัฐบัญญัติประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโอบามาแคร์ มาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2016 แล้ว 

 

เมื่อเขาขึ้นดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ประกาศว่าจะ ‘เพิกถอน’ และ ‘แทนที่’ โอบามาแคร์ ด้วยนโยบายประกันสุขภาพที่ดีกว่า ถูกกว่า และเป็นประโยชน์กับคนอเมริกันมากกว่า แต่ไม่เคยลงรายละเอียดว่า นโยบายที่จะมาแทนที่นั้นจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

 

จนเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผย ‘แผนประกันสุขภาพอเมริกาเฟิสต์’ หรือ ‘America First Health Care Plan’ ที่เขาทวีตว่า “โอบามาแคร์จะถูกแทนที่ด้วยตัวเลือกใหม่ที่ดีกว่าและถูกกว่า หากศาลสูงสุดตัดสินเพิกถอนโอบามาแคร์”

 

“มันจะเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของอเมริกา”

 

น่าสนใจว่า การเปิดตัวนโยบายประกันสุขภาพฉบับทรัมป์มีขึ้นเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่เขาจะเสนอชื่อ เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ แทนที่ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 18 กันยายน

 

เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ ว่าที่ผู้พิพากษาสูงสุดคนใหม่

 

การจากไปของกินส์เบิร์ก ผู้พิพากษาฯ สายเสรีนิยม ทำให้ขั้วอำนาจในศาลสูงสุดสั่นคลอน และหากวุฒิสภาลงมติรับรองบาร์เรตต์สำเร็จ จะทำให้มีผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมมากกว่าเสรีนิยม 6 ต่อ 3 คน 

 

การเปิดตัวนโยบายประกันสุขภาพของทรัมป์ ตามด้วยการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ ไม่ได้เป็น ‘เรื่องบังเอิญ’ แต่มันคือยุทธศาสตร์ที่วางไว้ สำหรับการพิจารณาถึงอนาคตของโอบามาแคร์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน หรือ 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 3 พฤศจิกายน 

 

‘ทรัมป์แคร์’ หรือไม่แยแสคนอเมริกัน

โจชัว โคเฮน คอลัมนิสต์ของนิตยสาร Forbes วิเคราะห์ว่า นโยบายประกันสุขภาพอเมริกาเฟิสต์ที่ทรัมป์ระบุว่า เป็น “แผนประกันสุขภาพที่เยี่ยมยอด” หน้าตาไม่เหมือนนโยบายที่นำไปใช้ได้จริงสักเท่าไร เพราะไม่อธิบายว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อบรรลุข้อกำหนดแต่ละข้อ กลับกัน มันดูเหมือน ‘สโลแกนหาเสียง’ มากกว่า 

 

นโยบายที่ขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘ทรัมป์แคร์’ มีใจความสำคัญ ดังนี้

 

ขจัดโควิด-19 พัฒนาวัคซีนภายในปี 2020 อเมริกากลับสู่ภาวะปกติภายในปี 2021 และกักตุนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับสถานการณ์โรคระบาดในอนาคต

 

ประกันสุขภาพ ปรับลดราคายาตามใบสั่งแพทย์ ลดเบี้ยประกันสุขภาพ ยุติค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง ประกันสุขภาพจะครอบคลุมโรคพึงรู้ก่อนการคุ้มครองทั้งหมด และคุ้มครองทหารผ่านศึก พร้อมมอบการรักษาและบริการระดับโลก

 

การพึ่งพาจีน ลดหย่อนค่าใช้จ่าย 100% เต็มให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ เวชภัณฑ์ และหุ่นยนต์ ที่ดึงภาคการผลิตกลับมาสหรัฐฯ ขณะที่ ภาครัฐจะยกเลิกสัญญาจ้างกับบริษัทที่เอาต์ซอร์สงานไปจีน และเอาผิดจีนที่ปล่อยให้ไวรัสระบาดไปทั่วโลก

 

โจเซฟ แอนทอส นักวิชาการด้านประกันสุขภาพและนโยบายเกษียณอายุ สถาบันองค์กรอเมริกัน (American Enterprise Institute) วิเคราะห์ทรัมป์แคร์ว่า เป็นยุทธศาสตร์แบบ ‘เน้นเนื้อ ไม่เน้นน้ำ’ เพราะมีเนื้อหายาวเพียง 6 หน้ากระดาษ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับข้อเสนอเชิงนโยบายเดียวกันของ โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตที่ยาวกว่า 100 หน้า

 

 

ประชาชนไม่อยากเสียเวลามานั่งอ่านรายละเอียดยาวยืดของนโยบาย “ผมคิดว่าทรัมป์เล่นเกมเป็น… เขารู้ดีว่าผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนต้องการเสพข้อมูลประมาณไหน” หากเปรียบเทียบนโยบายด้านประกันสุขภาพของทรัมป์และไบเดนแล้ว เกล วิเลนสกี นักเศรษฐศาสตร์ โครงการ Project Hope ชี้ว่า ข้อแตกต่างเดียวคือ นโยบายของไบเดนมุ่งขยายการเข้าถึงประกันสุขภาพของชาวอเมริกัน ต่อยอดจากกรอบนโยบายโอบามาแคร์

 

ดังนั้นการเปิดตัวทรัมป์แคร์จึงไม่ส่งผลอะไรมากนักต่อ ‘ธีมหลัก’ ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ โดยยังเป็นศึกเลือกตั้งว่าด้วย ‘การเอาหรือไม่เอาทรัมป์’ 

 

จุดที่วิเลนสกีชี้ว่ามีนัยสำคัญคือ ทรัมป์แคร์ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่า จะ ‘เพิกถอนโอบามาแคร์’ ซึ่งเชื่อว่า เป็นเหตุผลทางการเมือง เพราะมีชาวอเมริกันจำนวนมากที่ได้ประโยชน์จากโอบามาแคร์ หากทรัมป์พุ่งเป้าโจมตีโดยตรง อาจกระทบต่อคะแนนเสียง

 

ทรัมป์แจกเงิน (อีกแล้ว)

ช่วงการระบาดของโควิด-19 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการเยียวยา ด้วยการส่งมอบเช็คมูลค่า 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 4 หมื่นบาท ให้ประชาชนกว่า 70 ล้านคน 

 

ประชาชนและสื่ออเมริกันเรียกเช็คเยียวยานี้ว่า ‘Trump Money’ เพราะบนเช็คนั้นมีการพิมพ์ลายเซ็นและชื่อ ‘ประธานาธิบดี โดนัลด์ เจ. ทรัมป์’ ไว้ด้วย ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ที่ชื่อประธานาธิบดีปรากฏบนเอกสารเบิกจ่ายที่ภาครัฐมอบให้ประชาชน

 

เงินเยียวยากับคำถามซื้อเสียงทางอ้อม

 

หนังสือพิมพ์ The Washington Post วิเคราะห์ว่า การลงชื่อและลายเซ็นทรัมป์บนเช็ค เป็นหลักฐานว่า ทรัมป์พยายามใช้มาตรการเยียวยาโควิด-19 เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ต่างจากการซื้อเสียง และตอนนี้รัฐสภาสหรัฐฯ กำลังพิจารณาถึงการสั่งจ่ายเช็คเยียวยาระลอกสองให้ชาวอเมริกัน ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากับครั้งแรก

 

‘นโยบายแจกเงิน’ รวมอยู่ในทรัมป์แคร์เช่นกัน โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะออกบัตรของขวัญมูลค่า 200 ดอลลาร์สหรัฐแก่ผู้สูงอายุ เพื่อช่วยลดภาระการซื้อยาตามใบสั่งแพทย์ แน่นอนว่าหากมองในทางการเมือง ‘บัตรผู้สูงอายุ’ นี้มีเป้าหมายเอาใจผู้มีสิทธิลงคะแนนสูงวัยนั่นเอง

 

อย่างไรก็ดี แม้จะใช้คำว่า Trump Money แต่ Forbes ชี้ว่า “เราทราบกันดีว่าเงินเหล่านี้มาจากไหน” หรือพูดง่ายๆ มันไม่ใช่เงินจากกระเป๋าเงินของทรัมป์ แต่มาจากภาษีประชาชน 

 

โอบามาแคร์ดีขึ้นในสมัยทรัมป์

โอบามาแคร์หรือรัฐบัญญัติประกันสุขภาพถ้วนหน้า บังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อปี 2009 มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงประกันสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อย สามารถครอบครองประกันสุขภาพได้ในราคาถูก ขณะที่ ชนชั้นกลางและคนรวย จะต้องเสียเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้น 

 

นโยบายชูโรงของพรรคเดโมแครตเป็นกฎหมายภาคบังคับว่า ประชาชนทุกคนจะต้องมีประกันสุขภาพ หากบุคคลใดที่มีสถานะทางการเงินเพียงพอ แต่ไม่ยอมซื้อแผนประกันสุขภาพ จะต้องเสียเงินค่าปรับในรูปแบบภาษีขั้นต่ำคิดเป็นอย่างน้อย 2.5% ของรายได้ครัวเรือนต่อปี 

 

ทั้งนี้ นับแต่ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ราคาเบี้ยประกันได้ปรับลง และยกเลิกค่าปรับ ขณะที่บริษัทประกันออกแผนคุ้มครองในราคาที่หลากหลายและตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อเป็นตัวเลือกแก่ประชาชน 

 

New York Post วิเคราะห์ว่า แม้ทรัมป์ต้องการเพิกถอนโอบามาแคร์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาได้ช่วยปรับปรุงโอบามาแคร์ให้ดีขึ้น เข้าถึงประชาชนมากขึ้น และแบ่งเบาภาระของชนชั้นกลางและร่ำรวย

 

โอบามาแคร์ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นในสมัยทรัมป์

 

รัฐบาลทรัมป์ยังพัฒนาระบบสาธารณสุขให้โปร่งใสมากขึ้นด้วยการออกกฎข้อบังคับว่า โรงพยาบาลและบริษัทผู้ให้ประกันจะต้องเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่เพียงประชาชนจะได้ประโยชน์ด้านข้อมูลค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียจริง แต่ผู้จ้างงานยังอ้างอิงข้อมูลเหล่านี้ เพื่อต่อรองแผนประกันสุขภาพให้พนักงานของตนได้อีกด้วย

 

ล้มเหลวในสภาฯ เดินหน้าเพิกถอนในชั้นศาล

นับแต่โอบามาแคร์มีผลบังคับใช้เมื่อ 11 ปีที่แล้ว นักการเมืองพรรครีพับลิกันพยายามเพิกถอนโอบามาแคร์ ไม่ว่าจะเพิกถอนทั้งฉบับ หรือเพียงบางข้อกำหนด รวมมากกว่า 60 ครั้ง แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จ 

 

เมื่อการต่อสู้ในสภาฯ ล้มเหลว พรรครีพับลิกันจึงเปลี่ยนสังเวียน ฟ้องร้องต่อศาลสูงสุดในปี 2012 ว่า โอบามาแคร์ละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่ศาลฯ ตัดสินว่า โอบามาแคร์เป็นไปตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 

 

ความพยายามเพิกถอนโอบามาแคร์ทั้งฉบับครั้งต่อไปของรีพับลิกันอยู่ในศาลสูงสุดเช่นกัน ด้วยข้อกล่าวหาเดิมว่า ‘โอบามาแคร์ขัดหลักรัฐธรรมนูญ’ โดยศาลจะเริ่มการไต่สวนในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ และจะใช้เวลา 3-4 วันเพื่อพิจารณา แต่ครั้งนี้รีพับลิกันจะมีแต้มต่อสูงขึ้น หากวุฒิสภารับรองบาร์เรตต์เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ 

 

“สิ่งที่ฉันกังวลคือ ประธานาธิบดีทรัมป์แต่งตั้งคนคนนี้เพื่อยกเลิกรัฐบัญญัติประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมทรัมป์ถึงเร่งรีบเสนอชื่อนัก” แนนซี เปโลซี ผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตให้สัมภาษณ์กับ CNN 

 

เปโลซีระบุด้วยว่า การเพิกถอนโอบามาแคร์ในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ระบาด ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกิน 2 แสนคน และผู้ติดเชื้อกว่า 7 ล้านคน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตของชาวอเมริกัน เพราะจะขาดการคุ้มครองจากประกันสุขภาพ

 

เพิกถอน-แทนที่…หรือแค่โอบามาแคร์ในร่างใหม่

ก่อนหน้านโยบาย ‘ทรัมป์แคร์’ พรรครีพับลิกันเคยนำเสนอนโยบายที่จะแทนที่โอบามาแคร์มาแล้วในชื่อ รัฐบัญญัติประกันสุขภาพอเมริกัน หรือ American Health Care Act (AHCA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทั้งเพิกถอนและแทนที่โอบามาแคร์ในฉบับเดียวกัน 

 

สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมาย AHCA ได้สำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2017 แต่รัฐบัญญัตินี้ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการลงมติในวุฒิสภา มีเพียงข้อเสนอเพิกถอนโอบามาแคร์เท่านั้นที่ถูกนำขึ้นพิจารณาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน แต่ท้ายสุดก็ถูกโหวตตกไป

 

ปัจจัยที่ทำให้การเพิกถอนโอบามาแคร์ไม่ลุล่วงเสียที เป็นเพราะรัฐบัญญัติประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีข้อกำหนดที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน นักการเมืองพรรครีพับลิกันหลายคนเองก็สนับสนุนข้อบัญญัติหลักๆ ของโอบามาแคร์ ไม่ว่าจะการรับรองความคุ้มครองให้บุคคลที่มีโรคพึงรู้ก่อนการคุ้มครองของประกัน เงินสนับสนุนแก่บุคคลที่ซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทที่มีข้อผูกพันกับรัฐ และการให้สิทธิ์ประชาชนที่อายุต่ำกว่า 26 ปี สามารถใช้แผนประกันสุขภาพของพ่อแม่ได้ 

 

เยาวชนใช้แผนประกันสุขภาพของผู้ปกครองได้จนถึงอายุ 26 ปี

 

ทรัมป์เองก็ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ กับประเด็นนี้ เพราะเขาเคยให้สัญญาว่าจะ ‘เพิกถอนและแทนที่’ โอบามาแคร์มาตลอด ครั้งหนึ่งทรัมป์ประกาศว่า จะออกคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อ “บังคับให้บริษัทประกันต้องคุ้มครองโรคพึงรู้ฯ ให้ผู้บริโภคทุกคน” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ย้อนแย้ง เพราะโอบามาแคร์มีข้อกำหนดเรื่องนี้อยู่แล้ว 

 

ดังนั้นตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ทรัมป์ทำได้คือ ‘ปรับเปลี่ยน’ และ ‘ปรับปรุง’ โอบามาแคร์ให้ดีขึ้น ส่วนนี้จึงอธิบายได้ว่าทำไม ‘ทรัมป์แคร์’ จึงไม่ระบุชัดเจนถึงการเพิกถอนโอบามาแคร์ เพราะจะกลายเป็นการยกเลิกสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ริเริ่มและได้ทำมา

 

ถ้าเช่นนั้น ‘ทรัมป์แคร์’ และนโยบายประกันสุขภาพใดๆ ต่อจากนี้ของรีพับลิกัน จึงไม่ต่างอะไรกับการ ‘ต่อยอด’ มรดกทางนโยบายของ บารัก โอบามา ให้ดีขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าชื่อนโยบายจะเปลี่ยนเป็นอะไรก็ตาม 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X