ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธที่จะให้คำมั่นว่าการถ่ายโอนอำนาจจะเป็นไปอย่างสันติหากเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าเขาอาจหาทางที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ ภายในอำนาจของประธานาธิบดี ซึ่งรวมถึงบทบาทในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อยืดเวลาในการอยู่ในตำแหน่งออกไป
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากองทัพสหรัฐฯ ได้เคยยืนยัน และล่าสุดก็ได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่าจะไม่เข้ามารับบทบาทในการแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดย พล.อ. มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐฯ ได้แถลงจุดยืนของเพนตากอนอย่างชัดเจนในจดหมายที่ส่งถึงสภาคองเกรสเมื่อเดือนที่แล้วว่า
“รัฐธรรมนูญและกฎหมายของสหรัฐฯ และรัฐต่างๆ ได้กำหนดขั้นตอนในการดำเนินการเลือกตั้งและในการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง ผมไม่เห็นว่ากองทัพสหรัฐฯ มีส่วนอะไรในกระบวนการนี้” พล.อ. มิลลีย์ ระบุในจดหมายที่ส่งถึงสมาชิกสองคนของคณะกรรมาธิการด้านอาวุธของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (House Armed Services Committee)
“ถ้ามีความขัดแย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้งเกิดขึ้น กฎหมายกำหนดให้ศาลสหรัฐฯ และสภาคองเกรสสหรัฐฯ เป็นผู้แก้ไขความขัดแย้งเหล่านั้น ไม่ใช่กองทัพสหรัฐฯ” พล.อ. มิลลีย์ กล่าวเสริม
ขณะที่ น.อ. บรู๊ก ดีวอลต์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวกับ CNN ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า “กระทรวงกลาโหมไม่มีบทบาทในการถ่ายโอนอำนาจหลังการเลือกตั้ง”
แม้ทางเพนตากอนจะออกมายืนยันจุดยืนของตนเอง แต่นักวิจารณ์บางส่วนก็ยังคงคลางแคลงว่าทรัมป์อาจพยายามสั่งให้กองทัพดำเนินการในนามของตนเอง โดยอ้างกฎหมาย Insurrection Act เพื่อเคลื่อนกำลังทหารประจำการปกติไปตามท้องถนนทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมสถานะของทรัมป์ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ทหารหลายคนเผยกับ CNN ว่าความเคลื่อนไหวใดๆ เพื่ออ้างกฎหมายดังกล่าวอาจเผชิญกับการคัดค้านอย่างแข็งกร้าวจากผู้นำเพนตากอน
ทั้งนี้ แม้ทรัมป์ไม่ได้ระบุชี้ชัดว่าจะขอให้กองทัพออกมาตัดสินการเลือกตั้ง แต่ โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการที่ผู้นำระดับสูงของกองทัพจะเข้ามามีบทบาทในการขับทรัมป์ หากทรัมป์ไม่ยอมก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีหลังแพ้เลือกตั้ง ซึ่งปรากฏว่าไอเดียของไบเดนก็ถูกเจ้าหน้าที่เพนตากอนและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารปัดตกไปเช่นกัน
พล.ท. เฮอร์เบิร์ต เรย์มอนด์ แมคมาสเตอร์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้เคยเป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ กล่าวกับ CNN ว่าทางกองทัพจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด
“พวกที่แนะนำว่ากองทัพควรมีบทบาทในการถ่ายโอนอำนาจ พวกเขาขาดความรับผิดชอบพอๆ กัน กองทัพไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแม้แต่กับการเจรจาเรื่องการถ่ายโอนอำนาจระหว่างคณะบริหาร”
สำหรับกฎหมาย Insurrection Act ที่หลายฝ่ายกังวลว่าทรัมป์จะนำมาใช้นั้น จริงๆ แล้วได้ถูกพูดถึงตั้งแต่ก่อนที่ทรัมป์ปฏิเสธที่จะรับปากเรื่องการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติแล้ว โดยก่อนหน้านี้ CNN ได้เคยรายงานว่าเหล่าผู้นำระดับสูงของเพนตากอนกังวลว่าทรัมป์อาจอ้างกฎหมาย Insurrection Act เพื่อส่งกองกำลังทหาร ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายพลเรือนเพื่อปราบปรามการประท้วงที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุจลาจลในเหตุการณ์สังหาร จอร์จ ฟลอยด์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: