×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: จับตา 9 รัฐสำคัญ กุมชะตาผู้ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี

โดย THE STANDARD TEAM
29.10.2020
  • LOADING...
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: จับตา 9 รัฐสำคัญ กุมชะตาผู้ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี

จากทั้งหมด 50 รัฐของสหรัฐฯ อาจมีเพียงไม่กี่รัฐเท่านั้นที่สำคัญขนาดที่สามารถตัดสินชี้ขาดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ เพราะรัฐส่วนใหญ่ ล้วนเลือกข้างชัดเจน ว่าจะสนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยม (Conservative) หรือฝ่ายเสรีนิยม (Liberal) โดยบทความของ CNN เลือก 9 รัฐน่าจับตาที่อาจกุมชะตาผู้ชนะครั้งนี้

 

ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงศึกเลือกตั้ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน และ โจ ไบเดน ผู้สมัครจากเดโมแครต ต่างใช้เวลาในการหาเสียงโดยมุ่งเน้นไปที่รัฐสำคัญเหล่านี้ ซึ่งคะแนนเสียงเพียงไม่กี่พันคะแนน อาจทำให้คว้าชัยและได้เสียงสนับสนุนจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ไปทั้งหมดตามกฎ Winner Takes All นั่นเอง

 

สำหรับ 9 มลรัฐสำคัญนี้ แต่ละรัฐมีจำนวนผู้แทนคณะผู้เลือกตั้งกี่คน และผู้สมัครคนใดได้รับความนิยมมากกว่า 

 

รัฐมิชิแกน: 

รัฐนี้มีคณะผู้เลือกตั้ง 16 คน ซึ่งทรัมป์ชนะในปี 2016 แต่ความนิยมตอนนี้เอนเอียงไปทางไบเดนมากกว่า

 

ทั้ง ฮิลลารี คลินตัน หรือใครก็ตาม ไม่มีใครคาดคิดว่าทรัมป์จะเอาชนะในรัฐนี้ได้ในปี 2016 ซึ่งครั้งนั้น ทรัมป์เอาชนะใจกลุ่มชนชั้นแรงงานผิวขาวไปได้

 

แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไบเดนมุ่งเอาชนะทรัมป์ด้วยการสร้างคะแนนนิยมในกลุ่มชาวอเมริกันผิวขาวที่มีการศึกษาน้อย โดยคาดว่าจะเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งกว่าคลินตันมาก เพราะไบเดนยังให้การสนับสนุนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิวดำจำนวนมากในเมืองดีทรอยต์ และได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประชาชนในเขตชานเมือง

 

รัฐวิสคอนซิน: 

มีคณะผู้เลือกตั้ง 10 คน โดยทรัมป์ชนะในปี 2016 แต่ความนิยมตอนนี้เอนเอียงไปทางไบเดนเช่นกัน

 

วิสคอนซินเป็นอีกรัฐที่พรรคเดโมแครตคิดว่าเอาชนะได้แน่นอนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 แต่สุดท้ายกลับพ่ายแพ้ให้แก่ทรัมป์ เนื่องจากชาววิสคอนซินได้เห็นรอยร้าวแห่งฐานอำนาจของเสรีนิยม จากการถดถอยของอุตสาหกรรมการผลิตและการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีที่รัฐบาลเดโมแครตสนับสนุน ในขณะที่อิทธิพลของสหภาพแรงงานนั้นลดน้อยลง

 

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่าทรัมป์จะได้คะแนนเสียงจากกลุ่มประชาชนในพื้นที่ยากไร้ ขณะที่ไบเดนมองหาชัยชนะที่ใหญ่กว่าในเมืองมิลวอกี และพื้นที่ชานเมือง รวมถึงเมืองแห่งมหาวิทยาลัยเสรีนิยมอย่างเมดิสัน

 

รัฐไอโอวา: 

มีคณะผู้เลือกตั้ง 6 คน ทรัมป์ชนะในปี 2016 ขณะที่ความนิยมตอนนี้ยังคงสูสี สามารถออกได้สองหน้า

 

ทรัมป์อาจแทบไม่ต้องเหนื่อยกับการปกป้องฐานเสียงในรัฐนี้ เนื่องจากทั่วทั้งรัฐเป็นสีแดง (สีสัญลักษณ์ของรีพับลิกัน) แทบทั้งหมด ยกเว้นเมืองศูนย์กลางที่มีประชากรมากที่สุดอย่าง ดิมอยน์, ซีดาร์แรพิดส์ และเมืองดาเวนพอร์ต ทางตะวันออก

 

ในปี 2016 ทรัมป์ยังเอาชนะคลินตันในรัฐนี้ด้วยคะแนนนำกว่า 9% และที่ผ่านมา เขาทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยเหลือเกษตรกรในรัฐนี้ แม้ว่าชาวไอโอวาจำนวนมาก จะรู้สึกได้ถึงผลกระทบที่เกิดจากการที่ทรัมป์เปิดฉากทำสงครามการค้ากับจีน ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบอย่างหนักในรัฐนี้ และทำให้เห็นความล้มเหลวของทรัมป์ในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาด

 

รัฐโอไฮโอ: 

รัฐนี้มีคณะผู้เลือกตั้ง 18 คน ทรัมป์ชนะในปี 2016 ขณะที่ความนิยมในแคนดิเดต 2 คนตอนนี้ยังคงสูสี เหมือนกับรัฐไอโอวา

 

ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของเดโมแครต เคยชนะในรัฐโอไฮโอ 2 ครั้ง แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสถานะของรัฐนี้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐ Swing State หรือรัฐที่คะแนนเสียงไม่แน่นอนของฝั่งมิดเวสต์เอนเอียงไปทางรีพับลิกันมากขึ้น

 

สำหรับไบเดน การเลือกตั้งครั้งนี้ เขาเน้นเพิ่มคะแนนเสียงจากกลุ่มชนชั้นแรงงานผิวขาวและผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้เขาคว้าชัยชนะได้

 

และตามสถิติที่ผ่านมา ไม่เคยมีผู้สมัครจากรีพับลิกันคนใดที่พ่ายแพ้ในรัฐนี้ แต่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากทรัมป์พ่ายในรัฐนี้ เขาอาจต้องปิดฉากการทำหน้าที่ในทำเนียบขาว เนื่องจากดูเหมือนว่ารัฐ Swing State อื่นๆ ในแถบมิดเวสต์ต่างก็เอนไปทางไบเดนแล้ว

 

รัฐเพนซิลเวเนีย: 

รัฐนี้มีคณะผู้เลือกตั้ง 20 คน ทรัมป์ชนะในปี 2016 แต่ความนิยมตอนนี้เอนเอียงไปทางไบเดน

 

ในช่วงโค้งสุดท้ายที่การเลือกตั้งใกล้จะมาถึง ผู้สมัครแต่ละฝ่ายต่างก็พุ่งเป้าไปที่รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสมรภูมิและหลักชัยสำคัญที่ชี้วัดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

ทรัมป์เคยคว้าชัยชนะในรัฐนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว พร้อมกับปิดฉากชัยชนะต่อเนื่อง 6 ครั้งของเดโมแครตในรัฐนี้ ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับไบเดนในการพลิกเอาชนะในรัฐนี้ คือการคว้าชัยในเมืองใหญ่อย่างฟิลาเดลเฟีย พิตต์สเบิร์ก และพื้นที่ชานเมืองเหล่านี้

รวมถึงเอาชนะในพื้นที่ฐานเสียงของทรัมป์อย่างพื้นที่ยากไร้ และเมืองแห่งชนชั้นแรงงานอย่าง สแครนตัน ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของไบเดน

 

รัฐนอร์ทแคโรไลนา: 

คณะผู้เลือกตั้ง 15 คน ทรัมป์ชนะในปี 2016 และความนิยมตอนนี้สูสี

 

สัญญาณแรกที่แสดงให้เห็นว่า นอร์ทแคโรไลนา กำลังเปลี่ยนสถานะจากฐานเสียงของรีพับลิกัน ไปสู่รัฐ Swing State เกิดขึ้นเมื่อโอบามาพลิกชนะในรัฐนี้อย่างฉิวเฉียดเมื่อปี 2008

 

การพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก และศูนย์การแพทย์ที่มีความทันสมัย ทำให้รัฐนี้มีกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต ทั้งกลุ่มชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และกลุ่มชนพื้นเมืองที่มีการศึกษาสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่รัฐนี้ยังเป็นหนึ่งในรัฐที่ทรัมป์ควรรักษาฐานเสียงไว้ให้ได้หากจะชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2

 

รัฐจอร์เจีย: 

คณะผู้เลือกตั้ง 16 คน ทรัมป์ชนะในปี 2016 ขณะที่ความนิยมตอนนี้ยังคงสูสีเช่นกัน

 

จอร์เจียถือเป็นฐานที่มั่นอีกแห่งของรีพับลิกัน ซึ่งผู้สมัครของเดโมแครตที่ผ่านมา พยายามหาทางพลิกเอาชนะ

 

แต่การเพิ่มขึ้นของชาวผิวสีชนชั้นกลาง และการขยายตัวของผู้คนในเขตชานเมือง ซึ่งทรัมป์ดูแลคนกลุ่มนี้ไม่ดีนัก ทำให้เดโมแครตมีความหวังมากขึ้นเป็นพิเศษในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ขณะที่จอร์เจียยังเป็นรัฐสำคัญในการแข่งขันชิงเก้าอี้วุฒิสภา จากการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งชัยชนะในรัฐนี้อาจเป็นตัวตัดสินว่าเดโมแครตจะกลับมาครองที่นั่งเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นของรีพับลิกันได้หรือไม่

 

รัฐแอริโซนา

มีคณะผู้เลือกตั้ง 11 คน ทรัมป์ชนะในปี 2016 แต่ความนิยมตอนนี้เอนเอียงไปทางไบเดน

 

แอริโซนาเป็นอีกรัฐหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงของประชากร ทำให้เดโมแครตมีความหวังในการเอาชนะฐานเสียงของรีพับลิกันในรัฐนี้มากขึ้น

 

โดยแอริโซนาถือเป็นบ้านของ แบร์รี โกลด์วอเตอร์ อดีตวุฒิสมาชิกจากรีพับลิกันและเป็นบิดาแห่งกลุ่มอนุรักษนิยมสมัยใหม่ อีกทั้งยังเป็นรัฐที่มีผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมาก แต่เดโมแครตเชื่อว่าผลเลือกตั้งในรัฐนี้สามารถเปลี่ยนขั้วได้ หลังจากในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปี 2018 ผู้สมัคร ส.ว. จากเดโมแครต เป็นฝ่ายเอาชนะในรัฐนี้ไปได้

 

รัฐฟลอริดา: 

รัฐนี้มีคณะผู้เลือกตั้ง 29 คน ซึ่งมากที่สุดในบรรดา 9 รัฐที่กล่าวมา เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทรัมป์คว้าชัยในรัฐนี้ได้ ขณะที่การเลือกตั้งหนนี้ยังออกได้สองหน้า เพราะทรัมป์และไบเดนมีความนิยมที่ขับเคี่ยวกันสูสี

 

ฟลอริดาเป็นรัฐ Swing State ที่คะแนนเสียงแกว่งไปมามากกว่ารัฐอื่นๆ และในปี 2000 เกิดข้อขัดแย้งขึ้น ซึ่งศาลสูงต้องเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ทำให้ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้ขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดี

 

ประชากรในรัฐนี้มีหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มฮาร์ดคอร์ที่สนับสนุนทรัมป์แบบสุดขั้ว กลุ่มผู้เกษียณอายุที่ไม่นิยมทรัมป์ กลุ่มประชาชนในเขตชานเมืองที่มีจำนวนมากที่สุด และกลุ่มผู้พลัดถิ่นเชื้อสายเวเนซุเอลาและคิวบา ตลอดจนกลุ่มฮิสแปนิกที่พูดภาษาสเปน

 

ที่ผ่านมา ฟลอริดาถือเป็นรัฐที่ผู้สมัครของทั้งสองพรรคได้คะแนนเสียงใกล้เคียง ห่างกันเพียง 1-2% และในตอนนี้ก็ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าทรัมป์หรือไบเดนจะเอาชนะในรัฐนี้ไปได้ แต่คาดว่าผลที่ออกมาจะค่อนข้างสูสี

 

ผลจะออกมาเป็นอย่างไร จะพลิกโผหรือไม่ แล้วใครจะกวาดชัยชนะใน 9 รัฐนี้ได้มากที่สุด อีกไม่นานเราจะได้รู้คำตอบ

 

ภาพ: ShutterStock

 

พบกับเว็บไซต์พิเศษ US ELECTION 2020 เกาะติดศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ ทั้งสถานการณ์ล่าสุดและบทความเจาะลึก ได้ที่นี่ https://thestandard.co/us-election-2020/

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X