×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ปัญหาโลกร้อนที่กำลังร้อนแรงในศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ

05.10.2020
  • LOADING...
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ปัญหาโลกร้อนที่กำลังร้อนแรงในศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“ถ้าคุณให้โอกาสมือวางเพลิงก่อโลกร้อนนั่งในทำเนียบขาวอีก 4 ปี คงไม่ต้องแปลกใจที่สหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นทะเลเพลิง… หากคุณให้โอกาสจอมปฏิเสธโลกร้อนอีก 4 ปีในทำเนียบขาว คงไม่ต้องแปลกใจหากสหรัฐอเมริกาจะจมใต้บาดาล”

 

โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ปราศรัยต่อผู้สนับสนุนในรัฐเดลาแวร์ แม้เขาจะไม่ได้เฉลยว่าใครคือ ‘มือวางเพลิงก่อโลกร้อน’ และ ‘จอมปฏิเสธโลกร้อน’ แต่ประชาชนทราบดีว่าไบเดนกำลังกล่าวถึงคู่แข่งของเขา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

ในช่วงการเลือกตั้งขั้นต้น ซึ่งเป็นการแข่งขันภายในพรรค เพื่อช่วงชิงสิทธิผู้แทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือที่เราเรียกกันว่า ‘โลกร้อน’ ไม่ได้เป็นที่สนใจมากนัก 

 

ยกตัวอย่างผู้ว่าการรัฐวอชิงตัน เจย์ อินส์ลี และมหาเศรษฐีพันล้าน ทอม สเตเยอร์ ที่ชูนโยบายการแก้ปัญหาโลกร้อนระหว่างชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครต แต่พวกเขาเป็นผู้สมัครคนแรกๆ ที่ถอนตัวออกจากการแข่งขัน

 

แต่เมื่อใกล้เข้าช่วงโค้งสุดท้าย ปัญหาโลกร้อนกลายเป็นประเด็นที่สังคมอเมริกันให้ความสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังการประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีหรือดีเบตครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา 

 

“ผมต้องการน้ำที่ใสสะอาด ผมต้องการอากาศที่สะอาดอย่างสวยงาม ตอนนี้เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุดแล้ว หากคุณไปดูตัวเลข จะเห็นว่าสหรัฐอเมริกากำลังแก้ปัญหานี้ได้อย่างเยี่ยมยอด” ทรัมป์กล่าวอย่างมั่นใจตามสไตล์การพูดที่เต็มไปด้วยคำคุณศัพท์ด้านบวก

 

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ปัญหาโลกร้อนที่กำลังร้อนแรงในศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ

หลายคนมองว่าการดีเบตเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน เป็นการดีเบตที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ

 

ไบเดนไม่เห็นด้วย “เรากำลังเจอปัญหาหนัก ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในแถบมิดเวสต์สิ พายุถล่มหลายพื้นที่ในรัฐไอโอวาจนราบเป็นหน้ากลอง ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่เป็นผลของโลกร้อน และเราอยู่เบื้องหลังปัญหานี้ คิดเป็น 15% ของทั้งโลก”

 

ไม่เพียงแต่วาทกรรมระหว่างดีเบต แต่ในเชิงนโยบายนั้นทรัมป์และไบเดนมีจุดยืนที่ต่างกันชัดเจน THE STANDARD จะพาไปดูถึงนโยบายของสองผู้สมัคร และเบื้องลึกของ ‘การเมืองว่าด้วยโลกร้อน’ เพื่อให้รู้ว่าผู้สมัครคนใดจะเป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน ที่ไม่เพียงกระทบต่อคนอเมริกัน แต่รวมถึงคนทั่วโลก

 

‘โลกร้อน = เรื่องลวงโลก’ …หรือใครลวงใคร

ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธบ่อยครั้งว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นเพียง ‘เรื่องลวงโลก’ (Hoax) ที่รัฐบาลจีนกุขึ้น แต่ในช่วงการหาเสียง เขาพยายามลดวาทกรรมลักษณะนี้ลง จนกระทั่งเกิดวิกฤตไฟป่าเผาผลาญหลายพื้นที่ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

“อุณหภูมิจะเริ่มเย็นลง” ทรัมป์ชี้ ระหว่างการลงพื้นที่ประสบภัย และนี่เป็นอีกครั้งที่เขาไม่ยอมรับถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโลกร้อน 

 

“ผมไม่คิดว่าวิทยาศาสตร์เองจะทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้”

 

ตลอดช่วง 4 ปีของการบริหารงาน รัฐบาลทรัมป์มุ่งเน้นสนับสนุนภาคการผลิตและอุตสาหกรรมพลังงานเป็นหลัก ส่วนการแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นไม่เพียง ‘เพิกเฉย’ แต่ยัง ‘ขัดขวาง’ เพราะได้เพิกถอนข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 70 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งผ่อนคลายข้อบังคับเรื่องเชื้อเพลิงและก๊าซมีเทน การลดมาตรฐานเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์โดยสาร และยกเลิกกฎข้อบังคับว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานผลิตไฟฟ้าที่เริ่มบังคับใช้ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา 

 

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ปัญหาโลกร้อนที่กำลังร้อนแรงในศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“อุณหภูมิจะเริ่มเย็นลง” โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าว

 

ในเดือนที่ 6 ของการดำรงตำแหน่ง เขายังทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ช่วงหาเสียง ด้วยการนำอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส หรือข้อตกลงว่าด้วยโลกร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่มีเป้าหมายยับยั้งอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส รวมถึงพยายามจำกัดเพดานอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 

 

“ข้อตกลงปารีสขัดขวางเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสรรเสริญเยินยอจากทุนต่างชาติและนักเคลื่อนไหว ที่ล้วนแต่พยายามกอบโกยผลประโยชน์จากความยากลำบากของประเทศเรา” ทรัมป์พูดในสมัยหาเสียงปี 2016

 

โจ ไบเดน กับจุดยืนสิ่งแวดล้อมที่คลุมเครือ

ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต วัย 77 ปี เคยชื่นชม ‘กรอบนโยบาย’ ของ Green New Deal หรือ ‘ข้อตกลงสิ่งแวดล้อมใหม่’ ซึ่งไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเดโมแครตอย่าง อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส จากนิวยอร์ก และวุฒิสมาชิก เอ็ด มาร์คีย์ จากรัฐแมสซาชูเซตส์ 

 

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ปัญหาโลกร้อนที่กำลังร้อนแรงในศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส (ขวา) หนึ่งในผู้นำเสนอ Green New Deal

 

แต่ในการดีเบตเมื่อปลายเดือนกันยายน ไบเดนประกาศชัดเจนว่า “ไม่ ผมไม่สนับสนุน Green New Deal”

 

“โอ้ คุณไม่สนับสนุนหรือ นี่เป็นเรื่องใหญ่เลยนะ” ทรัมป์พูดแทรก ขณะที่ไบเดนพูดต่อว่า “ผมสนับสนุนแผนไบเดนที่ผมผลักดัน ซึ่งต่างจากสิ่งที่ (ทรัมป์) เรียกว่า Green New Deal แบบสุดโต่ง”

 

ทีมตรวจสอบข้อเท็จจริง Facts First ของสถานีข่าว CNN รายงานว่า เป็นความจริงที่บนหน้าเว็บไซต์หาเสียงของไบเดนได้อธิบายถึงแผนต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนแบบฉบับของตนเอง อาทิ การสร้างสาธารณูปโภคด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 

 

แม้ ‘แผนไบเดน’ จะคาบเกี่ยวในเชิงหลักการกับ ‘Green New Deal’ รวมถึงเป้าหมายสร้างภาคพลังงานแบบปลอดมลพิษภายในปี 2035 แต่นโยบายสิ่งแวดล้อมของไบเดนไม่ได้ครอบคลุมถึงข้อเสนอด้านสวัสดิการสังคม แต่ใน Green New Deal นั้นระบุถึงการการันตีงานสำหรับชาวอเมริกันที่มีครอบครัว การลางานด้วยเหตุผลทางการแพทย์ และสิทธิ์ลาพักร้อนแบบได้ค่าจ้าง

 

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ปัญหาโลกร้อนที่กำลังร้อนแรงในศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

และนี่คือใจความสำคัญของ ‘แผนไบเดน’ หรือ Biden Plan ว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อน

 

  • ให้คำมั่นว่าสหรัฐอเมริกาจะบรรลุการสร้างเศรษฐกิจจากพลังงานสะอาด 100% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในไม่เกินปี 2050
  • สร้างประเทศที่แข็งแกร่งและทนทานมากขึ้น ด้วยการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ทั้งอาคาร น้ำ การขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ที่ต้านทานผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้
  • สามัคคีกับทั่วโลกเพื่อรับมือวิกฤตโลกร้อน โดยไบเดนจะนำสหรัฐอเมริกากลับเข้าข้อตกลงปารีส รวมถึงเจรจากับประเทศมหาอำนาจให้ร่วมกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังจากภายใน
  • ต่อสู้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้ปล่อยมลพิษที่คุกคามชุมชนคนผิวสีและผู้มีรายได้น้อย ไม่ว่าจะทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ หรือการปิดบังข้อมูลถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 
  • ทำตามพันธะที่ให้ไว้กับแรงงานและชุมชนที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติด้านพลังงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา “เราจะไม่ทิ้งคนงานและชุมชนเหล่านี้ไว้ข้างหลัง”

 

“ไบเดนตีตัวออกห่างจากการยอมรับ (Green New Deal) ไม่ได้หรอก ไม่ว่าเขาจะพยายามสักแค่ไหน” ทรัมป์แสดงความเห็นในอีเมลที่ส่งให้ผู้สนับสนุนและสื่อมวลชนหลังการดีเบต

 

ต้องยอมรับว่าครั้งนี้ ‘ทรัมป์พูดถูก’ เพราะแม้ไบเดนจะไม่เคยประกาศรับรอง Green New Deal อย่างเต็มตัว แต่เขาเห็นด้วยกับเป้าหมายและหลักการ เพียงแต่ ‘วิธีการ’ เท่านั้นที่แตกต่างกัน 

 

ไบเดนโต้กลับความเห็นของทรัมป์ว่า “Green New Deal ที่ประธานาธิบดีพยายามพูดถึงนั้น มันเป็นข้อตกลงที่ใช้ได้ แต่ไม่ใช่แผนที่ผมวางไว้ แผนของผมคือแผนสิ่งแวดล้อมไบเดน” 

 

โอกาซิโอ-กอร์เตส ส.ส. เดโมแครต และหนึ่งในผู้ผลักดัน Green New Deal ทวีตยอมรับว่า การที่ไบเดนไม่สนับสนุนข้อตกลงนี้ “ไม่ใช่เรื่องใหม่” และ “ความเห็นต่างนี้เองที่ทำให้ฉันเข้าร่วมใน Climate Unity Task Force (คณะทำงานด้านโลกร้อน) ของไบเดน เพื่อที่เราจะหันหน้าเข้าหากันและเสนอแผนแก้ปัญหาโลกร้อน เพื่อแก้วิกฤตการณ์ของโลก”

 

ทรัมป์ นักสิ่งแวดล้อมผู้ยิ่งใหญ่?

ทรัมป์อ้างว่า เขาเป็น ‘นักสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่’ จากความสำเร็จด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่ามากมาย รวมถึงการสั่งห้ามการขุดเจาะก๊าซ-น้ำมันนอกชายฝั่ง 

 

ทรัมป์อาจเชื่อว่าตนเองเป็นเช่นนั้น แต่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากไม่เห็นด้วย เริ่มจากวาทกรรมว่า “โลกกำลังเย็นลง” ด็อกเตอร์คริส ไบร์ลีย์ (Chris Brierley) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยลอนดอน ยืนกรานว่าโลกจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ

 

“อาจมีบางปีที่โลกจะเย็นผิดปกติและบางปีร้อนมาก แต่โลกร้อนขึ้นอย่างแน่นอน”

 

นอกจากนั้นรัฐบาลทรัมป์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พยายามยกเลิกกฎข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมถึง 100 ฉบับ บางข้อมีอายุย้อนไปหลายสิบปี และทรัมป์ทำสำเร็จแล้ว ด้วยการเพิกถอนกฎหมายไป 70 ฉบับ 

 

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ปัญหาโลกร้อนที่กำลังร้อนแรงในศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ

รัฐบาลทรัมป์เพิกถอนข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว 68 ฉบับ และกำลังดำเนินการอีก 32 ฉบับ 

 

“เราประสบความสำเร็จกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากล่าวเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งย้อนแย้งกับความเป็นจริง เพราะทรัมป์ได้ผ่อนปรนข้อบังคับการขุดเจาะในน่านน้ำที่รัฐเป็นเจ้าของ รวมถึงเปิดให้บริษัทน้ำมันและก๊าซเข้าไปตั้งโรงงานขุดเจาะในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติ 

 

“ความพยายามขายน่านน้ำของเราให้ผู้ปล่อยมลพิษภาคเอกชน และยกเลิกข้อบังคับคุ้มครองสิ่งแวดล้อมกว่า 100 ฉบับ ต้องเรียกว่าทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่แย่ที่สุดด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” เอเรียล เฮเยส ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Sierra Club แสดงความเห็นต่อคำกล่าวอ้างของทรัมป์

 

ไบเดนเองกัดทรัมป์ไม่ปล่อยในเรื่องนี้ “เมื่อไม่กี่เดือนก่อน โดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนให้มีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา” แต่มาวันนี้ “เขากลับเปลี่ยนใจเมื่อใกล้เลือกตั้ง เหลือเชื่อจริงๆ”

 

และนี่คือผลงานและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของทรัมป์ที่เขารณรงค์ในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

  • ปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรา: เสริมสร้างเศรษฐกิจ ควบคู่กับการมอบอากาศและน้ำที่สะอาดที่สุดให้ชาวอเมริกัน และแม้สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก แต่เราได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาคุณภาพอากาศได้ดีขึ้น
  • อนุรักษ์ผืนดินอเมริกา: ทรัมป์ได้ลงนามในรัฐบัญญัติ Great American Outdoors ว่าด้วยการลงทุนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์กับอุทยานแห่งชาติและผืนดินสาธารณะ เพื่อให้ชาวอเมริกันได้ใช้ประโยชน์จากผืนดินอันทรงคุณค่าไปอีกหลายชั่วอายุคน
  • ทำความสะอาดและพิทักษ์ชุมชน: สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ ได้ขับเคลื่อนการทำความสะอาดชุมชนมากที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ และนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่ EPA ได้เสริมมาตรฐานเพื่อคุ้มครองเด็กกลุ่มเสี่ยงจากสารตะกั่วในน้ำดื่ม

 

แม้ประเด็นสิ่งแวดล้อมจะถูกมองว่าเป็นปัจจัยลงคะแนนรองจากเรื่องประกันสุขภาพ และเศรษฐกิจสำหรับคนอเมริกันส่วนใหญ่ แต่หากคะแนนนิยมของสองผู้สมัครเชือดเฉือนกันจนไม่อาจฟันธงได้ว่าใครจะคว้าชัยชนะ นโยบายสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อาจเป็นตัวพลิกเกมได้เลยทีเดียว เพราะทุกคะแนนเสียงล้วนมีค่า 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising