×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ถอดประวัติ โดนัลด์ ทรัมป์ จากเจ้าของอาณาจักรธุรกิจ สู่ชีวิตในทำเนียบขาวและศึกเลือกตั้งสมัยที่ 2

12.10.2020
  • LOADING...
โดนัลด์ ทรัมป์

สหรัฐอเมริกา หนึ่งในประเทศที่มีบทบาททางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจอย่างสูงในระดับโลก กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 59 ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งหนึ่งในผู้สมัครคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่แม้หลายคนจะรู้จักเขาเป็นอย่างดีจากแวดวงการเมืองและธุรกิจ แต่เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้จักเขาในบางแง่มุม 

 

THE STANDARD นำเรื่องราวน่าสนใจที่หลายคนอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับทรัมป์มาบอกเล่า เขาคือชายผู้เปลี่ยนจากความเป็นนักธุรกิจ มหาเศรษฐี เซเลบริตี้ มาสู่การเป็นผู้นำประเทศที่ชิงพื้นที่ข่าวในสื่อได้ตลอดเวลา และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับต่างประเทศมากมายตลอด 4 ปีแห่งการดำรงตำแหน่ง

 

โดนัลด์ ทรัมป์

 

นี่คือชายผู้มีชื่อว่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

ทรัมป์เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นปู่และย่าของเขา ซึ่งทั้งสองมีรกรากเดิมอยู่ที่เยอรมนี ก่อนจะย้ายมาอยู่ในสหรัฐฯ

 

พ่อของทรัมป์มีชื่อว่า เฟร็ด เขาเติบโตขึ้นมาในช่วงวัยรุ่นด้วยการหารายได้ในหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันด้วยความสนใจด้านการก่อสร้าง เขาจึงศึกษาในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น งานช่างไม้ หรือการอ่านแบบแปลน ก่อนจะก้าวเข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา 

 

ปี 1936 เฟร็ดแต่งงานกับ แมรี แอนน์ แมคลีออด แม่ของทรัมป์ผู้เกิดในสกอตแลนด์และเป็นผู้อพยพมายังสหรัฐฯ จากความยากลำบากทางเศรษฐกิจในบ้านเกิด ทั้งสองให้กำเนิดบุตรคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คน นามว่า ‘โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์’ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ในอีกราว 10 ปีต่อมา

 

วัยเด็กของทรัมป์ถูกบันทึกไว้ว่าเขามีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร กระทั่งพ่อของเขาตัดสินใจส่งเขาไปเรียนที่โรงเรียนทหาร New York Military Academy ซึ่งเขาทำผลการเรียนได้ดี จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮมเป็นเวลา 2 ปี และย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนบริหารธุรกิจวอร์ตันของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ซึ่งมีหลักสูตรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ กระทั่งจบการศึกษาในปี 1968 เขาจึงมาร่วมทำงานกับธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มตัว อีก 4 ปีต่อมาทรัมป์กลายเป็นประธานของธุรกิจครอบครัว ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็น The Trump Organization อย่างเป็นทางการ

 

สร้างอาณาจักรธุรกิจ
ท่ามกลางปัญหาทางการเงินของนครนิวยอร์ก ความสำเร็จของทรัมป์ในระยะแรกคือการปรับปรุงโรงแรมคอมโมดอร์ให้กลายเป็นโรงแรมหรูชื่อ แกรนด์ ไฮแอต ซึ่งนอกจากจะช่วยฟื้นฟูความซบเซาของพื้นที่ดังกล่าวแล้วยังทำกำไรให้กับทรัมป์อย่างงดงามด้วย ต่อมาเขามีอีกหนึ่งโปรเจกต์สำคัญที่หลายคนรู้จักกันดีก็คือทรัมป์ทาวเวอร์ ความสูง 664 เมตร ที่เป็นตึกแบบมิกซ์ยูสที่ใช้ในหลายวัตถุประสงค์ ทั้งการเป็นที่พักอาศัย สำนักงาน และร้านค้า อาคารนี้เปิดใช้งานในปี 1983 และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม รายได้จากโครงการดังกล่าวถูกนำมาจ่ายคืนเงินกู้ที่ใช้พัฒนาโครงการได้อย่างรวดเร็ว และมีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนซื้อห้องพักในอาคารนี้ด้วย

 

ทรัมป์ยังรุกคืบเข้าสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจคาสิโน โดยคาสิโนแห่งแรกของเขาคือทรัมป์พลาซ่า ที่เขาร่วมมือกับเครือโรงแรมยักษ์ใหญ่ตั้งขึ้นมาในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ทรัมป์ยังมีคาสิโนอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมและคาสิโนของทรัมป์ต้องยื่นล้มละลายถึง 6 กิจการในช่วงปี 1991-2004 แต่ทรัมป์ก็ใช้การล้มละลายเหล่านั้นในการปรับโครงสร้างหนี้และปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ แม้บางกิจการจะเคยล้มละลาย แต่ในส่วนบุคคลนั้นทรัมป์ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย เขายังเคยซื้อกิจการสายการบินอีสเทิร์นแอร์ไลน์ส มาดำเนินการในชื่อทรัมป์ชัตเทิล ซึ่งต่อมาก็ประสบภาวะขาดทุนจนต้องขายกิจการเช่นกัน

 

ไม่เพียงเท่านั้น ชีวิตของทรัมป์ยังเข้าไปมีส่วนในวงการกีฬา เช่น เขาเคยซื้อสโมสรอเมริกันฟุตบอล นิวเจอร์ซีย์ เจเนอรัลส์ ในลีก USFL ของสหรัฐฯ และพยายามดันให้ลีกดังกล่าวแข่งในช่วงเดียวกับลีก NFL เพื่อหวังว่าจะเกิดการรวมลีกกับ NFL จนสุดท้ายกลายเป็นคดีความโด่งดัง นอกจากนี้ยังเคยจัดชกมวยระหว่าง ไมค์ ไทสัน และไมเคิล สปิงค์ส ที่คาสิโนทรัมป์พลาซ่า ซึ่งเป็นกิจการของทรัมป์ด้วย

 

ทรัมป์ยังรุกคืบเข้าไปยังธุรกิจประกวดความงาม โดยการเข้าไปสนับสนุนการจัดประกวดสาวงามในเวที American Dream Calendar Girl Model Search ช่วงปี 1992-1993 ก่อนที่ความร่วมมือดังกล่าวจะยุติลง จากนั้นทรัมป์ยังกลายมาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การประกวดนางงามจักรวาล, Miss USA และ Miss Teen USA ตั้งแต่ปี 1996-2015 

 

แม้การเข้ามาในวงการประกวดความงามของทรัมป์จะนำมาซึ่งข่าวในแง่ลบ เช่น ข้อกล่าวหาว่าเขาล่วงละเมิดทางเพศต่อหญิงผู้เข้าประกวดและหญิงที่เป็นหนึ่งในเจ้าของการประกวดที่ทรัมป์เข้าไปสนับสนุนเมื่อปี 1992 หรือกรณีที่ทรัมป์ไปกล่าววิจารณ์นางงามจักรวาล ปี 1996 จากการที่เธอมีน้ำหนักพุ่งขึ้นหลังได้รับตำแหน่ง ซึ่งกลายเป็นข่าวบนพื้นที่สื่อก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 แต่ก็มีข่าวอีกด้านหนึ่งจากนางงามที่เคยได้รับตำแหน่งมิสวิสคอนซินว่าทรัมป์เองเป็นผู้ที่ให้กำลังใจเธอจนผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายจากอาการเจ็บป่วยมาได้

 

ในวงการสื่อนั้นทรัมป์ออกหนังสือของตัวเองหลายเล่ม โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1987 ที่เขาออกหนังสือเล่มแรกร่วมกับ โทนี ชวาร์ตส์ ในชื่อ Trump: The Art of the Deal เกี่ยวกับชีวิต วิธีคิด และการดำเนินธุรกิจของเขา ทรัมป์ยังร่วมผลิตรายการ The Apprentice ซึ่งเป็นเรียลิตี้เพื่อวัดความสามารถทางธุรกิจของผู้เข้าร่วมแข่งขัน และมีรางวัลเป็นตำแหน่งงานบริหารสำหรับบริษัทในเครือของทรัมป์ รายการออกอากาศครั้งแรกในปี 2004 และประสบความสำเร็จจนมีการผลิตรายการนี้ถึง 14 ซีซัน 

 

ธุรกิจของทรัมป์ยังไปไกลถึงแวดวงอื่นๆ เช่น ธุรกิจการศึกษา หรือการขายสินค้าโดยใช้แบรนด์ทรัมป์ เป็นต้น

 

โดนัลด์ ทรัมป์

 

ชีวิตรักกับการแต่งงาน 3 ครั้ง

สำหรับชีวิตครอบครัว ปี 1977 ทรัมป์แต่งงานครั้งแรกกับ อิวานา เซลนิชโควา นางแบบและอดีตนักสกีชาวเชโกสโลวาเกีย พวกเขามีลูกด้วยกัน 3 คน ได้แก่ โดนัลด์ จูเนียร์, อีวานกา และเอริก ก่อนจะหย่าขาดจากกันในปี 1992 หลังทรัมป์ตกเป็นข่าวว่ามีความสัมพันธ์กับ มาร์ลา เมเปิลส์ หญิงสาวที่ต่อมากลายเป็นภรรยาคนที่สอง ซึ่งทรัมป์แต่งงานด้วยในปี 1993 ทรัมป์กับมาร์ลามีลูกสาวด้วยกัน 1 คนชื่อ ทิฟฟานี และชีวิตสมรสของทั้งคู่ก็ยืนยาวต่อมาอีก 6 ปี ก่อนที่ทั้งคู่จะหย่าขาดจากกันในปี 1999 ทรัมป์แต่งงานอีกครั้งในปี 2005 กับ เมลาเนีย คเนาซ์ และมีลูกชายด้วยกันอีก 1 คนซึ่งเกิดในปี 2006 ชื่อว่า บาร์รอน ซึ่งชีวิตสมรสของทั้งทรัมป์และเมลาเนียยังคงยืนยงจนถึงทุกวันนี้ และเมลาเนียก็คือสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนปัจจุบัน

 

ถนนการเมืองสู่ทำเนียบขาว

ส่วนเส้นทางบนถนนการเมืองของทรัมป์นั้นเริ่มต้นมานานแล้ว ในปี 1988 เขาปรากฏตัวในการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันเป็นครั้งแรก ซึ่งที่ประชุมในครั้งนั้นเลือก จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช หรือบุชผู้พ่อ เป็นตัวแทนพรรคลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เขาระบุกับนักข่าวโทรทัศน์ในเวลานั้นว่าเขามาเพื่อมาดูว่ากระบวนการเป็นอย่างไรเท่านั้น

 

ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในการสนทนาทางการเมือง ปลายปี 1999 ทรัมป์ยอมรับผ่านรายการโทรทัศน์ว่าได้ย้ายสังกัดจากพรรครีพับลิกันไปยังพรรคปฏิรูป (Reform Party) พร้อมกับตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เขาจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ทว่าในที่สุดเขาก็ยุติเส้นทางการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีถัดมา โดยระบุว่าไม่คิดว่าตนเองจะชนะการเลือกตั้งในนามพรรคปฏิรูปได้เพราะความแตกแยกภายในพรรค แต่ในปี 2001 ทรัมป์หันมาอยู่ฝั่งเดโมแครต และให้การสนับสนุนคนของพรรคเดโมแครตลงชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของนครนิวยอร์ก แต่ผู้สมัครจากเดโมแครตก็ไม่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งครั้งนั้น และในปี 2009 ก็มีหลักฐานปรากฏว่าเขากลับไปสังกัดพรรครีพับลิกันอีกครั้ง

 

ระหว่างนั้นเอง ความสำเร็จจากการทำรายการทีวี The Apprentice ก็ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของทรัมป์ต่อสาธารณะ ทั้งในแง่ความเป็นมนุษย์ที่เข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น การเป็นผู้ให้ความบันเทิงหรือการเป็นผู้บริหาร ทว่าในปี 2012 เขาก็ยังตัดสินใจไม่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยให้การสนับสนุน มิตต์ รอมนีย์ ในฐานะตัวแทนพรรครีพับลิกันแทน 

 

1 ปีต่อมา มีข่าวว่าเขาทุ่มเงินกว่า 1 ล้านดอลลาร์ในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ พร้อมกับบอกปัดการลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก และในที่สุดวันที่ 16 มิถุนายน 2015 ทรัมป์ก็ประกาศว่าจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ

 

ในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ทรัมป์ขับเคี่ยวกับ ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเดินหน้าการหาเสียงด้วยนโยบายต่างๆ เช่น การสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก การเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย การยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพที่รู้จักกันในชื่อ ‘โอบามาแคร์’ และเปลี่ยนไปใช้วิธีที่เรียกว่าบัญชีออมทรัพย์เพื่อสุขภาพ การปฏิรูปภาษี ลดภาษีรายได้ จำกัดภาษีทางธุรกิจ ถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ทบทวนข้อตกลงการค้า NAFTA ต่อต้านกฎหมายควบคุมอาวุธปืน การเลิกให้เงินสนับสนุนโครงการของสหประชาชาติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ในที่สุดทรัมป์เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ด้วยเสียงโหวตจากผู้เลือกตั้งในคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ไปด้วยคะแนน 304 เสียง ขณะที่ ฮิลลารี คลินตัน ได้เพียง 227 เสียง แม้ว่าเสียงโหวตจากการลงคะแนนของประชาชนโดยตรง (Popular Vote) จะพบว่าทรัมป์มีคะแนนน้อยกว่าคลินตันอยู่ราว 2.8 ล้านเสียงก็ตาม 

 

แต่นั่นก็ยังตามมาด้วยเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ารัสเซียมีส่วนแทรกแซงการเลือกตั้งเพื่อให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งแม้ว่าในที่สุดรายงานผลการสอบสวนกรณีดังกล่าว ซึ่งรวบรวมโดยที่ปรึกษาพิเศษ โรเบิร์ต มุลเลอร์ ในปี 2019 จะระบุว่าไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการสมคบคิดกันระหว่างทรัมป์กับรัสเซียในช่วงการเลือกตั้งปี 2016 และไม่มีข้อสรุปทางกฎหมายที่มีน้ำหนักเพียงพอว่าทรัมป์พยายามขัดขวางกระบวนการสอบสวน แต่รายงานดังกล่าวก็ระบุว่าแม้จะไม่สามารถตัดสินได้ว่าทรัมป์กระทำความผิด แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาพ้นจากข้อกล่าวหา

 

 

4 ปีที่โลกสะเทือน

เมื่อย้อนกลับไปดูตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่เขาหาเสียงเอาไว้ ตัวอย่างเช่น กฎหมายปฏิรูปภาษีที่ถูกผลักดันจนได้บังคับใช้ การจำกัดการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ของพลเมืองบางชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นชาติที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของนโยบายโอบามาแคร์ที่สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายมายกเลิกบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ซื้อประกันไปแล้ว รวมถึงยังรอศาลสูงสุดพิจารณาว่าจะยกเลิกกฎหมายโอบามาแคร์อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ตลอดจนการเจรจาข้อตกลงการค้า NAFTA ใหม่ การถอนตัวจากข้อตกลง TPP การเริ่มถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโกที่ทรัมป์พยายามอ้างผลงานโดยนับรวมกำแพงที่รื้อของเดิมแล้วสร้างใหม่ แต่เงินทั้งหมดที่ใช้สร้างก็ไม่ใช่เงินของเม็กซิโกอยู่ดี หรือการรับมือกับโควิด-19 ที่ไม่ค่อยน่าพึงพอใจ การรับมือกับเหตุประท้วงต้านการเหยียดผิวกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ที่ทรัมป์ถูกโจมตีอย่างหนัก และการประกาศงดให้เงินสนับสนุนแก่องค์การอนามัยโลกโดยอ้างความล้มเหลวในการทำหน้าที่ช่วงโควิด-19 ระบาด

 

ด้านความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในยุคของทรัมป์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการพบกับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือของทรัมป์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง และได้เหยียบย่างเข้าไปในดินแดนของเกาหลีเหนือ การได้พบกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับจีนจากสงครามการค้า การตั้งกำแพงภาษี การรับมือกับโควิด-19 และกรณีทะเลจีนใต้ คำสั่งของทรัมป์ที่สั่งสังหาร พลตรี กัสเซม โซเลมานี นายพลคนสำคัญของอิหร่าน ที่ตามมาด้วยการตอบโต้ของอิหร่านด้วยการยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก รวมถึงความตึงเครียดอันเกิดจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไป และบทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามซีเรีย ตลอดจนปฏิบัติการไล่ล่า อาบู บักร์ อัล-บักดาดี ผู้นำกลุ่มไอเอส จนบักดาดีตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง

 

 

สู้ศึกเลือกตั้งเทอมสองท่ามกลางกระแสข่าวลบถาโถม

ทรัมป์ประกาศลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ในวันที่ 19 มิถุนายน 2019 และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคในการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันเมื่อปลายเดือนสิงหาคม เขายังคงประกาศนโยบายในแนวสานต่อสิ่งที่ทำไว้ ทั้งการยุติการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การปกป้องงานให้กับคนอเมริกัน สร้างตำแหน่งงานและธุรกิจใหม่ ลดภาษี พัฒนาสาธารณสุข เช่น การลดราคายา เบี้ยประกันสุขภาพ ปกป้องระบบประกันสังคมและโปรแกรมประกันสุขภาพ Medicare รวมถึงนโยบายการต่างประเทศแบบ America First ก็ยังคงอยู่ เช่น การยุติสงครามอันไม่สิ้นสุด และดึงทหารสหรัฐฯ กลับประเทศ แต่ยังคงเป้าหมายกวาดล้างผู้ก่อการร้ายผู้เป็นภัยต่อสหรัฐฯ เน้นความเสมอภาคในการออกค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมกับพันธมิตร และยังคงนโยบายแข็งกร้าวกับจีน เช่น การดึงงานด้านการผลิตกลับมาในสหรัฐฯ หรือการให้จีนรับผิดชอบต่อการแพร่กระจายของโควิด-19 โดยมี ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเขาลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

 

ทรัมป์ต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ท่ามกลางผลโพลที่ชี้ว่าเขามีคะแนนตามหลัง โจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครตมาอย่างต่อเนื่อง และท่ามกลางหลายกระแสข่าวที่ถาโถม ทั้งการถูกยื่นถอดถอนเมื่อปลายปี 2019 จนถึงต้นปี 2020 จากการถูกกล่าวหาว่าเขากดดันให้ยูเครนสอบสวนคู่แข่งทางการเมือง หรือจะเป็นหนังสือ 2 เล่มที่ถูกปล่อยออกมาแฉทรัมป์จากหลานสาวของทรัมป์เอง และอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติที่เคยทำงานร่วมกับทรัมป์มาก่อน และกรณีที่ The New York Times ออกมารายงานว่าทรัมป์เสียภาษีเงินได้เพียง 750 ดอลลาร์ในปี 2016-2017 และไม่เสียภาษีเลยในช่วง 10 จาก 15 ปีหลัง มาจนถึงท่าทีที่เขาแสดงออกหลังจากเพิ่งติดโควิด-19 เสียเอง

 

จากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สู่ประธานาธิบดี นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตชายที่ชื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ผู้ผ่านโลกมากว่า 74 ปี มีมากมายหลายบทบาทจนแทบนับไม่ไหว และกำลังขอโอกาสจากชาวอเมริกันให้ได้กลับไปทำงานในฐานะ ‘ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา’ อีกครั้ง

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X