×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: บทวิเคราะห์ชี้ ศึกดีเบต ทรัมป์-ไบเดน ผู้ชนะแท้จริงคือจีน และขั้วตรงข้ามประชาธิปไตย

โดย THE STANDARD TEAM
30.09.2020
  • LOADING...
เลือกตั้งสหรัฐฯ-2020 ดีเบต

การดีเบตระหว่างสองผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คือ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายสื่อ ว่าเป็นการดีเบตที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย การพูดแทรกและสาดอารมรณ์ใส่กันไปมาอย่างน่าเกลียด 

 

แต่หนึ่งในประเด็นที่ทั้งสองเห็นพ้องต้องกันนั้นคือเรื่องจีน ซึ่งทั้งทรัมป์และไบเดน ต่างโจมตีอีกฝ่ายว่ามีท่าทีและนโยบายต่อจีนที่ ‘อ่อน’ เกินไป โดยทรัมป์กล่าวหาไบเดนว่าถูกจีน ‘แหกตา’ ระหว่างที่รับหน้าที่รองประธานาธิบดีในยุครัฐบาล บารัก โอบามา ส่วนไบเดนสวนกลับทรัมป์ว่าเคยชมประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนว่าทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเริ่มต้น

 

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ในเว็บไซต์ CNN ระบุว่า ถึงแม้จีนจะไม่ต้องการตกเป็นประเด็นใดๆ ในการดีเบตระหว่างสองผู้สมัครและการดีเบตนี้ เพราะอาจเป็นตัวจุดกระแสต่อต้านจีนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดีเบตครั้งนี้ จะเพิ่มจิตวิญญาณความรักชาติในจีนมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น รัฐบาลปักกิ่งวิพากษ์วิจารณ์ระบอบประชาธิปไตยในสไตล์ของสหรัฐฯ ว่าเป็นการนำเอาข้อบกพร่องในระบบของตนเองมาพิสูจน์ความเป็นเผด็จการของจีน ใครก็ตามที่มีความก้าวหน้าในการปฏิรูปหรือการเปิดเสรีในจีน จะถูกบังคับให้ต้องตอบคำถามสำหรับทุกความล้มเหลวที่เกิดในสหรัฐฯ 

 

ซึ่งท่าทีของทรัมป์ในการดีเบตครั้งนี้ยิ่งสนับสนุนมุมมองดังกล่าวว่าเป็นจริง และยิ่งกัดกร่อนความมั่นใจของทั่วโลกที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

 

ในระหว่างการดีเบตที่ทั้งสองฝ่ายต่างสาดสีใส่กัน ทรัมป์ยังคงวิจารณ์ระบบการลงคะแนนเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ ที่อาจเป็นช่องทางการโกงและเรียกร้องให้กลุ่มผู้สนับสนุนเขาไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง และจับตามองความไม่โปร่งใสที่อาจเกิดขึ้น

 

“นี่กำลังจะเป็นการโกงที่คุณไม่เคยเจอมาก่อน นี่คือสิ่งที่แย่มากสำหรับประเทศของเรา มันจะไม่จบด้วยดี” ทรัมป์ กล่าว 

 

ท่าทีของทรัมป์ที่โจมตีการลงคะแนนทางไปรษณีย์ ยังสะท้อนว่าตัวเขาเองในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ต่อต้านระบบเลือกตั้งของสหรัฐฯ เช่นกัน โดยถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าระบบเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนี้ สามารถถูกทำลายและชักจูงได้ง่าย และอาจทำให้เกิดการต่อสู้ที่น่าเกลียดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการเลือกตั้งตามที่ต้องการ

 

ของขวัญสำหรับนักวิจารณ์ประชาธิปไตย

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้รุกคืบขยายโมเดลระบอบประชาธิปไตยไปทั่วโลก ผ่านการใช้อำนาจที่นุ่มนวล ไม่ว่าจะนำโดยพลเรือนหรือกองทัพ ซึ่งส่วนหนึ่งในเหตุผลการเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ นั้นมีพื้นฐานมาจากแนวคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ที่บ่งบอกว่าสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจที่แตกต่างจากอังกฤษหรือจักรวรรดิโซเวียต เนื่องจากมีผู้แทนและการเลือกตั้งที่โปร่งใสและยุติธรรม

 

จากประวัติที่ผ่านมา แสดงให้เห็นช่องว่างระหว่างค่านิยมกับบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ที่แสดงออกในโลกความจริง ซึ่งการคงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยในฐานะมหาอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดของโลก ทำให้เกิดความเชื่อถือต่อระบอบนี้ มากพอที่จะสร้างความผิดหวังให้ระบอบเผด็จการทั้งในจีนและประเทศอื่นๆ

 

ทั้งนี้ ทรัมป์ถือเป็นของขวัญสำหรับนักวิจารณ์ประชาธิปไตยอย่างจีนและชาติเผด็จการอื่นๆ เขาไม่เพียงชนะเลือกตั้งและได้เข้ารับตำแหน่งแม้จะพ่ายแพ้ป๊อปปูลาร์โหวต แต่ยังทำให้สหรัฐฯ โดดเดี่ยวและแยกตัวจากประชาคมโลกมากขึ้น ในขณะที่ตัวเขาเอง กลับยกย่องผู้นำมหาอำนาจขั้วตรงข้าม อย่างประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย

 

ในปี 2016 หลังการดีเบตระหว่างทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ณ ขณะนั้น ปรากฏว่าทางหนังสือพิมพ์ People’s Daily สื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พาดหัวข่าวถึงการดีเบตว่า ไม่ว่าใครจะชนะ แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น ก็เผยให้เห็นถึงระบอบประชาธิปไตยในมุมลบ

 

และสำหรับการดีเบตครั้งนี้ ซึ่งยากจะดูว่ามีอะไรก้าวหน้าไปบ้างในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่าสื่อทางการจีนอย่าง China Daily เรียกการปะทะคารมอย่างน่าเกลียดระหว่างทรัมป์และไบเดน ว่าเป็นการดีเบตที่เปิดเผยให้เห็นการไม่ชอบขี้หน้ากันระหว่างชายสองคน แบบไม่มีการเสแสร้งหรือรักษามารยาท


ไม่มีการอวดอ้างสรรพคุณ

แต่นอกเหนือจากความสับสนวุ่นวาย และพิธีกร คริส วอลเลซ ที่ไม่สามารถควบคุมการดีเบตให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ข้อมูลที่ผิดและทฤษฎีสมคบคิดของทรัมป์ เกี่ยวกับการฉ้อโกงในการลงคะแนนทางไปรษณีย์ที่อาจเกิดขึ้น ยังส่งผลให้เกิดช่องโหว่ในความถูกต้องของระบบ

ขณะที่ไบเดนนั้นทำได้เพียงเล็กน้อยในการดีเบต โดยทำได้แค่เรียกทรัมป์ว่าคนโกหก และขอให้ประชาชนออกไปลงคะแนน

ซึ่ง แฟรงก์ ลันตซ์ ผู้จัดทำผลสำรวจความนิยมของพรรครีพับลิกัน ชี้ว่าการดีเบตครั้งนี้ ยิ่งทำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ ตัดสินใจไม่ลงคะแนนเลย

 

อย่างไรก็ตาม หากชาวอเมริกันรู้สึกขวัญเสียจากการดีเบตสุดป่วนครั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ด้วยประเด็นการดีเบตนี้ ในประเทศจีน รัสเซีย และชาติเผด็จการอื่นๆ ก็จะยิ่งง่ายขึ้น

ซึ่งทาง หูซี่จิน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Global Times ของทางการจีน เขียนแสดงความเห็นต่อการดีเบตดังกล่าวว่า “เป็นความสับสนวุ่นวายที่จุดสูงสุดของการเมืองสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกและความวิตกกังวลในสังคมสหรัฐฯ และเป็นตัวเร่งการสูญเสียผลประโยชน์ในระบบการเมืองสหรัฐฯ”

ขณะที่ แลร์รี ซาบะโตะ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองอเมริกันจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย มองว่าการดีเบตของผู้ท้าชิงประธานาธิบดีทั้งสองคน ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นอีกสองครั้งหลังจากนี้ในเดือนตุลาคมนั้นควรยกเลิกไปเสีย เพราะคงไม่มีทางที่จะมีการดีเบตที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หากทรัมป์ยังอยู่บนเวที

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X