ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเปิดฉากในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ยังคงคาดเดาได้ยากว่าผู้ชนะจะเป็นใคร ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน หรือโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ขณะที่ The Washington Post วิเคราะห์ 3 เส้นทางแห่งชัยชนะที่เป็นไปได้มากที่สุด สำหรับทั้งสองผู้สมัครไว้ดังนี้
เส้นทางสู่ชัยชนะของทรัมป์
- ฟลอริดา, ฟลอริดา, ฟลอริดา (+รัฐทางใต้+รัฐอื่นอีกนิดหน่อย)
เส้นทางนี้ เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางสู่ชัยชนะที่สมเหตุสมผลมากที่สุดสำหรับทรัมป์
โดยรัฐฟลอริดาถือเป็นหัวใจสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แทบทุกสมัย เนื่องจากจำนวนคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนี้มีมากถึง 29 เสียง (เป็นอันดับ 2 รองจากเท็กซัส หากนับเท็กซัสอยู่ในกลุ่มรัฐสวิงสเตท (Swing States)
ขณะที่การเอาชนะในรัฐนี้ถือเป็นความท้าทาย เพราะความหลากหลายของประชากรในรัฐนี้ ทำให้การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาเป็นรัฐที่มีความสูสี และผู้ชนะมีคะแนนเฉือนคู่แข่งเพียงประมาณ 1%
พัฒนาการใหม่ที่มีนัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือการแข่งขันภายในรัฐสีแดง หรือรัฐที่เป็นฐานเสียงของรีพับลิกันบางรัฐ ในแถบครึ่งใต้ของประเทศ
ซึ่งพรรคเดโมแครตมีความหวังสูง ว่าความพยายามของพวกเขาในช่วงโค้งสุดท้าย จะช่วยให้สามารถพลิกเอาชนะในรัฐตอนใต้อย่างแอริโซนา จอร์เจีย และเท็กซัส
แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น และเป็นทรัมป์ที่สามารถคว้าชัยในรัฐสีแดงทางใต้เหล่านี้ได้ทั้งหมด พ่วงด้วยชัยชนะในฟลอริดา เช่นเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ก็จะทำให้โอกาสชนะของทรัมป์มีสูงขึ้น ด้วยคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งถึง 235 เสียง นำหน้าไบเดนกว่า 30 เสียง และเข้าใกล้เป้าหมายในการคว้าชัยด้วยจำนวนคณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 เสียง
และยิ่งกว่านั้น หากทรัมป์เก็บชัยชนะใน 2 รัฐแถบมิดเวสต์ อย่างไอโอวา และโอไฮโอ ที่เขาเคยชนะในปี 2016 ด้วยคะแนนนำกว่า 8% ก็จะทำให้เขามีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งสูงถึง 259 เสียง และต้องการอีกเพียง 11 เสียงจากบางรัฐ เช่นมิชิแกนหรือเพนซิลเวเนีย ก็จะเพียงพอในการคว้าตั๋วก้าวสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์รวบรวมโพลสำรวจความคิดเห็น realclearpolitics.com ยังชี้ว่าไบเดนนั้นมีคะแนนนำหน้าทรัมป์ ในเกือบทุกรัฐที่เป็นสวิงสเตทที่ยังไม่ตัดสินใจชัดเจน รวมถึงมิชิแกนและเพนซิลเวเนีย ขณะที่ไอโอวาและโอไฮโอนั้นทั้งสองยังคงสูสีกัน ซึ่งหากเดโมแครตพ่ายแพ้ในฟลอริดาและรัฐทางใต้ที่เป็นฐานเสียงของรีพับลิกัน ก็เป็นไปได้ที่ทรัมป์จะคว้าชัยในรัฐสวิงสเตทอื่นๆ เช่นกัน
- ทรัมป์ทำได้ดีกว่าที่คาดในแถบมิดเวสต์/เขตอุตสาหกรรมอีกครั้ง
ช่วงโค้งสุดท้ายในการหาเสียง ทรัมป์มุ่งเน้นไปยังหลายรัฐแถบมิดเวสต์ โดยเฉพาะมิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน ที่อาจส่งให้เขาคว้าชัยชนะได้ โดยในการเลือกตั้งปี 2016 รัฐเหล่านี้เป็นรัฐที่สูสีและตัดสินชี้ขาดกันด้วยคะแนนเสียงห่างกันไม่ถึง 1%
แต่สำหรับครั้งนี้ โพลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่าไบเดนมีคะแนนนำในรัฐเหล่านี้ทั้งหมด โดยเฉพาะรัฐมิชิแกน ที่ไบเดนมีคะแนนนำทรัมป์กว่า 8.6%
แต่หากทรัมป์เกิดคว้าชัยชนะในรัฐเหล่านี้ได้ทั้งหมดอีกครั้ง รวมถึงรัฐข้างเคียงอย่างมินนิโซตา ไอโอวา และโอไฮโอ เมื่อรวมกับรัฐสีแดงอื่นๆ จะทำให้เขาได้จำนวนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งถึง 260 เสียง
และในสถานการณ์นี้ เพียงแค่เขาชนะในรัฐที่มีคณะผู้เลือกตั้งเกิน 10 เสียงขึ้นไป ก็จะทำให้เขาคว้าชัยชนะได้สำเร็จ ซึ่งแนวทางสู่ชัยชนะนั้นเป็นไปได้หลากหลาย เช่น
- ชนะในฟลอริดา (คณะผู้เลือกตั้ง 29 เสียง)
- ชนะในรัฐสีแดงอย่างแอริโซนา (คณะผู้เลือกตั้ง 11 เสียง) หรือนอร์ทแคโรไลนา (คณะผู้เลือกตั้ง 15 เสียง)
- ชนะในหลายรัฐเล็กอย่าง เนวาดา นิวแฮมป์เชียร์ เมน และเขตรัฐสภาที่ 2 แห่งรัฐเนแบรสกา
แต่หากทรัมป์พ่ายแพ้ในมิชิแกน ที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียง เขาก็ยังมีโอกาสชนะเลือกตั้ง แต่ต้องเก็บแต้มให้ได้ในฟลอริดา แอริโซนา หรือนอร์ทแคโรไลนา
- โพลสำรวจความคิดเห็นคลาดเคลื่อน
กรณีหนึ่งที่มีการตั้งคำถาม คือผลเลือกตั้งจะออกมาในรูปแบบใด หากโพลสำรวจความคิดเห็นเกิดไม่แม่นยำและมีความคลาดเคลื่อนจากปัจจัยบางอย่าง อาทิ ทฤษฎี Shy Trump Voter หรือกลุ่มผู้ลงคะแนนสนับสนุนทรัมป์ที่เหนียมอายและตกสำรวจ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญบางอย่างขึ้นในวันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง
คำตอบที่ได้คือ การชิงชัยจะดุเดือดมากขึ้น และมีแนวโน้มเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะชนะ ซึ่งอ้างอิงจากโพลสำรวจทั่วสหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน ที่ไบเดนมีคะแนนนำหน้าทรัมป์ราว 7% จะเห็นได้ว่าหากโพลเกิดคลาดเคลื่อน และเอียงไปทางทรัมป์ราว 5% จะทำให้ทรัมป์ เก็บชัยชนะ และได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งสูงถึง 296 เสียง
ไบเดนจะชนะได้อย่างไร?
- ครองพื้นที่ของตนเองไว้
ไบเดน เพียงกุมชัยชนะให้ได้ในรัฐที่เขามีคะแนนนำชัดเจนในโพลสำรวจ ซึ่งหากโพลคลาดเคลื่อนไม่เกิน 3% โอกาสที่ไบเดนจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งก็เป็นไปได้สูง และหากไม่พลิกโผในรัฐสำคัญอย่างเพนซิลเวเนีย (มีคณะผู้เลือกตั้ง 20 เสียง) ก็เป็นไปได้ที่เขาจะได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งถึง 279 เสียง
ขณะที่ไบเดนไม่จำเป็นต้องคว้าชัยในรัฐฟลอริดา ซึ่งแนวทางนี้ดูจะมีความเป็นไปได้ และสมเหตุสมผลมากที่สุดสำหรับไบเดน ในการคว้าชัยชนะและขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดี
- ฟลอริดา, ฟลอริดา, ฟลอริดา (อีกครั้ง)
ในอีกแนวทาง หากทรัมป์คว้าชัยชนะในรัฐฟลอริดาได้สำเร็จ เมื่อรวมกับรัฐที่เลือกเดโมแครต ในปี 2016 จะทำให้ไบเดนมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งแล้ว 262 เสียง และต้องการชัยชนะในรัฐใหญ่อีกเพียงรัฐเดียว เช่น แอริโซนา, มิชิแกน, นอร์ทแคโรไลนา, โอไฮโอ, เพนซิลเวเนีย หรือวิสคอนซิน ก็จะทำให้เขาชนะเลือกตั้ง
ซึ่งหมายความว่า หากไบเดนคว้าชัยชนะในฟลอริดาได้ โอกาสที่เขาจะพ่ายแพ้ต่อทรัมป์นั้นก็ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก
- กวาดชัยชนะในรัฐสีแดง
หนึ่งในสิ่งที่อาจเกิดขึ้น คือไบเดนเก็บชัยชนะได้ใน 3 รัฐสำคัญที่เป็นฐานเสียงของรีพับลิกัน อย่างแอริโซนา จอร์เจีย และเท็กซัส ซึ่งไบเดนและทรัมป์มีคะแนนนิยมใกล้เคียงกันใน 3 รัฐนี้ โดยไบเดนมีคะแนนนำในแอริโซนา 2.2% และเสมอกับทรัมป์ในจอร์เจีย ส่วนในเท็กซัสเป็นทรัมป์ที่มีคะแนนนำ 2.6%
แล้วจะเป็นอย่างไร หากไบเดนเอาชนะในรัฐเหล่านี้ได้?
เท็กซัสนั้นเป็นตัวตัดสินที่สำคัญ ด้วยจำนวนคณะผู้เลือกตั้งที่สูงถึง 38 เสียง ซึ่งหากไบเดนพลิกชนะในรัฐนี้ จะทำให้เขาได้เปรียบทรัมป์อย่างมาก ซึ่งเมื่อรวมกับรัฐที่เป็นฐานเสียงของเดโมแครต จะทำให้ไบเดนมีคณะผู้เลือกตั้งอยู่ในมือแล้ว 249 เสียง และต้องการอีกเพียง 21 เสียง
ขณะที่จอร์เจียเป็นอีกรัฐที่ยากจะเปลี่ยนแปลงจากสีแดงเป็นน้ำเงิน ซึ่งไบเดนมีโอกาสพลิกโผได้ หากเอาชนะในรัฐข้างเคียงอย่างนอร์ทแคโรไลนา หรือฟลอริดา ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากไบเดนเอาชนะในจอร์เจีย คือเขาได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งรวม 242 เสียง และต้องการอีก 28 เสียง ซึ่งฟลอริดาถือเป็นเป้าหมายสำคัญ ด้วยจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 29 เสียง
ส่วนแอริโซนาก็เหมือนจอร์เจีย ที่ไบเดนยากจะเอาชนะได้ แต่หากไบเดนเกิดพลิกเอาชนะได้สำเร็จจริงๆ จำนวนคณะผู้เลือกตั้งที่ได้ก็ยังน้อยกว่าจอร์เจียและเท็กซัส แม้จะรวมเอารัฐข้างเคียงอย่างเนวาดา ก็ยังมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งเพียงประมาณ 228 เสียง ซึ่งต้องการอีกถึง 42 เสียง
บทสรุปจะเป็นอย่างไร ออกหน้าไหน ใครจะเป็นผู้ชนะ สหรัฐฯ จะได้ประธานาธิบดีคนที่ 46 หรือไม่ อีกไม่นานจะได้คำตอบ
ติดตามผลเลือกตั้งรัฐต่อรัฐในเว็บไซต์พิเศษ US ELECTION 2020 พร้อมสถานการณ์ล่าสุดและบทความเจาะลึก ได้ที่นี่ https://thestandard.co/us-election-2020/
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: