×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ดีเบตกลับมาเป็นอย่างที่ควรเป็น แต่เพนซ์-แฮร์ริส เลี่ยงตอบคำถามยาก: 5 ข้อสรุปจากเวทีดีเบตรองประธานาธิบดี

09.10.2020
  • LOADING...
us election 2020 debate Pence Harris

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • เนื้อหาที่เพนซ์และแฮร์ริสหยิบยกมาอภิปรายมีความดุเดือดไม่แพ้การดีเบตระหว่างทรัมป์กับไบเดน โดยแฮร์ริสใช้เวลาส่วนใหญ่โจมตีความล้มเหลวในการจัดการโควิด-19 ของทรัมป์ ขณะที่เพนซ์มุ่งโจมตีเรื่องนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมของไบเดน
  • ผู้สมัครทั้งสองพยายามเลี่ยงตอบคำถามยากๆ โดยตรง เพราะกลัวว่าคำตอบจะถูกนำไปขยายความโจมตีโดยพรรคฝั่งตรงข้าม เช่น เพนซ์เลี่ยงให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ทรัมป์อาจไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ขณะที่แฮร์ริสเลี่ยงตอบคำถามที่ว่า รัฐบาลไบเดนจะเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาของศาลสูงจากเดิม 9 คนหรือไม่ ทำให้ฝ่ายเสรีนิยมกลับมามีเสียงข้างมากหรือไม่
  • การที่ทั้งเพนซ์และแฮร์ริสสามารถหลบเลี่ยงการสร้างข้อผิดพลาดให้คู่แข่งเอาไปโจมตีได้ ถือว่าทั้งสองประสบความสำเร็จกับการทำหน้าที่ของตัวเองบนเวทีแล้ว

การดีเบตครั้งแรกและครั้งเดียวระหว่างผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีอย่าง ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรครีพับลิกัน และ คามาลา แฮร์ริส ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อค่ำคืนวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) ซึ่งน้ำเสียงของผู้สมัครและบรรยากาศโดยรวมแตกต่างไปจากความโกลาหลที่เกิดขึ้นระหว่างการดีเบตระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน อยู่มาก และนี่คือบทสรุปประเด็นน่าสนใจจาก 1 ชั่วโมง ที่ทั้งสองคนได้ประชันวิสัยทัศน์กันบนเวทีแบบตัวต่อตัว

 

ความปกติหวนกลับคืนสู่เวทีดีเบต

หลังจากที่ชาวอเมริกันต้องผิดหวังกับการดีเบตที่แสนจะสับสนอลหม่านระหว่างทรัมป์กับไบเดนที่มีแต่การแย่งกันพูด จนผู้ฟังทางบ้านไม่มีโอกาสได้ฟังแนวคิดและนโยบายในการบริหารประเทศ การดีเบตระหว่างเพนซ์กับแฮร์ริสนั้นให้ภาพที่แตกต่างออกไป โดยผู้สมัครทั้งสองเคารพกฎกติกาเป็นอย่างดี แทบไม่มีการพูดแทรกกัน (ถึงแม้ว่าฝั่งเพนซ์จะพูดเกินโควตาเวลาของตัวเองไปบ้าง) และที่สำคัญผู้สมัครทั้งสองต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่มีการโจมตีกันเรื่องส่วนตัว เพนซ์ถึงกับกล่าวแสดงความยินดีกับแฮร์ริสที่เธอเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรคการเมืองใหญ่

 

ภาพที่ออกมานี้น่าจะทำให้ชาวอเมริกันสบายใจได้ในระดับหนึ่งว่า ความผิดปกติและความโกลาหลในทางการเมืองที่พวกเขาเห็นมาตลอด 4 ปีหลังนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะตัวกับทรัมป์ เพราะแม้แต่ผู้นำเบอร์ 2 ของพรรคอย่างเพนซ์ (ซึ่งว่ากันตามจริงมีแนวคิดทางการเมืองที่ขวามากกว่าทรัมป์เสียด้วยซ้ำ) ก็ไม่ได้มีพฤติกรรมแบบทรัมป์ เขายังเคารพความปกติและธรรมเนียมปฏิบัติในทางการเมืองอยู่ 

 

แฮร์ริสเลือกโจมตีเรื่องโควิด-19 เพนซ์เลือกโจมตีเรื่อง Green New Deal 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้รูปแบบที่ดูเหมือนว่าผู้สมัครทั้งสองจะเคารพและให้เกียรติกันนั้น แท้จริงแล้วเนื้อหาที่เพนซ์และแฮร์ริสหยิบยกมาอภิปรายมีความดุเดือดไม่แพ้กับการดีเบตระหว่างทรัมป์กับไบเดน แฮร์ริสใช้เวลาส่วนใหญ่ของเธอโจมตีไปที่ความล้มเหลวในการจัดการวิกฤตโควิด-19 ของทรัมป์ 

 

เธอพยายามชี้ให้ชาวอเมริกันเห็นว่า ทรัมป์และเพนซ์รับรู้ถึงความรุนแรงของการระบาดมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว แต่ทำเนียบขาวกลับเลือกที่จะนิ่งเฉย และไม่บอกความจริงกับประชาชน เธอใช้คำพูดรุนแรงถึงขนาดกล่าวว่า นี่คือความล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐบาล 

 

ในขณะที่เพนซ์ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการโจมตีนโยบายด้านการพลังงานและสิ่งแวดล้อมของไบเดน เพนซ์โจมตีว่า รัฐบาลของไบเดนจะออกนโยบายที่ใกล้เคียงกับ Green New Deal ซึ่งไม่เป็นมิตรกับอุตสาหกรรมคาร์บอน เพนซ์พยายามฉายภาพให้คนอเมริกันเห็นว่า นโยบายของไบเดนจะทำให้ธุรกิจขุดเจาะน้ำมันด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Fracking ต้องปิดตัวลง อันจะส่งผลให้คนอเมริกันจำนวนมากต้องตกงาน โดยเฉพาะแรงงานในเขตมิดเวสต์ (ที่เป็น Swing States ซึ่งจะเป็นมลรัฐที่ชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี) และยังจะทำให้ต้นทุนพลังงานของประเทศสูงขึ้น จนธุรกิจของชาวอเมริกันไม่สามารถไปแข่งขันในตลาดโลกได้

 

เลี่ยงที่จะตอบคำถามที่ยาก

ผู้ดำเนินรายการอย่าง ซูซาน เพจ พยายามถามคำถามยากๆ กับผู้สมัครทั้งสองคน แต่ทั้งสองก็พยายามเลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามเหล่านั้นตรงๆ เพราะทั้งสองกลัวว่าคำตอบจะถูกนำไปขยายความโจมตีโดยพรรคตรงข้าม

 

ในส่วนของเพนซ์ เขาถูกถามว่า ถ้าทรัมป์แต่งตั้ง เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ได้สำเร็จ จนทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีเสียงที่มากกว่าในศาลสูง และมีการกลับคำตัดสินของคดีดังอย่าง Roe v Wade จนทำให้สิทธิในการทำแท้งไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญอีกต่อไป เพนซ์อยากเห็นกฎหมายทำแท้งในระดับมลรัฐที่มีหน้าตาเป็นอย่างไร เพจถามคำถามนี้กับเพนซ์ เพราะเธอรู้ดีว่าเพนซ์เป็นนักการเมืองฝั่งขวาแบบเคร่งศาสนาที่มีแนวคิดต่อต้านการทำแท้งในทุกรูปแบบ เพนซ์เลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถาม โดยที่เขาเฉไฉไปพูดเรื่องอื่นแทน เพราะเขารู้ว่าหญิงอเมริกันส่วนใหญ่มีแนวคิดว่าสิทธิในการทำแท้งเป็นสิทธิเหนือร่างกายของตัวเอง (โดยเฉพาะในไตรมาส 1 ที่ตัวอ่อนในครรภ์ยังไม่สามารถมีชีวิตรอดนอกมดลูกได้) การที่เขาจะไปยอมรับตรงๆ ว่าเขาจะแบนการทำแท้งน่าจะทำให้ฝ่ายเดโมแครตเอาไปเป็นประเด็นโจมตีให้เขาเสียคะแนนในหมู่ผู้หญิง

 

นอกจากนี้เพจยังพยายามถามให้เพนซ์คอมเมนต์ถึงดีเบตที่แล้วที่ทรัมป์ปฏิเสธจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพนซ์ตอบแค่ว่า เขามั่นใจว่าทรัมป์และเขาจะเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ยากสำหรับเพนซ์ เพราะถ้าเขาตอบว่าเขาจะยอมรับความพ่ายแพ้ ก็จะกลายเป็นการหักหน้าทรัมป์ แต่ถ้าตอบแบบทรัมป์ ก็จะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีก ทำให้สุดท้ายเพนซ์เลือกที่จะเลี่ยงไม่ตอบคำถาม

 

ส่วนแฮร์ริสถูกถามว่า รัฐบาลของไบเดนจะเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาของศาลสูงสุด (Court Packing) จากเดิมที่มีอยู่ 9 คนหรือไม่ เพื่อทำให้ฝ่ายเสรีนิยมกลับมามีเสียงข้างมากในศาลสูงสุด แฮร์ริสเลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามนี้เช่นกัน เพราะถ้าเธอตอบว่าจะทำก็จะถูกรีพับลิกันเอาไปประเด็นโจมตีได้ว่า รัฐบาลของไบเดนเป็นรัฐบาลเผด็จการ ที่พยายามจะล้ำเส้นไปควบคุมฝ่ายตุลาการ แต่ถ้าเธอตอบว่าจะไม่ทำ ก็จะทำให้ฐานเสียงของพรรคผิดหวังในตัวเธอและไบเดน เพราะตอนนี้ฐานเสียงของพรรคเดโมแครตกำลังโกรธแค้นพรรครีพับลิกัน (ที่ครองเสียงข้างมากในสภาสูง) อย่างมาก จากกรณีที่พยายามแต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่ในปีที่มีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยปฏิเสธไม่ยอมให้ บารัก โอบามา แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงในปีสุดท้ายของการทำหน้าที่ประธานาธิบดี ฐานเสียงของพรรคเดโมแครตรู้สึกว่าที่นั่งในศาลสูงสุดของพวกเขาถูกขโมย และต้องการให้ไบเดนแต่งตั้งผู้พิพากษาเพิ่มเป็นการชดเชย

 

แฮร์ริสมีความพร้อมที่จะเป็นประธานาธิบดี

แฮร์ริสมีหนึ่งสิ่งที่จะต้องพิสูจน์ในการขึ้นเวทีดีเบตครั้งนี้ นั่นก็คือเธอจะต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวอเมริกันให้ได้ว่า เธอมีความพร้อมที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีเอง ในกรณีที่ประธานาธิบดีลาออกหรือเสียชีวิต ซึ่งในอดีตก็มีรองประธานาธิบดีหลายคนต้องขึ้นมารับหน้าที่แทน เช่น ลินดอน จอห์นสัน ที่ต้องก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทนประธานาธิบดีเคนเนดีที่ถูกลอบสังหาร หรือ เจอรัลด์ ฟอร์ด ที่ต้องก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทนประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ที่ลาออกจากกรณีอื้อฉาวที่วอเตอร์เกต ยิ่งในกรณีของแฮร์ริส การพิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นว่า เธอมีความพร้อมในกรณีฉุกเฉินมีความสำคัญมาก เพราะผู้สมัครในตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างไบเดนมีอายุมากถึง 77 ปีแล้ว

 

นักวิเคราะห์ทางการเมืองเห็นตรงกันว่า แฮร์ริสทำผลงานได้ดีในการดีเบต เธอสามารถโต้เถียงกับนักการเมืองรุ่นใหญ่อย่างเพนซ์ที่เคยเป็นทั้งผู้ว่าการรัฐและเป็นรองประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้อย่างดี เธอสามารถพูดจาลงลึกถึงรายละเอียดของนโยบายและตัวเลขต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ภาพของเธอบนจอโทรทัศน์ยังเป็นภาพของหญิงแกร่งที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ แต่ก็ดูผ่อนคลาย ไม่แข็งเกร็งจนเกินไป 

 

แต่สุดท้ายแล้วดีเบตนี้ก็อาจไม่ส่งผลอะไร

อย่างไรก็ดี คนอเมริกันส่วนใหญ่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคไหนโดยดูที่ประธานาธิบดีเป็นหลัก ผู้สมัครรองประธานาธิบดีมีผลน้อยมาก ยิ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ความสนใจของทุกคนจดจ้องไปที่ทรัมป์กันหมด ทำให้ความสำคัญของคู่หูในบัตรเลือกตั้งยิ่งน้อยลงไปอีก การที่ทั้งเพนซ์และแฮร์ริสสามารถหลบเลี่ยงการสร้างข้อผิดพลาดให้คู่แข่งเอาไปโจมตีได้ ก็น่าจะถือว่าทั้งสองคนประสบความสำเร็จกับการทำหน้าที่ของตัวเองบนเวทีแล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising