สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Economic Analysis) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศประจำไตรมาส 2 ครั้งที่ 1 ปีนี้ พบผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5% ซึ่งมากกว่าระดับจีดีพีก่อนเกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด แต่ก็ยังน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้าว่าจะอยู่ที่ 8.5% เนื่องจากติดขัดด้านซัพพลายและการขาดแคลนแรงงานที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่อาจขยายตัวได้อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน ทางสำนักฯ ยังได้ปรับลดการขยายตัวของจีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้จาก 6.4% มาอยู่ที่ 6.3%
ในส่วนของการใช้จ่ายของผู้บริโภค หนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ รายงานประเมินว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคในไตรมาส 2 จะขยับเพิ่มขึ้นถึง 11.8% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ส่วนทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวม มีแนวโน้มฟื้นตัวเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงที่เหลือของปีนี้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตายังเป็นปัจจัยเสี่ยงคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกเหนือไปจากปัญหาเงินเฟ้อสูงที่อาจกินระยะเวลายืดเยื้อยาวนานกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คาดการณ์ไว้ และหุ้นของฟอร์ด พุ่ง 3.88% หลังมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรตลอดทั้งปี
ในส่วนของภาพรวมการขยายตัวของจีดีพีสหรัฐฯ ตลอดทั้งปี 2021 นี้ ทางสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประเมินไว้ที่ 7% ซึ่งสอดคล้องกับรายงานคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ฉบับอัปเดตเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้ 7.0% ในปีนี้ ก่อนปรับลงมาเหลือ 4.9% ในปีหน้า
ทั้งนี้ ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เป็นไปในทางบวกส่วนหนึ่งต้องยกให้กับแผนฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งรวมถึงแผนล่าสุดอย่างร่างกฎหมายยกระดับโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศ
โดยสำนักข่าว Reuters รายงานว่า สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันต่างเห็นชอบในหลักการร่างงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังประธานาธิบดีไบเดนได้หารือกับตัวแทนผู้เจรจาจากทั้งสองพรรคและได้ข้อสรุปในเบื้องต้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (28 กรกฎาคม) และทางวุฒิสภามีกำหนดเตรียมพิจารณารายละเอียดของร่างหลักการดังกล่าวในวันพฤหัสบดี (29 กรกฎาคม) ก่อนที่จะมีการเริ่มโหวตลงมติรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวในวันศุกร์นี้ (30 กรกฎาคม)
รายงานระบุว่า ร่างงบประมาณเพื่อปรับปรุงระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดังกล่าว มุ่งเน้นในการลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ ทั่วประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงถนน สร้างสะพาน ระบบบริหารจัดการประปา น้ำดื่มและน้ำเสีย ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมมาตรการส่งเสริมการใช้งานพาหนะพลังงานไฟฟ้า สร้างท่าเรือและสนามบิน ไปจนถึงการยกระดับระบบขนส่งมวลชนด้วยการพัฒนาระบบรางและรถประจำทาง ถือเป็นการลงทุนของรัฐบาลส่วนกลางของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
ด้านทำเนียบขาวระบุว่า ร่างงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐดังกล่าว จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างงานให้กับสหรัฐฯ ราว 2 ล้านตำแหน่งต่อปี ตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
ข่าวดีที่บ่งชี้สัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวานนี้ (29 กรกฎาคม) ปิดตลาดปรับตัวในแดนบวก โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 153.60 จุด หรือ 0.44% ปิดที่ 35,084.53 จุด ด้านดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 18.51 จุด หรือ 0.42% ปิดที่ 4,419.15 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 15.68 จุด หรือ 0.11% ปิดที่ 14,778.26 จุด
ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ ยังคงได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทชั้นนำในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นำโดย Yum! เจ้าของเครือข่ายแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดยอดนิยมอย่าง KFC, Pizza Hut และ Taco Bell ที่มีรายได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้หุ้นของบริษัทในตลาดเมื่อวานนี้เพิ่มขึ้น 6.28% ที่ 130.31 ดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ ขณะที่ Amazon ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ ก็รายงานรายได้ทะลุ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 แล้ว
นอกจากนี้ ตลาดวอลล์สตรีทยังได้รับปัจจัยบวกจากรายงานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวดี จนจีดีพีปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับก่อนเผชิญหน้ากับการระบาดของไวรัสโควิด และยังมีรายงานตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงจาก 424,000 ราย มาอยู่ที่ 400,000 ราย
ในส่วนของราคาน้ำมัน เมื่อวานนี้ (29 กรกฎาคม) ปิดตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 1.23 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 73.62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 1.31 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 76.05 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ด้านราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยืนกรานเดินหน้าใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป บวกกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แม้จะเติบโตได้ดี แต่ก็มีปัจจัยเปราะบางและปัจจัยเสี่ยงอยู่ จนทำให้ขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 31.70 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 1,831.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/economy/2021/7/29/us-gdp-grew-by-6-5-percent-in-q2-well-below-expectations
- https://www.investing.com/news/stock-market-news/us-senators-upbeat-on-prospects-for-bipartisan-infrastructure-bill–for-now-2573110
- https://www.cnbc.com/2021/07/28/stock-futures-mixed-after-fed-keeps-interest-rates-near-zero.html