×

เปิดเหตุผล ทำไมวิกฤตสินเชื่อตึงตัวในสหรัฐฯ (ที่ Fed กังวล) อาจก่อตัว ‘เป็นรูปเป็นร่าง’ แล้ว

11.04.2023
  • LOADING...
Credit Crunch

ข้อมูลต่างๆ เริ่มชี้ว่าสหรัฐฯ อาจกำลังเผชิญกับวิกฤตสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์ธนาคารภูมิภาคหลายแห่งล่มเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยกูรูหลายคนพากันจับตาดูตัวเลขสินเชื่อของธนาคารในสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยเร็วๆ นี้ เนื่องจากมีสมมติฐานว่าวิกฤตสินเชื่อตึงตัวดังกล่าว อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ Fed ต้องหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย Reuters แสดงให้เห็นว่า สินเชื่อของธนาคารโดยรวมในสหรัฐฯ (Overall Bank Credit) ได้หยุดขยายตัว (Stall) โดยอยู่ที่ 17.5 ล้านล้านดอลลาร์ มาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว ขณะที่การเติบโตแบบปีต่อปี (YoY Growth) ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรง

 

โดย Jeffrey Haley ซีอีโอของ American National Bank and Trust Company ซึ่งเป็นธนาคารชุมชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย มองว่าวิกฤตสินเชื่อตึงตัวที่ Fed กังวล ‘มาถึง’ ตั้งแต่ต้นปี 2023 นี้

 

โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สำหรับ Haley หมายความว่า การเติบโตของสินเชื่อน่าจะลดลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากธนาคารต้องหันมาให้ความสำคัญกับสินเชื่อที่มีคุณภาพดีกว่าและให้ผลตอบแทนสูงกว่า

 

และเมื่อรวมกับเหตุการณ์ธนาคารระดับภูมิภาคหลายแห่งในสหรัฐฯ ล่มเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สัญชาตญาณของ Haley จึงบอกว่า ธนาคารเขาจะต้องรัดกุมมากขึ้น โดยการเติบโตของสินเชื่ออาจลดลงเหลือ 1 ใน 4 ของที่เคยเป็นในปี 2022

 

ทำไมสหรัฐฯ จึงเผชิญปัญหาสินเชื่อตึงตัว?

เนื่องจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark Interest Rate) ที่ธนาคารต่างๆ ใช้อ้างอิงในการให้กู้ยืมเงินแก่กันและกัน รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น ได้ทำให้สินเชื่อผู้บริโภคและธุรกิจมีต้นทุนแพงขึ้นและอนุมัติได้ยากขึ้น

 

โดนในทางทฤษฎีแล้ว การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะทำให้ความต้องการของสินค้าและบริการที่ใช้เครดิตทางการเงินเหล่านี้ลดต่ำลง และลดอัตราเงินเฟ้อลงด้วยในขณะเดียวกัน

 

เมื่อรวมกับวิกฤตการล่มสลายของธนาคารหลายแห่งในสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ว่าวิกฤตสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) ในสหรัฐฯ อาจแย่กว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับ ‘ความตื่นตระหนกทางการเงิน’ (Financial Panic) สูงขึ้น

 

แม้ดูเหมือนว่า Fed จะสามารถหลบเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดไปได้แล้ว ผ่านการใช้มาตรการฉุกเฉินต่างๆ ทั้งของ Fed เอง และของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ออกมาเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบธนาคารสหรัฐฯ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลาง

 

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาตลอดทั้งปีก็ยังทำให้ธนาคารขนาดเล็กตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในการแย่งชิงเงินฝากที่รั่วไหลไปยังตลาดพันธบัตรรัฐบาล และกองทุนในตลาดการเงินที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่า

 

Fed กำลังจับตาดูภาวะสินเชื่อตึงตัวอย่างใกล้ชิด

ปัญหาสินเชื่อตึงตัวที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วจากปล่อยกู้น้อยลง มาตรฐานสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ทำให้ขณะนี้เจ้าหน้าที่ Fed กำลังเฝ้าดูสัญญาณที่ว่าสถานการณ์ถูกขับเคลื่อนรุนแรงเกินไป (Overdrive) หรือยัง

 

ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับการให้กู้ยืมและสินเชื่อของภาคธนาคารจึงกำลังมีความสำคัญมากเรื่อยๆ นอกเหนือไปจากข้อมูลในตลาดงานและอัตราเงินเฟ้อที่ Fed กำลังให้ความสำคัญอยู่ตอนนี้

 

โดยหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายของ Fed อาจใช้ประเมินว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดขึ้นจะนำไปสู่การหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือยัง นั่นคือแบบสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่สินเชื่ออาวุโสเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านการให้สินเชื่อของธนาคาร (Senior Loan Officer Opinion Survey on Bank Lending Practices) รายไตรมาสของ Fed ที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะในสัปดาห์หน้า

 

Loretta Mester ประธาน Fed สาขาคลีฟแลนด์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ข้อมูลการสำรวจมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้ Fed เข้าใจได้ว่าสถาบันการเงินกำลังใช้มาตรฐานสินเชื่อเข้มงวดมากแค่ไหน

 

“ตอนนี้เรากำลังจะทำการประเมินว่าเกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องสำคัญ เรากำลังพยายามเปรียบเทียบนโยบายการเงินและการเข้มงวดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นกลไกที่จะนำไปสู่ผลกระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง” Mester กล่าว

 

ภาวะสินเชื่อตึงตัวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร?

Matthew Luzzetti หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ของ Deutsche Bank ประเมินเมื่อเร็วๆ นี้ว่า หากการสำรวจเจ้าหน้าที่สินเชื่อของ Fed ครั้งต่อไปแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของธนาคารที่เข้มงวดกับการออกสินเชื่อเพิ่มขึ้น 10% สิ่งนี้อาจทำให้ GDP ของสหรัฐฯ ลดลงราว 0.5% เพียงพอที่จะเปลี่ยนคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ไม่ใช่แค่การเติบโตต่ำ (Meager Growth)

 

Luzzetti และทีมงาน ยังระบุว่า Deutsche Bank เห็นความเป็นไปได้ว่าเงื่อนไขทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นจะชะลอการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงเวลาที่ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้นแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising