กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งพบว่าตัวเลขโดยรวมต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ในอัตรารายเดือนในเดือนมิถุนายน ขยับขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.1%
ส่วนดัชนี CPI ดังกล่าวปรับตัวขึ้น 3.0% เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี ทำให้ดัชนี CPI ในเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2021 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 4.0% ในเดือนพฤษภาคม
ด้านดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.8% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.0% จากระดับ 5.3% ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.4% ในเดือนพฤษภาคม
รายงานระบุว่า โดยสรุปแล้วตัวเลขดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีช่องว่างในการหายใจพักจากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 หรือสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 1981
George Mateyo หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Key Private Bank กล่าวว่า รายงานเงินเฟ้อล่าสุดสะท้อนให้เห็นความคืบหน้าที่สำคัญในด้านเงินเฟ้อ โดยเป็นการยืนยันว่าในที่สุดอัตราเงินเฟ้อก็เย็นลง ก่อนคาดว่า Fed น่าจะยึดรายงานดังกล่าวในฐานะหลักฐานยืนยันว่านโยบายของตนเองกำลังสร้างผลกระทบตามที่ต้องการ นั่นคืออัตราเงินเฟ้อลดลง ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่หยุดชะงัก
อย่างไรก็ตาม Mateyo กลับมองว่าข่าวดีดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ Fed ยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ Fed คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อค่าใช้จ่ายสำหรับที่พักลดลง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของน้ำหนักในดัชนี CPI
กระนั้น Lisa Sturtevant หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Bright MLS ชี้ว่า ค่าที่อยู่อาศัยซึ่งคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ของอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก Fed ได้กดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำมากในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาด และจากนั้นก็เพิ่มดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็ว ทว่าอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่เพิ่มนั้นไม่เพียงแต่ลดความต้องการที่อยู่อาศัยตามที่ตั้งใจไว้เท่านั้น แต่ยังทำให้อุปทานมีจำกัดอย่างรุนแรงด้วย ซึ่งหมายความว่าอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่ยังไม่อาจวางใจได้ และทำให้ Fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปตามที่ตั้งไว้
แต่ข่าวดีที่อัตราเงินเฟ้ออ่อนตัวลงก็ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ ที่ปิดตลาดในแดนบวกเมื่อวันพุธที่ 12 กรกฎาคม โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวเพิ่มขึ้น 86.01 จุด หรือ 0.25% ปิดที่ 34,347.43 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 32.90 จุด หรือ 0.74% ปิดที่ 4,472.16 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 158.26 จุด หรือ 1.15% ปิดที่ 13,918.96 จุด โดยดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2022
ส่วนหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารถือเป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวสูงสุด โดย Citigroup ขยับขึ้น 1.8% ส่วน Goldman Sachs ไต่ขึ้น 1.7% ขณะที่ธนาคารในภูมิภาคก็ขยับขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น Comerica เพิ่มขึ้น 3.1% และ Zions Bancorporation พุ่งถึง 2.8%
บรรดานักวิเคราะห์มองว่าข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดเน้นย้ำความคาดหมายของนักลงทุนในตลาดว่า Fed อาจคงอัตราดอกเบี้ยหลังปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนกรกฎาคมนี้
อ้างอิง: