บริษัทหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะบรรดาสายการบินและธุรกิจด้านขนส่งโลจิสติกส์ พร้อมใจกันออกมาเตือนว่า ต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นบวกกับการขอปรับขึ้นค่าแรงของลูกจ้าง จะส่งผลต่อรายได้และผลกำไรของบริษัทในไตรมาสปัจจุบัน
สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า บริษัททั่วสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับต้นทุนการดำเนินการที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยบริษัทต่างๆ ตั้งแต่ผู้ผลิตด้านการบินและอวกาศ ไปจนถึง UPS ยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่งพัสดุ กำลังพิจารณาข้อตกลงด้านแรงงานครั้งใหญ่ ในขณะเดียวกันสหภาพแรงงานตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ไปจนถึงฮอลลีวูด กำลังผลักดันให้มีค่าตอบแทนที่ดีขึ้น ซึ่งสายการบินที่มีค่าใช้จ่ายจากน้ำมันและค่าแรงมากที่สุดกำลังได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สายการบิน Delta Air Lines ได้ปรับลดการคาดการณ์กำไรสำหรับไตรมาสที่ 3 ลงเหลือระหว่าง 1.85-2.05 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 2.20-2.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าซ่อมบำรุงที่แพงกว่าที่คาดไว้ โดยราคาน้ำมันเครื่องบินในสหรัฐฯ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 3.42 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน เพิ่มขึ้น 38% จากเมื่อสองเดือนก่อน
ขณะเดียวกันสายการบิน American Airlines และ Southwest Airlines ก็มีการปรับลดประมาณการตัวเลขรายได้ในไตรมาสที่ 3 เช่นเดียวกัน โดย Southwest Airlines ยังได้คาดการณ์ว่ากำไรต่อหุ้นในไตรมาสที่ 3 จะลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 95 เซนต์ต่อหุ้น เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นกับข้อตกลงแรงงานนำร่องฉบับใหม่ที่หมายถึงการปรับขึ้นค่าแรง ทำให้บริษัทประเมินว่าต้องมีการใช้เงินมากกว่า 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสัญญาการจ้างงานฉบับใหม่ ซึ่งครอบคลุมถึงการเพิ่มเงินเดือนทันที 21% สำหรับนักบิน และค่าชดเชยที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 46% ตลอดระยะเวลาของสัญญา
ส่วนบริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่อย่าง UPS ก็เพิ่งบรรลุข้อตกลงกับสหภาพแรงงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้พนักงานขับรถได้รับเงินสวัสดิการสูงถึง 1.7 แสนดอลลาร์สหรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา 5 ปี รวมถึงการขึ้นเงินเดือนสำหรับทั้งพนักงานเต็มเวลาและนอกเวลา
ขณะที่สหภาพแรงงานของบริษัท United Auto Workers (UAW) และผู้ผลิตรถยนต์ในเมืองดีทรอยต์ยังคงอยู่ในระหว่างการเผชิญหน้าเพื่อบรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดยสหภาพแรงงานพยายามขอขึ้นเงินเดือนเกือบ 40% จากสัญญาฉบับใหม่ รวมถึงลดเวลาทำงานสัปดาห์ละ 32 ชั่วโมง และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานในแง่อื่นๆ
เช่นเดียวกันสหภาพแรงงานอื่นๆ ก็กำลังเรียกร้องค่าชดเชยที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยมีการนัดหยุดงานของบรรดานักเขียนและนักแสดงฮอลลีวูดที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมลากยาวมาจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งบรรดาสมาชิกนักเขียนและนักแสดงต่างเรียกร้องค่าตอบแทนที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในยุคสตรีมมิงความบันเทิง
นอกจากนี้มีรายงานว่า สายการบิน American Airlines ได้เสนอให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินขึ้นค่าจ้าง 11% ในวันที่สัญญาใหม่เริ่ม และเพิ่มขึ้น 2% หลังจากนั้น แต่สมาคมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมืออาชีพกล่าวว่า สหภาพฯ ต้องการให้เพิ่มขึ้น 35% ในช่วงเริ่มต้นข้อตกลงใหม่ ตามด้วยการปรับขึ้นรายปี 6% โดยย้ำว่า สหภาพแรงงานไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนเลยในช่วงอัตราเงินเฟ้อที่สูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แม้ว่าความต้องการในการเดินทางโดยเครื่องบินจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้ธุรกิจการบินสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่สายการบินส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสายการบินขนาดเล็กที่เน้นเส้นทางระยะใกล้ คาดว่าจะขาดทุนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงมีรายได้ลดลงและต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น
อ้างอิง: