×

‘สหรัฐฯ’ ขึ้นภาษียางรถยนต์ ‘เวียดนาม’ ฐานปั่นค่าเงิน จับตาสินค้าไทย

โดย THE STANDARD TEAM
06.11.2020
  • LOADING...
สหรัฐ เวียดนาม

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • สหรัฐฯ ขึ้นภาษี ‘ยางรถยนต์’ นำเข้าจากเวียดนามเป็น 10.08% จาก 6.23% ยกเหตุผลเวียดนามจงใจ ‘แทรงแซง’ ค่าเงินดองเวียดนามให้อ่อนค่าเพื่อหวังผลทางการค้า
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับ เวียดนามปีละหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เฉพาะ 8 เดือนแรกปีนี้ ยอดขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 11% สูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • เวียดนามไม่ใช่ประเทศเดียวที่โดนบทลงโทษ เพราะสหรัฐฯ เริ่มสอบสวนอีกหลายประเทศฐานละเมิดกฎการทุ่มตลาด โดยชาติที่ถูกสอบสวนอยู่มีทั้ง ไทย ไต้หวัน และเกาหลีใต้

เปรียบเสมือนการตบหน้า ‘เวียดนาม’ ฉาดใหญ่จากพี่เบิ้มมหาอำนาจฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา เมื่อกระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งขึ้นภาษี ‘ยางรถยนต์’ นำเข้าจากเวียดนาม จาก 6.23% มาอยู่ที่ 10.08% โดยให้เหตุผลว่าเป็นอากรตอบโต้ (Countervailing Duties) ลงโทษเวียดนามฐานจงใจแทรกแซงค่าเงินดองเวียดนามให้อ่อนค่าเพื่อความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ

เหตุผลเพราะการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ เดินทางเยือน และยกให้เวียดนามเป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่กำลังตึงเครียดเพราะสงครามการค้ากับชาติมหาอำนาจอย่างจีน

เรียกได้ว่าเพิ่งจะจับมือยิ้มให้กันอย่างหวานชื่นไม่ถึงสัปดาห์ สหรัฐฯ ก็หาเรื่องจัดการเชือดเวียดนามเสียแล้ว แถมเป็นการลงโทษที่เวียดนามโอดครวญว่าไม่เป็นธรรม พร้อมกับยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้ทำ และไม่คิดจะทำแม้แต่น้อย

ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยรายงานมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามที่พบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าให้แก่เวียดนามอย่างต่อเนื่อง

โดยช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ข้อมูลของทางการสหรัฐฯ พบว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 11% มาอยู่ที่ 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอาจเป็นการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับต่างชาติในลำดับที่ 4 หรือ 5 ของการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศที่มีทั้งหมด

ภายใต้นโยบายมุ่งปกป้องผลประโยชน์ชาติของ โดนัลด์ ทรัมป์ การขาดดุลทางการค้ากับเวียดนามของสหรัฐฯ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าปวดใจและนำไปสู่การพยายามตามหาสาเหตุของการขาดดุลที่มากมายมหาศาลนี้

และหนึ่งในสาเหตุที่ทางการสหรัฐฯ สงสัยก็คือ มาตรการควบคุมค่าเงินดองเวียดนามของรัฐบาลเวียดนาม ทำให้เวียดนามได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่แต่เดิมก็ได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะสหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษทางการค้าในฐานะชาติพันธมิตรและประเทศยากจน กระทั่งนำไปสู่การที่สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เปิดฉากพิจารณาตรวจสอบตามมาตรา 301 อย่างจริงจังเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีคำสั่งขึ้นภาษียางรถยนต์ดังกล่าวเป็นการลงโทษในที่สุด

โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวของสหรัฐฯ ไม่ได้มีขึ้นแบบปุบปับ เพราะสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีเฝ้าระวังเวียดนามเรื่องปัญหาแทรกแซงค่าเงินมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังพบว่าค่าเงินดองเวียดนามเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ากว่าความเป็นจริงตามที่ควรจะเป็นในตลาดถึง 4.7% แต่เวียดนามก็ไม่ดำเนินการใดๆ ทำให้การขาดดุลขยายมากขึ้น

“ความไม่เป็นธรรมเรื่องค่าเงินคือปัจจัยที่สามารถเป็นอันตรายต่อบริษัทและแรงงานของสหรัฐฯ ในการแข่งขันกับสินค้าของเวียดนามที่ขายในราคาถูกกว่าเพราะการจงใจกดค่าเงินให้อ่อนค่า” ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ให้เหตุผล ก่อนแง้มว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะทางสหรัฐฯ ยังเตรียมพิจารณาตรวจสอบกรณีการค้าไม้ของเวียดนามว่าเป็นการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่

ทั้งนี้สำหรับเวียดนาม การใช้มาตรา 301 ของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล เพราะเป็นมาตราเดียวกันกับที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ามากกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเห็นว่าจีนจงใจแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่าความเป็นจริงเพื่อความได้เปรียบในด้านการส่งออก จนเป็นสงครามการค้าของสองชาติมหาอำนาจที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม ออกโรงยืนยันคำเดิมชัดเจนว่ารัฐบาลไม่เคยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมาเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันในเวทีการค้า ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

ขณะเดียวกันบรรดานักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในเวียดนามเองก็ยกหลักฐานขึ้นมาชี้ชัดว่า การขาดดุลที่พุ่งมากขึ้นในปีนี้ของสหรัฐฯ เป็นผลพวงจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ เอง ที่ทำให้บรรดาบริษัทต่างชาติทั้งหลายรวมถึงสัญชาติอเมริกัน โยกย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนาม ดังนั้นสินค้าที่ส่งออกไป แม้จะผลิตในเวียดนาม แต่แทบทั้งหมดก็เป็นสินค้าที่ผลิตจากบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่าง Samsung, Apple หรือ Gap

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ครั้งนี้น่าจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ในระยะยาวก็คือความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ส่วนในระยะสั้นก็คือการสูญเสียโอกาสการค้าของสหรัฐฯ เมื่อเวียดนามมีแนวโน้มที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าเป็นผลิตผลทางการเกษตร เครื่องบิน และพลังงาน

โดยเฉพาะพลังงาน ที่หลายฝ่ายรวมถึงเวียดนามพยายามชี้ให้เห็นว่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดการขาดดุลทางการค้ากับเวียดนามของสหรัฐฯ

เหตุผลเพราะเวียดนามในขณะนี้กำลังประสบปัญหาซัพพลายเออร์ด้านพลังงาน เพราะไม่สามารถขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พิพาทอย่างทะเลจีนใต้ได้ ดังนั้นการนำเข้าพลังงานจึงตอบโจทย์ได้ส่วนหนึ่ง และสหรัฐฯ ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลกย่อมได้ประโยชน์ในส่วนนี้อย่างเต็มที่

รายงานระบุว่า เวียดนามกับสหรัฐฯ ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซ LNG ภายใต้ความร่วมมือของ General Electric, ExxonMobil และ AES ในการประชุม Indo-Pacific Business Forum เมื่อเดือนที่แล้ว โดยเป็นข้อตกลงที่ไม่เพียงจะแก้ปัญหาขาดดุลการค้าเท่านั้น แต่จะมีส่วนช่วยเพิ่มหนุนราคาพลังงานให้ขยับขึ้นมาอีกด้วย

สำหรับความสัมพันธ์การค้าระดับทวิภาคีระหว่างเวียดนามกับสหรัฐฯ เพิ่งจะมีขึ้นและราบรื่นเพียงไม่นาน หลังจากที่ทั้งสองชาติได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของทั้งสองฝ่ายให้ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยรายงานของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ระบุว่า เวียดนามถือเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 13 ของสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของเวียดนามรองจากจีน มูลค่าการค้าของ 2 ชาติในปี 2019 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 32% ส่วนมูลค่าการค้านับตั้งแต่ต้นปี 2020 ถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมาสูงถึง 64,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.97 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 24.91%

จนถึงขณะนี้รัฐบาลเวียดนามไม่ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวใดๆ โต้กลับไป เพียงแต่ออกมาแสดงความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางการของสหรัฐฯ เพื่อไขข้อข้องใจอันจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ตามกฎหมายของบรรดาธุรกิจของเวียดนามภายใต้ระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO)

ทั้งนี้เวียดนามไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอบทลงโทษจากสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ ได้เริ่มเปิดฉากสอบสวนหลายประเทศฐานต้องสงสัยละเมิดกฎการทุ่มตลาดของสหรัฐฯ โดยชาติที่กำลังถูกสอบสวนอยู่มีทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ คาดว่าจะประกาศผลการสอบสวนเบื้องต้นให้ทราบทั่วหน้ากันในวันที่ 29 ธันวาคมนี้

นอกจากนี้ยังมีกรณีลงโทษด้วยการตัดสิทธิพิเศษทางการค้ากับประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชาหรือไทย ซึ่งเพิ่งจะโดนสำนักผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) กับสินค้าไทย 231 รายเป็นครั้งที่ 2 คิดเป็นมูลค่า 601 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2021

ท่าทีที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อเวียดนามและนานาประเทศในภูมิภาคอาเซียน สร้างความสับสนที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่าอาจจะกระเทือนกลยุทธ์รุกอาเซียนของสหรัฐฯ เพื่อหวังใช้คานอำนาจทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจกับพญามังกรแห่งเอเชีย

อีกทั้งยังขัดแย้งกับจุดยืนของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกตัวว่าต้องการส่งเสริมความหลากหลายในระดับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มากขึ้นนอกเหนือไปจากจีน

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป แม้หลายประเทศจะยินยอมและพร้อมให้ความร่วมมือกับทางสหรัฐฯ แต่ความเชื่อมั่นไว้ใจที่มีต่อสหรัฐฯ ย่อมไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรที่สหรัฐฯ จะใช้ประเด็นทางกฎหมายเข้ามาจัดการแก้ไขความเสียเปรียบของตนโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้กระทำการใดๆ เลย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X