โฆษกรัฐบาลเผย เอกชนสหรัฐอเมริกาสนใจลงทุนตั้งโรงงานชิปในไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมจับมือตั้งคณะทำงานร่วมเจรจาการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทย
วันที่ 17 มีนาคม 2567 ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลงานของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการนำเสนอข้อมูลความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้แก่ผู้นำรัฐบาลและภาคเอกชนในเวทีต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- แซม อัลต์แมน ซีอีโอ OpenAI เตรียมแผนระดมทุนมากถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ ผุดโครงการชิป AI ชิงส่วนแบ่งตลาด
โดยล่าสุดนักธุรกิจหลายรายที่เป็นสมาชิกของสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) ซึ่งได้เดินทางมาเยือนไทย พร้อมกับ จีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้แสดงความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งไทยและสหรัฐฯ ต่างเห็นพ้องกันที่จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป
สำหรับความต้องการใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์นั้นเพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยการเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยภาคเอกชนสหรัฐฯ มองว่าไทยเป็นประเทศทางเลือกอันดับแรกๆ ที่อยู่ในการพิจารณาเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยไทยมีศักยภาพ ความได้เปรียบเรื่องทำเล และไม่อยู่ในความขัดแย้ง
ประกอบกับนายกฯ มีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการดำเนินธุรกิจสีเขียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND สนับสนุนอุตสาหกรรม 8 ด้านในไทย สอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐฯ เชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือในด้านการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะเป็นการช่วยพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และขยายห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทยได้
“การตั้งคณะทำงานร่วมไทย-สหรัฐฯ เพื่อเจรจาเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทย เป็นอีกตัวอย่างของความสำเร็จของนายกฯ และรัฐบาล ในการดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศ ผ่านการสร้างการรับรู้ให้นานาชาติ และดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน เชื่อมั่นว่าความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย รวมถึงต่อยอดไปสู่การร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต ทำให้เกิดเม็ดเงินไหลเข้าสู่เศรษฐกิจไทย รวมถึงช่วยยกระดับทักษะฝีมือแรงงานคนไทย ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันไทยได้อีกมากในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง” ชัยกล่าว