×

ความหวังจบสงครามการค้า? จับตาสหรัฐฯ เตรียมคุยจีน กับ 5 ประเด็นที่ควรรู้

09.05.2025
  • LOADING...
us-china-trade-talks-2025

ผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ และจีนเตรียมพบกันที่สวิตเซอร์แลนด์ในช่วงสัปดาห์นี้ เพื่อร่วมโต๊ะเจรจาเกี่ยวกับนโยบายภาษีที่กำลังสร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดการค้าโลก โดยฝ่ายสหรัฐฯ จะส่ง สก็อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ เจมิสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เข้าร่วมเจรจา ในขณะที่ฝ่ายจีนส่ง เหอลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำคณะเจรจา

 

การพบกันดังกล่าวจะเป็นการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มต้นขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามด้วยการประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 2 เมษายน ซึ่งสินค้านำเข้าจากจีน ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีสูงถึง 145% ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งตอบโต้แบบไม่ยอมอ่อนข้อ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รวม 125% 

 

ล่าสุดทรัมป์แสดงท่าทีว่าเขามีความคาดหวังว่าการเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นไปในลักษณะที่ ‘มีเนื้อหาสาระ’ และ ‘เป็นมิตร’ และชี้ว่าภาษีนำเข้าที่ถูกปรับขึ้นนั้นควรที่จะลดลง

 

“คุณไม่สามารถขึ้นไปสูงกว่านี้ได้อีกแล้ว มันอยู่ที่ 145 ดังนั้นเราจึงรู้ว่ามันจะต้องลดลง” ทรัมป์กล่าวกับนักข่าว 

 

ท่าทีของทรัมป์เป็นสัญญาณว่าข้อตกลงการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ใกล้จะเกิดขึ้นแล้วใช่หรือไม่? สงครามภาษีและสงครามการค้าจะคลี่คลายได้จริง หรือแท้ที่จริงแล้วยังอีกยาวไกลกว่าที่ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุดีลเพื่อลดภาษีลง

 

และนี่คือ 5 ประเด็นที่ควรรู้จากการคุยกันของ 2 มหาอำนาจที่จะเกิดขึ้น

 

ทำไมสหรัฐฯ พยายามคลายความตึงเครียดกับจีนตอนนี้?

 

ทรัมป์เผชิญกับปฏิกิริยาทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงและมีสัญญาณน่ากังวลขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ประกาศเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ กับจีนและประเทศอื่นๆ อีกมากมาย

 

สัญญาณที่น่ากังวลแรก คือตลาดการเงินของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีการเทขายหุ้น พันธบัตร และเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ในปริมาณมากผิดปกติ ในขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสินทรัพย์ของสหรัฐฯ เริ่มสั่นคลอน

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ หันหัวกลับมาบวกอีกครั้ง หลังทรัมป์เปลี่ยนใจ ระงับการขึ้นภาษีแก่ประเทศส่วนใหญ่ ยกเว้นจีน เป็นเวลา 90 วัน ขณะที่หลายธนาคารและสถาบันการเงินสหรัฐฯ เตือนว่านโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ โดยปัจจุบัน JP Morgan คาดการณ์ว่า มีโอกาสสูงถึง 60% เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ประมาณการไว้ 40%

 

ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเริ่มฟื้นตัว แต่ปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ กลับร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ซื้อชาวอเมริกันหยุดรับออร์เดอร์ โดยผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น Walmart เตือนในการประชุมกับทรัมป์ว่าอาจเกิดปัญหาสินค้าขาดแคลนและมีราคาพุ่งสูงขึ้น 

 

ทางด้านจีนก็ยังคงยืนหยัดท่าทีพร้อมสู้นโยบายภาษีของสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์บางคนมองว่า จีนพยายามบีบให้ทรัมป์ แก้ไขแผนที่ผิดพลาดของตนเอง

 

เกา เจี้ยน นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยการศึกษานานาชาติเซี่ยงไฮ้ (Shanghai International Studies University) กล่าวว่า “จนถึงขณะนี้นโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ต่อจีนทั้งหมดยังคงล้มเหลวที่จะบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ตามที่วางแผนไว้” 

 

ขณะที่เขาชี้ว่า การกลับมาร่วมมือทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อีกครั้งในตอนนี้ จะเอื้อต่อการทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมามีความมั่นคง และยังสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนด้วย

 

สหรัฐฯ-จีน จะลดภาษีเมื่อไหร่และมากน้อยแค่ไหน?

 

แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ จะแสดงท่าทีว่าสหรัฐฯ​ และจีน น่าจะมีการลดระดับความตึงเครียดลงในอนาคตอันใกล้ แต่บรรดานักวิเคราะห์ยังคงเตือนว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อบรรลุดีลการค้าของทั้งสองประเทศ อาจต้องใช้เวลา ‘อีกนาน’

 

สตีเฟน โอลสัน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ กล่าวว่า การเจรจาที่จะเกิดขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้นของการพูดคุยที่ยืดเยื้อและยากลำบากระหว่างสหรัฐฯ และจีน

 

ในแง่หนึ่ง ทั้งสองฝ่ายยังแสดงท่าทีประนีประนอมกันอยู่บ้าง เช่น จีนมีการรวบรวมรายชื่อสินค้าของสหรัฐฯ ตั้งแต่ชิปเซ็ต ไปจนถึงยาและเครื่องยนต์เครื่องบิน ที่จะไม่โดนเรียกเก็บภาษี 125% สอดคล้องกับที่สหรัฐฯ ยกเว้นภาษี 145% ให้กับสมาร์ทโฟนและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์บางส่วนจากจีน

 

ด้าน Michael Hirson และ Houze Song จาก 22V Research บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนในนิวยอร์ก มองว่า หากทรัมป์ยินดียกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขสำคัญ รัฐบาลจีนก็จะมีท่าทีตอบกลับ แต่ในอีกทางหนึ่ง จีนอาจยอมรอหากสหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนยอมเป็นฝ่ายประนีประนอมก่อน

 

แต่หากทั้งสองฝ่ายไม่ยอมลดราวาศอก พวกเขาอาจยึดมั่นกับการใช้มาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าที่สูงลิ่วเพื่อจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ Hirson และ Song กล่าวเสริม 

 

“มันอาจจะส่งผลให้การรอคอยเพื่อยกเลิกภาษีตอบโต้ในวงกว้างนั้นยาวนานขึ้น และน่าจะหมายถึงการตอบโต้กันอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการที่ไม่ใช่การขึ้นภาษีนำเข้า เช่น การควบคุมการส่งออก”

 

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนมีความหวังว่าจะเกิดการลดภาษีนำเข้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มต้นขึ้น

 

“เราเชื่อว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนต้องการข้อตกลงที่ครอบคลุม” Chetan Ahya หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียของ Morgan Stanley กล่าว และยอมรับว่าการเจรจาน่าจะซับซ้อนและต้องใช้เวลา

 

ขณะที่เขามองว่ามีความเป็นไปได้ที่สหรัฐอาจลดภาษีนำเข้าจากจีนลงเหลือ 60% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ก่อนจะลดลงอีกเหลือ 34% ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งสะท้อนถึงการยกเลิกภาษีนำเข้า 20% ที่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดเฟนทานิล 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการลดภาษีเกิดขึ้นจริง แต่อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนก็ยังคงสูงกว่าอัตราภาษีตอบโต้พื้นฐาน 10% ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บกับประเทศอื่นๆ ซึ่งยังเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

 

จีน-สหรัฐฯ มีดีลใหญ่อยู่บนโต๊ะเจรจาหรือไม่?

 

นับตั้งแต่ช่วงหาเสียง​ หลายคนมองว่าทรัมป์อาจมีท่าทีพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ด้วยข้อตกลงทางการค้าที่ครอบคลุม เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและแตกต่างของทั้งสองประเทศ

 

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ท่าทีดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในขณะนี้ โดยการหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น ความตึงเครียดเกี่ยวกับไต้หวัน หรือการที่รัฐบาลทรัมป์พยายามถอดหุ้นจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ อาจเป็นเรื่องที่ไม่อยู่บนโต๊ะเจรจา

 

อาร์เธอร์ โครเบอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทวิจัย Gavekal Dragonomics  มองว่าข้อตกลงที่มีความสำคัญใดๆ ก็ตาม จะต้องให้วอชิงตันยกเลิกข้อจำกัดที่บริษัทจีน จะเข้าถึงธุรกิจและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และอนุญาตให้บริษัทเหล่านี้ลงทุนในสหรัฐฯ ได้ในสเกลขนาดใหญ่

 

เขามองว่าสหรัฐฯ และจีนอาจบรรลุข้อตกลง ‘เพียงผิวเผิน’ โดยที่ทั้งสองฝ่ายได้รับการลดภาษีศุลกากรเพื่อแลกกับการค้าในบางประเภท

 

อุปสรรคใหญ่ที่สุดของดีลนี้คืออะไร?

 

ผู้สังเกตการณ์หลายคนเชื่อว่า จีนยังคงไม่แน่ใจว่ารัฐบาลทรัมป์ต้องการอะไรจริงๆ และพวกเขาสามารถเสนออะไรตอบแทนได้บ้าง

 

เบิร์ต ฮอฟแมน (Bert Hofman) ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (East Asian Institute at the National University of Singapore) กล่าวว่าการได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับวาระของสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียวก็จะเป็นผลในแง่บวกแล้วสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง

 

ขณะที่รัฐบาลทรัมป์ได้เสนอเป้าหมายต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การแยกห่วงโซ่อุปทานจากจีนอย่างสมบูรณ์ ไปจนถึงการสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่นๆ เพื่อต่อต้านจีน และการยุติการขาดดุลการค้าทวิภาคี

 

ทั้งนี้ ก่อนการเจรจาที่สวิตเซอร์แลนด์ เบสเซนต์กล่าวว่า สหรัฐฯ และจีนมี “ผลประโยชน์ร่วมกัน” และสหรัฐฯ ไม่ได้พยายามที่จะแยกห่วงโซ่อุปทานจากจีน 

 

“สิ่งที่เราต้องการคือการค้าที่เป็นธรรม” เขากล่าว

 

โดยนักวิเคราะห์ตั้งคำถามว่าทรัมป์ให้อำนาจแก่เบสเซนต์และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในการเจรจาเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการค้าครั้งนี้มากเพียงใด 

 

ขณะที่นักวิเคราะห์บางราย กล่าวว่าความไม่ไว้วางใจและความต้องการที่ไม่สอดคล้องกันของทั้งสองประเทศจะปิดกั้นทางออกในการเจรจา

 

นอกจากนี้ ผู้แทนของสหรัฐฯ ยังอาจแตะประเด็นที่บางอย่างที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนสำหรับจีน โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์กล่าวในรายการวิทยุว่าเขาตั้งใจที่จะหยิบยกกรณีของ จิมมี่ ไล เจ้าพ่อสื่อฮ่องกงที่ถูกจำคุก มา ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ ของการเจรจาการค้า 

 

“ผมคิดว่าการพูดถึง จิมมี่ ไล เป็นความคิดที่ดีมาก” ทรัมป์กล่าว ซึ่งเขาเคยอ้างในอดีตว่า สามารถช่วยให้ไลออกจากคุกได้ 100%

 

ดีลไม่ได้ สงครามการค้าไม่หยุด โลกจะเป็นอย่างไร?

 

สำหรับคำถามที่ว่าหากการเจรจาไม่บรรลุเป้าจะเกิดอะไรขึ้น นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะช็อก หากสหรัฐฯ และจีนยังคงใช้มาตรการภาษีศุลกากรที่เข้มงวด

 

ขณะที่องค์การการค้าโลก (WTO) เตือนเมื่อเดือนเมษายน ว่าหากการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ด้วยมาตรการกำแพงภาษียังคงดำเนินต่อไป อาจส่งผลให้การค้าทั่วโลกหดตัวลงถึง 1.5% 

 

โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังได้ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ลงเหลือ 2.8% ลดลงจากเมื่อเดือนมกราคมซึ่งอยู่ที่ 3.3%

 

สำหรับชาวอเมริกัน คาดว่าผลกระทบที่รุนแรงคือสินค้าขาดแคลนและมีราคาพุ่งสูงขึ้น ส่วนจีน คาดว่าสินค้าส่วนเกินที่เดิมทีมีเป้าหมายส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะต้องถูกนำมาขายในประเทศ หรือส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์เงินฝืดในจีนยิ่งเลวร้ายลง

 

ด้านโครเบอร์ กล่าวว่า “ในทางการเมือง จีนจะจัดการภาวะเงินฝืดได้ง่ายกว่าที่สหรัฐฯ จะจัดการภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ”

 

โดยภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน จะเป็นข่าวร้ายสำหรับหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา ที่ต้องพึ่งพาอุปสงค์จากสหรัฐฯ รวมถึงวัตถุดิบที่ส่งมาจากจีน ซึ่งหมายความว่าทั้งสองประเทศ ติดอยู่ในสถานการณ์ที่ ‘ยากลำบาก’

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising