จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ แถลงต่อสื่อที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ (6 กันยายน) โดยประกาศว่าบริษัทเทคของสหรัฐฯ ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง จะถูกห้ามไม่ให้สร้างโรงงานหรือสถานที่ซึ่งมีเทคโนโลยีขั้นสูงหรือในระดับแนวหน้าในประเทศจีนเป็นระยะเวลา 10 ปี
แนวทางปฏิบัติดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนขยายอุตสาหกรรมการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ภายในสหรัฐฯ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์
ขณะที่หลายกลุ่มธุรกิจในสหรัฐฯ ผลักดันให้รัฐบาลเพิ่มการสนับสนุนให้มากขึ้น ท่ามกลางความพยายามลดการพึ่งพาจีน ในภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนไมโครชิป เนื่องจากการผลิตที่ชะลอตัวลง
“เรากำลังจะใช้รั้วกั้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ได้รับทุนจาก CHIPS (กฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์) ไม่สามารถประนีประนอมเรื่องความมั่นคงของชาติ พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เงินนี้เพื่อลงทุนในจีน พวกเขาไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำในจีนได้เป็นระยะเวลา 10 ปี” ไรมอนโดกล่าว พร้อมเผยว่าบริษัทที่ได้รับเงินทุนจาก CHIPS สามารถขยายโรงงานสาขาในจีนที่มีการกำหนดไว้ เพื่อรองรับตลาดภายในจีนเท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรัฐบาลจีน ยังคงเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดจากความขัดแย้งด้านการค้าและเทคโนโลยี
โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไบเดนได้ลงนามกฎหมาย ทุ่มงบประมาณ 2.8 แสนล้านดอลลาร์ไปกับการลงทุนผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีล้ำสมัยและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ท่ามกลางความกังวลว่าสหรัฐฯ จะสูญเสียความได้เปรียบทางเทคโนโลยีให้แก่จีน ซึ่งการลงทุนดังกล่าวยังรวมถึงการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทที่สร้างโรงงานผลิตชิปคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ
สำหรับชิปเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในหลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 10% ของอุปทานทั่วโลก โดยลดลงจากปี 1990 เกือบ 40%
ขณะที่ผู้ผลิตชิปในสหรัฐฯ บางรายได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลวอชิงตัน โดยช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา NVIDIA และ AMD ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้หยุดการขายชิป AI ให้แก่จีน ซึ่งถือเป็นข้อห้ามที่รุนแรง
ภาพ: Kevin Dietsch / Getty Images
อ้างอิง: