การประชุม Shangri-La Dialogue เปิดฉากที่สิงคโปร์ในวันนี้ (2 มิถุนายน) เป็นที่คาดหมายว่าอาจปกคลุมด้วยสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หลังจากจีนปฏิเสธคำเชิญของสหรัฐฯ ที่เสนอให้มีการพบปะหารือระดับทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของสองประเทศ
Shangri-La Dialogue ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายนนี้ เป็นการประชุมด้านความมั่นคงระดับสูงของเอเชีย โดยมีเจ้าหน้าที่กลาโหมระดับสูง นายทหารระดับสูง นักการทูต ผู้ผลิตอาวุธ และนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจากทั่วโลกมารวมตัวกัน สำหรับในปีนี้จะมีผู้แทนมากกว่า 600 คนจาก 49 ประเทศเข้าร่วมการประชุม และนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบาเนซี ของออสเตรเลีย จะกล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดการประชุม
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การประชุมนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ฝ่ายทหารของประเทศต่างๆ จะได้พบปะหารือ จัดการประชุมระดับทวิภาคีและพหุภาคีนอกรอบการประชุมใหญ่ รวมถึงเป็นเวทีให้รัฐมนตรีกลาโหมของหลายชาติได้กล่าวสุนทรพจน์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 พฤษภาคม) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน เปิดเผยว่า จีนปฏิเสธคำเชิญของรัฐมนตรีลอยด์ ออสติน ที่จะหารือกับ หลี่ซ่างฝู รัฐมนตรีกลาโหมของจีน ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งนับเป็นสัญญาณความตึงเครียดรอบใหม่ระหว่างสองประเทศ
โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีนกล่าวในการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างกองทัพทั้งสองดำเนินอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวสำหรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“ในแง่หนึ่ง สหรัฐฯ พูดเสมอว่าต้องการเสริมสร้างการสื่อสารระหว่างสองฝ่ายให้แข็งแกร่งขึ้น แต่อีกด้านกลับเพิกเฉยต่อข้อกังวลของจีน และสร้างอุปสรรคปลอมๆ ขึ้นมาบ่อนทำลายความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างกองทัพของสองชาติอย่างร้ายแรง” โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนกล่าวโดยไม่บอกว่าอุปสรรคที่ว่านั้นคืออะไร
ด้านออสตินกล่าวที่กรุงโตเกียวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (1 มิถุนายน) ว่า “น่าเสียดาย” ที่การประชุมทวิภาคีกับรัฐมนตรีกลาโหมของจีนจะไม่เกิดขึ้น
“ผมยินดีเปิดรับทุกโอกาสที่จะได้มีส่วนร่วมกับหลี่” ออสตินกล่าว “ผมคิดว่ากระทรวงกลาโหมควรพูดคุยกันเป็นประจำ หรือควรมีช่องทางที่เปิดกว้างสำหรับการสื่อสาร”
นอกจากความสัมพันธ์ตึงเครียดของสองชาติมหาอำนาจแล้ว นักวิเคราะห์มองว่า สงครามของรัสเซียในยูเครน ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน และโครงการอาวุธของเกาหลีเหนือ จะเป็นประเด็นที่ผู้แทนเจรจาหลายคนหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมประจำปีนี้ อย่างไรก็ตาม จะไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลรัสเซียหรือเกาหลีเหนือเข้าร่วม
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จับตาบทบาทของ หลี่ซ่างฝู รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของจีนในการประชุมเวทีนี้ โดยหลี่ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นอดีตนายพลแห่งกองทัพปลดแอกประชาชน เขามีบทบาทสำคัญต่อการยกระดับพัฒนากองทัพจีนสู่ความทันสมัย หลี่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรมาตั้งแต่ปี 2018 กรณีการจัดซื้ออาวุธจากรัสเซีย
ภาพ: Reuters
อ้างอิง: