Bloomberg รายงานว่า จอห์น แคร์รี ทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พบปะและหารือกับทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของจีนที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างที่แคร์รีเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ โดยทูตพิเศษสหรัฐฯ ย้ำชัดว่า ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ไขได้โดยปราศจากการร่วมมือทำงานกันทั้งสองประเทศ
การประชุมดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงจีนและสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนจัด ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ต้องออกประกาศเตือนชาวอเมริกันราว 84 ล้านคน เกี่ยวกับสภาพอากาศร้อน ขณะที่ภูมิภาคซินเจียงของจีนมีอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยแคร์รีกล่าวว่า นานาประเทศต่างจับตามองการประชุมครั้งนี้ เพื่อดูว่าสหรัฐฯ กับจีนจะสามารถก้าวข้ามความแตกต่างที่แท้จริงที่ต่างฝ่ายต่างมีได้หรือไม่
รายงานระบุว่า การพูดคุยทั้ง 3 วันดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อปูทางไปสู่ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นนักระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเต็มไปด้วยประเด็นขัดแย้งเรื่องสิทธิมนุษยชน การควบคุมการค้า และไต้หวัน โดยการเยือนจีนของแคร์รีในครั้งนี้ยังมีขึ้นหลังจากที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางมายังจีนในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 กรกฎาคม) ทาง เซี่ยเจิ้นหัว ทูตพิเศษจีนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า การพูดคุยครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่จีนกับสหรัฐฯ จะได้หารือถึงผลลัพธ์ร่วมกัน ถือเป็นการหารือแบบตัวต่อตัวเป็นครั้งแรกของทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก หลังจากที่เว้นว่างไปเกือบ 1 ปี
ทั้งนี้ จีนและสหรัฐฯ ต่างขึ้นแท่นเป็นชาติที่มีการปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งประเด็นหารือหลักน่าจะเป็นการผลักดันให้จีนลดการพึ่งพาการใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลัก รวมถึงการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการก่อปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพอากาศผิดธรรมชาติ โดยจีนในขณะนี้ถือเป็นประเทศผู้ผลิตและใช้ถ่านหินมากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ แต่จีนก็เดินหน้าพัฒนาและแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยจีนตั้งเป้าคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2060 แต่สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปต่างเรียกร้องให้จีนตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ด้านแคร์รีกล่าวกับทางคณะกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก่อนการเยือนจีนว่า เป้าหมายของคณะทำงานสหรัฐฯ กับจีนในตอนนี้ คือการ ‘รักษาเสถียรภาพด้านความสัมพันธ์ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นได้ และกล่าวว่า สิ่งที่สหรัฐฯ กำลังพยายามทำอยู่คือการหาหนทางที่ทั้งสองประเทศจะสามารถร่วมมือในการแก้ไขวิกฤตด้านสภาพอากาศ และจีนจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการแก้ปัญหานี้
ทอม วูดรูฟ ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้ง China Climate Hub ของ Asia Society กล่าวว่า ผลลัพธ์ในเชิงบวกจากการเจรจาคราวนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนตกอยู่ในความตึงเครียดมากขึ้น อีกทั้งยังถือเป็นสัญญาณบวกในการเปิดให้ทั้งสองประเทศขยายผลไปสู่การพูดคุยประเด็นความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไป
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า การหารือระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะกระตุ้นแรงผลักดันในการเจรจาเรื่องสภาพอากาศโลกในช่วง 4 เดือนก่อนจะมีการประชุม COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เดวิด วาสโค ผู้อำนวยการของ World Resources Institute’s International Climate Initiative กล่าวว่า กระบวนการพหุภาคีเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเมื่อทั้งสองกำลังพูดคุยและหาแนวทางใหม่ๆ ในการปรับแนวร่วมและขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมไปข้างหน้า ขณะที่สำนักข่าวซินหัวออกรายงานเชิงวิเคราะห์ชี้ว่า ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ครั้งนี้ อย่างน้อยก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการป้องกันความผิดพลาดและขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทวิภาคีให้กลับเข้าที่เข้าทาง
อ้างอิง: