×

สหรัฐฯ vs. จีน ความสัมพันธ์ที่ส่อเค้าวุ่นกว่าเดิมในปี 2024

โดย THE STANDARD TEAM
31.12.2023
  • LOADING...

ภาพการจับมือพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้มของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ในการพบปะหารือครั้งประวัติศาสตร์ที่นครซานฟรานซิสโกเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ถือเป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนถึงความปรารถนาของผู้นำชาติมหาอำนาจทั้งสองในการที่จะยุติรอยร้าวในความสัมพันธ์ไม่ให้บาดลึกลงไปอีก หลังจากฮึ่มๆ กันมาตลอด 1 ปี ท่ามกลางประเด็นขัดแย้งสารพัน ตั้งแต่กรณีการยิงบอลลูนจีนที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็นบอลลูนสอดแนม การควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ ไปจนถึงการแข่งขันทางทหารที่แข็งกร้าว

 

แต่ที่ว่ามาทั้งหมดอาจเป็นแค่การโหมโรงเท่านั้น เพราะนักวิเคราะห์มองว่า ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีนในปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะมาพร้อมความปั่นป่วนวุ่นวายยิ่งกว่าเดิม ด้วยความขัดแย้งระลอกใหม่ที่มีปัจจัยกระตุ้นเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันและสหรัฐอเมริกา และต้องไม่ลืมด้วยว่า การต่อสู้ทางการค้าที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องก็จะดำเนินต่อไป จนทำให้ความสัมพันธ์ที่ดูท่าจะกระเตื้องขึ้นช่วงปลายปีที่ผ่านมา อาจมีอันต้องสะดุดลงอีกครั้งในปีใหม่นี้

 

ความขัดแย้งข้ามช่องแคบไต้หวัน

 

บททดสอบความสัมพันธ์มาเยือนตั้งแต่เปิดปีใหม่ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ประเดิมด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติของไต้หวันในวันที่ 13 มกราคม ซึ่งทั่วโลกจับตาปฏิกิริยาของจีน โดยเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นขึ้นอยู่กับท่าทีของจีนต่อการเลือกตั้งดังกล่าว

 

วิลเลียม ไล หรือไล่ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) รองประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีไต้หวัน และเซียวเหม่ยฉิน (Hsiao Bi-khim) คู่ชิงรองประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) เป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่จีนกล่าวหาสองคนนี้ว่าร่วมกันกระทำการเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช และปฏิเสธข้อเสนอของไล่ชิงเต๋อที่จะขอเจรจากับปักกิ่ง

 

การเลือกตั้งของไต้หวันในอดีตที่ผ่านมาเคยเป็นชนวนเหตุให้สหรัฐฯ กับจีนขัดแย้งกันอย่างรุนแรงมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1996 เมื่อจีนซ้อมรบและทดสอบขีปนาวุธก่อนการลงคะแนนเสียง ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวกระตุ้นให้สหรัฐฯ ส่งกองกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินไปยังช่องแคบไต้หวันเพื่อปกป้องไต้หวัน 

 

มาถึงคราวนี้ ยังไม่ทันไร ปักกิ่งก็ออกมาแสดงท่าทีกดดันแล้ว โดยระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกระหว่าง ‘สันติภาพกับสงคราม’ พร้อมกับเรียกพรรครัฐบาลของไต้หวันว่าเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เป็นอันตราย และเรียกร้องให้ชาวไต้หวันตัดสินใจเลือก ‘ทางเลือกที่ถูกต้อง’

 

ที่ผ่านมาไต้หวันได้เฝ้าระวังกิจกรรมของจีนทั้งทางการทหารและการเมืองก่อนการเลือกตั้ง แม้จะมีนักวิเคราะห์บางคนมองในแง่ดีว่า สีจิ้นผิงอาจไม่ตอบสนองรุนแรงอย่างที่หวั่นเกรง หากไล่ชิงเต๋อชนะ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

 

การกลับมาของทรัมป์?

 

หากคิดว่าการเลือกตั้งไต้หวันน่าหวั่นใจแล้ว นักวิเคราะห์เตือนว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะยิ่งแล้วกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากตัวผู้สมัครที่หากไม่มีอะไรผิดพลาด หรือมีเรื่องเซอร์ไพรส์ในนาทีสุดท้าย ก็คาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการรีแมตช์ระหว่างไบเดนกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 

 

เชื่อแน่ว่านโยบายที่เกี่ยวกับจีนจะกลายเป็นประเด็นที่บรรดาผู้สมัครนำมาโต้กันอย่างเผ็ดร้อนในช่วงของการหาเสียง แต่เรื่องที่จีนและสีจิ้นผิงสนใจมากกว่าเรื่องอื่นใดคือ ทรัมป์จะได้กลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งหรือไม่?

 

“เมื่อพูดถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีหน้า สิ่งที่จะเป็นฝันร้ายที่สุดสำหรับจีนก็คือ ทรัมป์กลับมา” หยุนซุน ผู้อำนวยการ Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว

 

ความสัมพันธ์อันตึงเครียดในปัจจุบันระหว่างสหรัฐฯ-จีน เริ่มมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก่อนที่จะมาพีคสุดในสมัยของทรัมป์ ซึ่งประกาศทำสงครามการค้ากับจีนแบบไม่สงวนท่าที เรื่อยไปจนถึงการกล่าวหาเรื่องต้นกำเนิดของโควิด-19 และความขัดแย้งครั้งใหม่เกี่ยวกับสถานะของไต้หวัน

 

หากมองในแง่หนึ่ง การกลับมาของทรัมป์อาจเป็นประโยชน์สำหรับจีนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยในสมัยของไบเดนนั้น สหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันต่อปักกิ่งอย่างเจนจัด ทั้งการคงอัตราภาษีศุลกากรที่บังคับใช้มาตั้งแต่สมัยของทรัมป์ การยกระดับการควบคุมการส่งออก และการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรให้แน่นแฟ้นขึ้น 

 

แต่หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี จีนก็อาจได้ประโยชน์ เพราะนโยบาย America First ของทรัมป์อาจทำให้ความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรถดถอยลง และจะทำให้จีนไม่ถูกอำนาจหรืออิทธิพลของอเมริกาครอบงำอย่างที่ปรากฏในสมัยของไบเดน 

 

อย่างไรก็ดี ซุนกล่าวว่า แม้จะไม่พอใจกับไบเดนเท่าไรนัก แต่อย่างน้อยไบเดนก็เป็นผู้นำที่เล่นตามกฎ ต่างกับทรัมป์ที่คาดเดาอะไรไม่ได้เลย

 

สงครามชิป

 

การควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดตกไปอยู่ในมือของจีนนั้นมีแนวโน้มว่าจะเข้มข้นขึ้นอีกในปีหน้า

 

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศยกระดับการควบคุมด้วยการหยุดส่งออกชิประดับไฮเอนด์เพิ่มเติม และเผยว่าจะมีการทบทวนมาตรการจำกัดการส่งออกเหล่านี้อีกครั้งในปี 2024 โดย จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า อาจจะมีการอัปเดต ‘อย่างน้อยปีละครั้ง’

 

ในขณะที่ยังคงมีการถกเถียงกันว่าการควบคุมการส่งออกเพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีไปถึงมือจีนนั้นได้ผลมากน้อยเพียงใด ทางฝั่งปักกิ่งก็ไม่ได้อยู่เฉยยอมถูกกระทำอยู่เพียงฝ่ายเดียว โดยจีนได้ออกโรงตอบโต้ด้วยการประกาศข้อจำกัดต่างๆ  เช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ทำอย่างผลีผลามเสียทีเดียว เพราะการตอบโต้ธุรกิจของสหรัฐฯ อาจหมายถึงการขับไล่ทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปักกิ่งไม่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจของประเทศซบเซาเช่นนี้

 

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ปักกิ่งได้เปรียบคือ การเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกแร่โลหะหายากรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งจีนก็ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบนั้นด้วยการจำกัดการส่งออกแกลเลียมและเจอร์เมเนียม โดยมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกจับตาและสร้างความวิตกกังวลให้กับหลายประเทศทั่วโลกไม่เฉพาะเพียงสหรัฐฯ เนื่องจากแกลเลียมและเจอร์เมเนียมเป็นสินแร่หายาก และเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเปรียบเสมือนมันสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ

 

นักวิเคราะห์มองว่า ความตึงเครียดอันเนื่องมาจากนโยบายของสหรัฐฯ จะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2024 ดังเห็นได้จากการที่ทางการสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าปราบปรามการกระทำที่ละเมิดข้อจำกัดการส่งออก โดยฝ่ายบริหารของไบเดนได้เปิดตัวคณะทำงานเฉพาะกิจในปี 2023 เพื่อตอบโต้ความพยายามในการได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหวของสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย

 

แมทธิว เอส. แอ็กเซลร็อด ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายด้านการส่งออก เปิดเผยกับ Reuters ว่า กระทรวงอยู่ระหว่างการตรวจสอบการละเมิดที่เกี่ยวกับการส่งออกเทคโนโลยีไปยังประเทศจีน และ “เราคาดว่าการดำเนินการเหล่านั้นจะส่งผลให้เกิดการควบคุมการส่งออกที่สำคัญในปี 2024” 

 

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ความพยายามของสองผู้นำที่จะเยียวยาความสัมพันธ์ของสองประเทศนั้นจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หรือจะจอดป้ายเพียงแค่ต้นปี

 

ภาพ: Andy.LIU via Shutterstock, Lauren DeCicca / Scott Olson / Getty Images / Getty Images / Jacquelyn Martin – Pool / Getty Images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising