×

สหรัฐฯ-จีน กับสงครามเย็นครั้งใหม่ SCB CIO แนะถือหุ้นสั้นลง ลงทุนทองคำ ระยะยาวลงทุนในจีนยังน่าสนใจ

โดย THE STANDARD TEAM
23.06.2020
  • LOADING...

SCB Chief Investment Office หรือ SCB CIO ออกบทความวิเคราะห์เรื่อง สหรัฐฯ-จีน กับสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 Trade war, Tech war and Cold war เขียนโดย ศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด โดยระบุว่า จากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจแต่ละประเทศได้รับผลกระทบอย่างสาหัส เป็นผลให้รัฐบาลและธนาคารต่างๆ ทั่วโลกต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ทั้งลดดอกเบี้ยนโยบาย การพิมพ์เงินเข้ามาพยุงตลาดสารหนี้และตลาดหุ้น เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบกับภาคประชาชนและธุรกิจ 

 

จากมาตรการผ่อนคลายการเงิน ทำให้นักลงทุนมั่นใจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีสภาพคล่องล้นระบบกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้น จนทำให้ตลาดฟื้นกลับขึ้นมามากเกินกว่าครึ่งทางที่เคยลดลงไปแล้ว ตัวเลข GDP ของโลกที่เคยคาดการณ์กันไว้ว่าจะลดลง -3% ปัจจุบัน มองเห็นเหลือตัวเลข -1.5% และในบางประเทศอาจเห็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ เช่น ประเทศจีนที่ยังคาดว่า GDP น่าจะเป็นบวกได้ สำหรับประเทศไทยเราเคยคาดการณ์ว่า GDP จะลดลงถึง -5 ถึง -6% แต่ประมาณการปัจจุบันลดลงเพียง -2%

 

ขณะที่วิกฤตโควิด-19 ยังไม่ได้ผ่านพ้นไป เพราะยังมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 8 ล้านคน และมีการประท้วงในหลายพื้นที่ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอก 2 ในช่วงฤดูหนาวปีนี้อีกด้วย ก็มีอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ ความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่มีแนวโน้มกลับมาปะทุอีกครั้ง และเร็วกว่าที่คาดกันไว้ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าโควิด-19 มีต้นกำเนิดมาจากจีน การสนับสนุนฮ่องกงโดยผ่านร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง ซึ่งไม่จบลงเพียงแค่การเป็น Trade War แต่อาจลุกลามเป็นสงครามเย็นที่กินระยะเวลานานหลายสิบปี เหมือนสมัยโซเวียตในช่วง 1950-1991 เพราะปัจจุบันนโยบายของทั้งสองประเทศเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าเป็นคู่แข่ง โดยจีนต้องการก้าวขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจผู้นำของโลกเช่นเดียวกับสหรัฐฯ  ในขณะที่ผู้นำโลกคนปัจจุบันอย่างสหรัฐ ย่อมไม่ปล่อยให้คู่แข่งขึ้นมามีอำนาจ และมีผลต่อ International Rule Orders และประโยชน์ของสหรัฐฯ ในเวทีโลกได้ในอนาคต

 

 

โดย SCB CIO ย้อนไปถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สองประเทศนี้ในหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สหรัฐฯ กับจีนมีเศรษฐกิจในลักษณะต่างตอบแทน มีความเกื้อหนุนกัน จนกระทั่งถึงยุคของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่ทำให้จีนมีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ กำลังทหาร การเมืองภายในที่มั่นคงที่สุด ตรงข้ามกับชาติตะวันตกที่ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมีส่วนประคับประคองเศรษฐกิจโลกในเวลาต่อมา ซึ่งนี่เองเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ท่าทีของสหรัฐฯ ที่มองจีนเปลี่ยนจากประเทศที่เกื้อหนุน กลายเป็นคู่แข่งที่ต้องระวัง 

 

 

ในบทความวิเคราะห์ดังกล่าวยังเปรียบเทียบสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ โซเวียต โดยมองว่าปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้โซเวียตแพ้สงครามเย็นเมื่อเทียบกับจีนปัจจุบันจะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์อาจไม่ซ้ำรอยเดิมเสมอไป 

 

ปัจจัยข้อที่ 1 ระบบเศรษฐกิจและรายได้ – รายได้ของโซเวียตนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการส่งออกน้ำมันดิบเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ช่วงปี 1980 ที่เกิดวิกฤตราคาน้ำมันลดจากระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือเพียง 30-40 ดอลลาร์เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทำให้ประเทศรายได้ลดลง ซึ่งแตกต่างกับจีนที่เป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมีรายได้มาจากหลายแห่ง และมียุทธศาสตร์ Made in China 2025 กับ Belt and Road Initiative (BRI) หรือที่รู้จักกันในนามเส้นทางสายไหมที่เป็นแผนระยะยาวเพื่อบรรลุ Chinese Dream ในปี 2049

 

ปัจจัยข้อที่ 2 นโยบายการทำสงคราม – โซเวียตนั้นได้ก่อสงครามหลายแห่ง เช่น สงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน ที่กินระยะเวลายาวนานถึง 9 ปี ส่งผลให้มีรายจ่ายเป็นจำนวนมาก ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันเศรษฐกิจในประเทศจึงตกต่ำ แตกต่างกับจีนที่สร้างประเทศจนแข็งแกร่งก่อน โดยแม้จะมีความขัดแย้งเช่น ทิเบต ซินเจียง เกาะฮ่องกง และสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้มีการใช้กำลังทหารโดยตรงเท่าใดนัก

        

ปัจจัยข้อที่ 3 การควบคุมภายในประเทศ – สหภาพโซเวียตไม่สามารถควบคุมอาณาจักรที่ปกครองได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลให้เมื่อผู้นำหรือประเทศที่เริ่มอ่อนแอลงก็ทำให้เกิดการประท้วงและแยกตัวออกมาจนล่มสลายในท้ายที่สุด

 

จากสงครามการค้าที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่า จีนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แค้นสำคัญของสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถใช้มาตรการอะไรที่รุนแรงโดยตรงมากนัก เพราะสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน โดยสงครามเย็นในรอบนี้จีนคงไม่เพลี่ยงพล้ำซ้ำรอยเดิมเหมือนโซเวียต อีกทั้งสหรัฐฯ ยังมีศัตรูเก่า ทั้งรัสเซีย เกาหลีเหนือ และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง รวมถึงปัญหาภายในประเทศเช่น ปัญหาสีผิวและความไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย

 

จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ทำให้ SCB CIO มองว่าความพยายามของสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นจีนในทุกมิติจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปลายปีนี้ เพราะไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี หากสหรัฐฯ มองว่าตนเองมีภัยคุกคามย่อมไม่สามารถถอยออกมาได้ เพียงแต่ทั้งสองประเทศจะยังไม่เร่งความขัดแย้งให้มากขึ้น เพราะจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจตัวเองให้ได้รับผลกระทบอีก ส่วนกรณีที่แย่ที่สุดคือ หากทรัมป์รู้ตัวว่าเสียคะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้ง ก็อาจจะตัดสินใจชูเรื่องความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น เพื่อพยายามดึงฐานเสียงให้กลับมาก็เป็นได้

 

SCB CIO แนะนำกลยุทธ์ในการลงทุนระยะยาวว่า การลงทุนในตลาดจีนระยะยาว 3-5 ปียังคงมีแนวโน้มที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น รวมถึงการลงทุนระยะยาวในกลุ่ม Thematics เพราะอุตสาหกรรมที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญคือกลุ่มเทคโนโลยี ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ Semiconductor หรือเทคโนโลยีใหม่อย่างรถยนต์ EV และแบตเตอรี่ 

 

อีกสินทรัพย์ที่บทความมองว่าน่าสนใจคือทองคำ โดยชี้ว่าเหมาะกับการถือไว้เพื่อปกป้องอำนาจซื้อของเงินที่ปัจจุบันถูกลดมูลค่าลงด้วยการทำ QE ของรัฐบาลทั่วโลก ซึ่งหากความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังดำเนินต่อไป การลงทุนในทองคำในช่วงเวลานี้ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม 

 

บทความวิเคราะห์ของ SCB CIO ทิ้งท้ายด้วยกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้จนถึงปลายปี 2020 โดยแนะนำให้ปรับกลยุทธ์การถือหุ้นให้สั้นลงเพราะ Valuation ของหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาเยอะแล้วพอสมควรจาก Sentiment ในเชิงบวกของ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเม็ดเงินที่อัดฉีดที่เข้ามาอย่างมหาศาล ดังนั้นแม้ว่าระยะสั้นตลาดยังมีช่องให้ปรับตัวขึ้นได้จากสภาพคล่องหนุน แต่ระดับราคาหุ้น ณ ปัจจุบันยังไม่ได้ Price In เรื่องของความขัดแย้งว่าจะปะทุขึ้นในปีนี้มากนัก หากเกิดขึ้นขายทำกำไรจะทำให้ตลาดปรับฐานลงมาได้พอสมควร ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังมากขึ้น

 

โดยสำหรับหุ้นจีนนั้นแม้จะมีปัจจัยพื้นฐานดีแต่มีความเสี่ยงของการปรับฐาน ดังนั้น SCB CIO จึงแนะนำว่าควรจะรอเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีนเมื่อตลาดย่อตัวลงมา แล้วจึงค่อยกลับเข้าลงทุนใหม่หลังจากตลาดมีการปรับฐาน

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising