×

จับตาความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อีกหนึ่งปัจจัยกำหนดทิศทางราคาทองคำ

01.11.2023
  • LOADING...
พันธบัตรสหรัฐ

ในเดือนตุลาคมนี้ราคาทองคำมีการปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญมาจากแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งนับจากวันนั้นความรุนแรงดังกล่าวยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการยกระดับความรุนแรงและขยายวงกว้างของความขัดแย้งออกไป นักลงทุนจึงมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว

 

หากนับตั้งแต่เกิดการสู้รบดังกล่าว ราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปแล้วกว่า 150 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นราว 8.3% (เทียบราคาปิดระหว่างวันที่ 6 และ 26 ตุลาคม)

 

นอกจากราคาทองคำจะถูกหนุนจากแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยแล้วนั้น ยังมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจากทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ โดยในช่วงการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส พันธบัตรประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอย่างสหรัฐฯ และเยอรมนี ได้รับแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยด้วยเช่นกัน ซึ่งตามกลไกแล้ว แรงซื้อในพันธบัตรที่เพิ่มมากขึ้นนั้นจะกดดันให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรของตราสารปรับตัวลง ด้วยทิศทางเช่นนี้จึงนับเป็นการเพิ่มแรงหนุนต่อราคาทองคำด้วย

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตามความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ในรอบ 3 สัปดาห์ นับตั้งแต่เกิดการสู้รบดังกล่าว กลับพบว่าอัตราผลตอบแทนนั้นยังคงมีทิศทางปรับตัวขึ้น แม้ว่าจะมีการย่อตัวลงมาเคลื่อนไหวในกรอบระดับต่ำลงในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดฉากสู้รบ แต่หลังจากนั้นก็ทำการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จะมีปัจจัยกดดันอย่างแรงซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีเข้ามามากขึ้น แต่ขณะเดียวกันตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาดการณ์ อันเสมือนเป็นการสนับสนุนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินที่อาจเข้มงวดและยาวนานมากยิ่งขึ้น ก็นับเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญของทั้งค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ

 

ถึงกระนั้น เนื่องด้วยในภาวะการสู้รบดังกล่าวทำให้ราคาทองคำไม่ได้อ่อนไหวต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้นดังกล่าวมากนัก สถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเป็นไปในลักษณะที่ราคาทองคำและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ นั้นเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจไม่ได้พบเห็นบ่อยมากนัก

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 3 ของการสู้รบ แม้จะยังมีแนวโน้มยกระดับความรุนแรงและอาจยืดเยื้อต่อไป แต่นักลงทุนมีการลดการตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวลง หลังจากซึมซับกับปัจจัยเชิงลบดังกล่าวมาตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ราคาทองคำจึงได้รับแรงซื้อที่ชะลอตัวลง หรือไม่ได้รับแรงซื้อที่แข็งแกร่งเท่ากับช่วงก่อนหน้า จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในช่วงที่สถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าวยังไม่ได้ทำให้นักลงทุนมีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น ทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ถูกบดบังในช่วงก่อนหน้านี้กำลังจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำเพิ่มมากขึ้น

 

แนวโน้มการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และราคาทองคำ

ทั้งนี้ หากเทียบกับช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน ราคาทองคำมีการปรับตัวลงในรายสัปดาห์ดังกล่าว แต่กระนั้นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาร่วมกดดันคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ครั้งแรกในรอบ 4 ปี จากระดับ 0.00-0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% หลังอัตราเงินเฟ้อรายเดือนพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ทองคำมีแนวโน้มไม่ได้รับแรงกดดันเท่ากับเหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยในปัจจุบัน (27 ตุลาคม) ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนได้ละทิ้งความเป็นไปได้ หรือให้น้ำหนักที่ 0.00% ต่อคาดการณ์ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน

 

การให้น้ำหนักดังกล่าวนับว่าไม่สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในคืนก่อนหน้านั้นมีการเปิดเผยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 3/2023 ที่ 4.9% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แข็งแกร่งกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และยังเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส ซึ่งส่งเสริมมุมมองเชิงบวกที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะถดถอยได้ในปีนี้ ด้วยเหตุนี้ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จึงไม่ได้ปรับตัวขึ้นตอบรับกับตัวเลขเศรษฐกิจอย่างที่ควร ราคาทองคำจึงยังคงรักษาการเคลื่อนไหวในระดับสูงต่อไปได้

 

ถึงกระนั้นเมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดให้น้ำหนักดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือมุมมองเชิงบวกของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ลดลง เนื่องด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่พุ่งตัวขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนทางการเงินระบบเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นตามไปด้วย ทำให้หลายฝ่ายจึงแสดงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า อีกทั้งตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ที่พึ่งประกาศออกมายังมีส่วนสำคัญมาจากการบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งนักวิเคราะห์และผู้ประกอบการได้ออกมาชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคดังกล่าวอาจชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ตามต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น และอีกปัจจัยคือมติคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งปัจจัยนี้มีผลให้นักลงทุนเพิ่มความเป็นไปได้ที่ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เช่นเดียวกัน

 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ที่อาจเข้มงวดและยาวนานมากยิ่งขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยที่คาดว่าจะยังมีผลต่อความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และทองคำในระยะข้างหน้า โดยถึงแม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed (FOMC) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามคาดการณ์ แต่กระนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่ Fed จะยังไม่ยุติวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตามข้อมูลจาก FedWatch Tool และ Bloomberg Economics ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นเพียงการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือ Policy Space เพียงเท่านั้น

 

ฉะนั้นการติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จึงยังมีความจำเป็นต่อการพิจารณาแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการประเมินความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และราคาทองคำได้ดียิ่งขึ้น

 

อีกปัจจัยที่แนะนำให้ติดตามคือแนวโน้มการออกพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐฯ รายงานการขาดดุลงบประมาณปี 2023 ที่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.37 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2022 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นราว 24% แต่กระนั้นหากปรับการคำนวณในส่วนของหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้ง 2 ปีงบประมาณ จะพบการขาดดุลในปีนี้ที่สูงเป็น 2 เท่าของปี 2022 ซึ่งตัวเลขการขาดดุลดังกล่าวนับว่าสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

 

การขาดดุลที่เพิ่มมากขึ้นในปีนี้มีเหตุสำคัญมาจากการมีรายรับภาษีที่ลดลง รายจ่ายด้านสวัสดิการที่เพิ่มสูงขึ้น และที่ชวนให้ความสนใจคือรายจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 6.59 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งรายจ่ายดังกล่าวนี้ผูกพันกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ซึ่งยิ่งสูงมากเท่าใดรายจ่ายในส่วนนี้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ มีคาดการณ์ว่ารายจ่ายดอกเบี้ยของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจพุ่งขึ้นสู่ระดับ 2 ล้านล้านต่อปี ในช่วงสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งนับเป็น 30% ของรายรับภาษี โดยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้นั่นหมายถึงการขาดดุลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 

กลับมาที่ช่วงอนาคตอันใกล้ การขาดดุลที่เพิ่มสูงกว่าคาดการณ์เช่นนี้มีแนวโน้มส่งผลให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จำเป็นต้องออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปริมาณพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาพันธบัตรปรับตัวลง และดันอัตราผลตอบแทนของตราสารให้ค้างตัวอยู่ในระดับสูง สถานการณ์เช่นนี้อาจจะเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันราคาทองคำด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี ทองคำยังคงมีคุณสมบัติเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้เมื่อใดที่เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ทองคำยังคงได้รับแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเข้ามาหนุนให้ปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง คล้ายกับที่เกิดขึ้นในสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน และการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปัจจุบัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising