รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศวานนี้ (4 พฤศจิกายน) ว่าได้แจ้งอย่างเป็นทางการไปยังสหประชาชาติ ถึงความตั้งใจในการถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) อันเป็นความตกลงสำคัญตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสหรัฐฯ จะเริ่มต้นกระบวนการซึ่งใช้ระยะเวลา 1 ปี ในการออกจากความตกลงดังกล่าว
“วันนี้สหรัฐฯ ได้เริ่มต้นกระบวนการถอนตัวจากความตกลงปารีส ตามเงื่อนไขข้อตกลง สหรัฐฯ ได้แจ้งอย่างเป็นทางการเรื่องการถอนตัวต่อสหประชาชาติ การถอนตัวจะมีผลใน 1 ปีนับตั้งแต่ที่แจ้ง” ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อปี 2017 ถึงความตั้งใจที่จะถอนสหรัฐฯออกจากความตกลงดังกล่าว โดยที่ผ่านมา เขาเคยวิจารณ์ความตกลงนี้ ว่าทำร้ายแรงงานชาวอเมริกัน ในขณะที่ช่วยให้ประเทศอื่นๆ ร่ำรวย ขณะที่ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่จะนำไปสู่การถอนตัวอย่างสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้า และก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาวประกาศยืนยันว่าจะไม่มีวาระการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุมผู้นำ G7 ในปีหน้า ซึ่งสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ
ปัจจุบันมี 188 ประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมในความตกลงดังกล่าว ซึ่งมีภารกิจสำคัญคือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิดังกล่าวให้ได้ถึง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงอย่างมีนัยสำคัญ
การตัดสินใจถอนตัวของสหรัฐฯ ครั้งนี้ จะทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจประเทศเดียวในโลกที่ไม่ได้ลงนาม และทำให้สหภาพยุโรป (EU) ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการคงความตกลงปารีสให้เดินหน้าต่อไป ขณะที่รายงานจากสถาบันกิจการระหว่างประเทศและทวีปยุโรป (Institute of International and European Affairs) ที่ออกเมื่อเดือนธันวาคม 2018 ชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจถอนตัวของทรัมป์นั้นส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อความตกลงปารีส และกำลังสร้างมาตรฐานด้านศีลธรรมและการเมืองเพื่อให้ประเทศอื่นๆ ปฏิบัติตาม พร้อมยกตัวอย่างรัสเซียและตุรกี ที่แม้จะลงนามในความตกลง แต่ยังคงปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันรับรองความตกลงดังกล่าว
นอกจากนี้ เสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายยังแสดงความกังวลว่าการที่สหรัฐฯ ทิ้งความตกลงปารีส ที่สหรัฐฯ เองมีส่วนช่วยผลักดันการเจรจาในยุคของ บารัก โอบามา นั้น อาจส่งผลเสียต่อจุดยืนและความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในเวทีโลก
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: