เพื่อจัดการปัญหาขาดดุลการค้ามหาศาลกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศหนึ่งในมาตรการช็อกโลกซึ่งก็คือภาษีตอบโต้หรือ Reciprocal Tariff ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก เขาอ้างว่าหลายประเทศตั้งภาษีและกีดกันการค้าไม่ยอมให้สหรัฐฯ ส่งสินค้าเข้าไปขาย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศส่วนมากจะใช้วิธีการขอเจรจากับสหรัฐฯ โดยหนึ่งในเงื่อนไขการเจรจาของหลายประเทศคือการยินดีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้นเพื่อลดตัวเลขการขาดดุล
อย่างที่เราทราบกันดีก็คือ หนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของสหรัฐฯ คืออาวุธ ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 43% ของตลาดการค้าอาวุธโลก หรือคิดเป็นมูลค่า 3.18 แสนล้านดอลลาร์ (10.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2024 โดยมี 6 ใน 10 บริษัทด้านการป้องกันประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นบริษัทของสหรัฐฯ
ซึ่งบริษัทด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐฯ มีอิทธิพลต่อการเมืองของสหรัฐฯ สูงมาก โดยเป็นทั้งผู้บริจาครายใหญ่ให้กับทั้งสองพรรคการเมือง และทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองทัพสหรัฐฯ เพื่อสร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนานโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เราเรียกว่า Military-Industrial Complex
ดังนั้น หลายประเทศจึงแสดงท่าทีที่ต้องการนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ มากขึ้น นอกจากจะเพื่อหวังพึ่งอิทธิพลของบริษัทผลิตอาวุธของสหรัฐฯ ในการช่วยต่อรองการค้ากับรัฐบาลทรัมป์แล้ว ยังเป็นการจัดหาสินค้าจากอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานจำนวนมากในสหรัฐฯ เพราะทุกคำสั่งซื้ออาวุธจะเพิ่มหรือรักษาการจ้างงานในสหรัฐฯ ให้คงอยู่ต่อไป และจะเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของทรัมป์ที่ต้องการสร้างกิจกรรมการผลิตในสหรัฐฯ ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะช่วยให้ทรัมป์พิจารณาลดภาษีให้กับแต่ละประเทศไม่มากก็น้อย
ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนทรัมป์จะทราบดีว่าหลายประเทศต้องการจัดหาอาวุธของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่บางประเทศยังติดข้อกฎหมายในการซื้ออาวุธที่สหรัฐฯ ปฏิเสธขายเพราะต้องการรักษาความลับทางทหาร ล่าสุดทรัมป์จึงลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ใหม่คือ Reforming Foreign Defense Sales to Improve Speed and Accountability เพื่อลดเงื่อนไขและข้อจำกัดเพื่อสนับสนุนการส่งออกอาวุธของสหรัฐฯ โดยทรัมป์กล่าวว่า “คำสั่งฝ่ายบริหารนี้กำหนดให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขระบบการขายอาวุธให้กับต่างประเทศเพื่อทำให้แน่ใจว่าเราจะสามารถขายอาวุธให้กับต่างประเทศเพื่อช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตอาวุธของสหรัฐฯ และยังช่วยให้พันธมิตรของเราได้รับอาวุธที่จำเป็นด้วยวิธีที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ”
และหนึ่งในประเทศที่เปิดตัวมาแล้วว่าต้องการจะนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้นก็คือเวียดนาม ซึ่งถูกคิดภาษี 46% ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามจัดหาอาวุธจากรัสเซียเป็นหลัก แต่เมื่อความขัดแย้งในทะเลจีนใต้รุนแรงขึ้น เวียดนามจึงต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาคเพื่อคานอำนาจกับจีน เวียดนามจึงเริ่มจัดหาอาวุธจากชาติตะวันตกเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินลำเลียง C-295 จาก Airbus ของยุโรป จรวดต่อสู้อากาศยาน SPYDER จากบริษัท Rafael ของอิสราเอล และเครื่องบินฝึก T-6 Texan II จาก Textron Aviation ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข่าวว่าในครั้งนี้เวียดนามอาจจะเสนอซื้อเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130J ของบริษัท Lockheed Martin ประเทศสหรัฐอเมริกาให้กับกองทัพอากาศเวียดนามที่ขาดแคลนเครื่องบินลำเลียงอย่างมาก โดย C-130 เป็นเครื่องบินลำเลียงที่ทันสมัยและเป็นเครื่องบินที่มีผู้ใช้งานกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยเครื่องบินรุ่นใหม่คือ C-130J นั้นมีความทันสมัย แต่ก็ถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง คือมีราคาตั้งแต่ 150–300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อลำหรือราว 5,000-10,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับตัวเลือกและอุปกรณ์ที่ติดตั้งกับเครื่องบิน
ส่วนบางประเทศที่จัดหาอาวุธจากสหรัฐฯ อยู่แล้ว ก็กำลังพิจารณาจะจัดหาอาวุธจากสหรัฐฯ มากขึ้น แต่บางประเทศก็ยังมีข้อต้องพิจารณาและระมัดระวังในการจัดหา เช่น เกาหลีใต้ที่แม้เป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ และจัดหาอาวุธจากสหรัฐฯ เข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่ก็ถูกเก็บภาษี 25% ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ก็เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและเป็นผู้ส่งออกอาวุธหลักของโลกเช่นเดียวกัน ถ้าจัดหาอาวุธจากสหรัฐฯ มากเกินไปก็อาจจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศของตัวเอง ทำให้ต้องมีการพิจารณาให้ดีในประเด็นนี้
อนึ่ง เมื่อคืนวานนี้ที่ทรัมป์ประกาศพักการขึ้นภาษีตอบโต้เป็นเวลา 90 วันกับทุกประเทศยกเว้นจีน ด้วยเหตุผลว่าแทบทุกประเทศต่างแสดงความต้องการเจรจาหาทางออกกับสหรัฐฯ ก็ทำให้แต่ละประเทศมีเวลาในการจัดการและวางแผนได้นานขึ้น (แต่เกือบทุกประเทศยังต้องถูกจัดเก็บภาษีพื้นฐานที่ 10% ตามเดิม ยกเว้นเม็กซิโกและแคนาดาที่ถูกเรียกเก็บ 25% ไปก่อนหน้านี้)
ในส่วนของประเทศไทยเองซึ่งถูกเก็บภาษี 36% ก็เป็นประเทศที่จัดหาอาวุธจากหลากหลายประเทศเช่นยุโรป จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าการจัดหาอาวุธปีหนึ่งอยู่ที่ราว 3–4 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าที่ไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐที่ 1.6 ล้านล้านบาท แต่ถ้าไทยใช้งบประมาณตรงนี้ที่ต้องจ่ายในการซื้ออาวุธไปยังต่างประเทศอยู่แล้วให้มาซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ก็อาจจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งให้การเจรจาของผู้แทนไทยกับสหรัฐฯ เป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น
ซึ่งการดำเนินการจัดหาจากสหรัฐอเมริกานั้นอาจเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2569 ซึ่งงบประมาณกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำ ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ส่งผลกระทบมากจนเกินไปนัก ต่างจากโครงการในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งมีการอนุมัติงบประมาณและดำเนินกิจกรรมในการจัดหาไปมากแล้ว เช่นโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบใหม่ซึ่งเลือกแบบเป็น Gripen ของสวีเดน หรือเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศซึ่งเลือกแบบเป็น A330 MRTT ของยุโรป การเปลี่ยนแปลงในตอนนี้อาจสร้างความยุ่งยากมากจนเกินไป
ทั้งนี้ มีโครงการอื่นๆ ที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่กระทรวงกลาโหมมีแผนงานอยู่แล้ว และมีทั้งกำลังจะเสนอของบประมาณในการจัดหา หรือเป็นโครงการในอนาคตซึ่งยังไม่ถึงคิวในการจัดหา แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนแผนงานเพื่อดำเนินการจัดหาจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ เช่น เฮลิคอปเตอร์โจมตีของกองทัพบก เรดาร์ตรวจการณ์ของกองทัพบกและกองทัพอากาศ จรวดต่อต้านเรือผิวน้ำและจรวดต่อสู้อากาศยานของกองทัพเรือ เครื่องบินโจมตีและเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ต้องพิจารณาก็คือ การจัดหาอาวุธนั้นไม่ควรจัดหาอาวุธที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งไม่เข้มแข็งและแทบไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงกลาโหมอยู่แล้ว โดยอาวุธที่จัดหาได้จากในประเทศก็ควรจะจัดหาต่อไป เช่น ยานเกราะล้อยาง หรืออากาศยานไร้นักบิน เป็นต้น นอกจากนั้นก็ไม่ควรเพิ่มงบประมาณกลาโหมเพื่อจัดหาอาวุธมากจนเกินไป เพราะต้องยอมรับว่าการจัดหาอาวุธจากสหรัฐฯ ภายใต้เงื่อนไขนี้ประเทศไทยจะได้รับการตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือการชดเชย (Offset) ไม่มากนักหรือแทบไม่ได้เลย ดังนั้นถ้าใช้งบประมาณมากจนเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยโดยไม่จำเป็น
ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางที่อาจดำเนินการได้ โดยเฉพาะสำหรับไทยซึ่งมีเวลาอีก 90 วันในการเจรจาและหาข้อตกลงกับสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ พักการขึ้นภาษีตอบโต้ ซึ่งทำเนียบขาวกล่าวว่าข้อตกลงของแต่ละประเทศนั้น ทรัมป์ต้องการเข้ามาดูรายละเอียดด้วยตัวเอง ดังนั้นการสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้ทรัมป์และสหรัฐฯ ยอมรับได้มากที่สุดในขณะที่ยังรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยให้ได้สูงที่สุดน่าจะเป็นโจทย์สำคัญของผู้แทนไทย ซึ่งการจัดหาอาวุธจากสหรัฐฯ อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้การเจรจาราบรื่นขึ้นและหาข้อตกลงที่ดีที่สุดให้กับไทยต่อไป
ภาพ: Reuters, DVIDS