×

ศศินันท์ชี้ กรณีแจ้งข้อหา ม.112 นักวิชาการอเมริกัน สะท้อนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไม่เปลี่ยน ถูกโยงเจรจากำแพงภาษี

โดย THE STANDARD TEAM
09.04.2025
  • LOADING...
us-academic-112-case-rights

วันนี้ (9 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. กทม. พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีศาลจังหวัดพิษณุโลกไม่ให้ประกันตัว Paul Chambers อาจารย์สัญชาติอเมริกัน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หลังถูกแจ้งข้อหาในความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งถูกโยงเข้ากับการเจรจามาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา

 

ศศินันท์ระบุว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เราจะอภิปรายในญัตติด่วนของวันนี้เช่นกัน กรณีของ Paul ทำให้เห็นว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากรัฐบาลเผด็จการก่อนหน้านี้ เพราะหากดูเหตุผลของการไม่ให้ประกันตัวว่าเพราะมีอัตราโทษสูง และพนักงานสอบสวนคัดค้าน เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ตนเองเป็นทนายความแรกๆ 

 

“บรรยากาศหลายๆ อย่างไม่ได้แตกต่างกัน ทั้งการจับกุมดำเนินคดี เพราะครั้งนี้ไม่ใช่คดีที่ประชาชนทั่วไปแจ้ง แต่เป็นกองทัพแจ้งด้วยซ้ำ จึงเป็นเรื่องที่รัฐกระทำต่อบุคคล และยิ่ง Paul เป็นบุคคลสัญชาติอเมริกัน จึงถูกโยงกับเรื่องของมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา” 

 

ศศินันท์กล่าวด้วยว่า อย่างที่ได้เคยอภิปรายไปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าวิธีจัดการของรัฐบาลสามารถกระทำได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นกองอำนวยการรักษาความสงบมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ที่มีอำนาจกำกับดูแลและมอบนโยบายก็คือนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลเอง 

 

ศศินันท์ระบุว่า หากจำได้ ในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง จะมาจากการแถลงของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ประกาศว่าจะดำเนินคดีมาตรา 112 ทุกคดี สถานการณ์ทางการเมืองก็เปลี่ยนไปทันที ดังนั้นฝ่ายบริหารมีความสามารถในการบริหารจัดการสถานการณ์ทางการเมืองได้อยู่แล้ว 

 

ด้าน สหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี พรรคประชาชน กล่าวเสริมว่า หลายฝ่ายอาจสงสัยว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทำไมเราจึงหยิบยกเรื่องนิรโทษกรรมมาพูด ความจริงไม่ใช่เรา แต่ผู้เสนอญัตตินี้มาคือรัฐบาลเองด้วยซ้ำ แต่ยิ่งเราเผชิญปัญหาจากภายนอกมากมาย ยิ่งจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาภายใน ควรลดความขัดแย้งภายในให้ได้มากที่สุด เพื่อจะจับมือกันเดินไปข้างหน้า โดยการนิรโทษกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดความขัดแย้งของสังคม

 

สหัสวัตกล่าวว่า การนิรโทษกรรมเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะเงื่อนไขหนึ่งที่สหรัฐฯ มองว่าไทยมีขีดความสามารถเรื่องสิทธิมนุษยชนค่อนข้างต่ำ การนิรโทษกรรมก็จะเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาได้มากขึ้น แม้ว่าจะเจรจากับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ ยังมีเป้าหมายคือสหภาพยุโรป ที่ก็มีเงื่อนไขเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรา 112 และนักโทษการเมือง อยู่ในการเจรจา FTA เช่นเดียวกัน

 

“จังหวะเวลาอย่างนี้ยิ่งต้องควรหยิบเรื่องนิรโทษกรรมมาคุยกัน เพื่อให้สังคมเดินหน้า เพื่อสร้างแต้มต่อของพวกเราในการต่อรองกับเวทีนานาชาติ ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องนี้ และพูดอยู่เสมอว่าเราจะต้องจับมือกันเดินไปข้างหน้า รัฐบาลควรมีความชัดเจนมากกว่านี้ ทั้งการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เอง หรือออกมาพูดชัดๆ เลยว่า เรื่องนี้จะถูกนำมาพูดคุยในสมัยประชุมหน้า ไม่เลื่อนแบบนี้อีก” สหัสวัตกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising