×

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมือง พิพากษายืน คุก 1 ปี ปรับ 2 แสน ‘ธณิกานต์ ’ อดีต ส.ส. พลังประชารัฐ กรณีใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ เสียบบัตรแทนกัน

โดย THE STANDARD TEAM
25.07.2023
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.9/2566 ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ (ตำแหน่งขณะเกิดเหตุ)

 

กรณีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 จำเลยในฐานะ ส.ส. ลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ได้ลาประชุมระหว่างเวลาประมาณ 13.30-15.00 น. ซึ่งมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ….

 

จำเลยไม่ได้อยู่ในที่ประชุมและได้ฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไว้กับ ส.ส. รายอื่น หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยอยู่ในความครอบครองของ ส.ส. รายอื่นโดยความยินยอมของจำเลย เพื่อให้ ส.ส. รายนั้นใช้บัตรของจำเลยแสดงตนและลงมติแทน โดยมีเจตนาทุจริต แสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการออกเสียงลงคะแนนแทนกัน ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 จำคุก 1 ปี และปรับ 2 แสนบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี 

 

จำเลยอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้โอกาสโจทก์และจำเลยนำพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายเข้าไต่สวนเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยแล้ว และยังได้เรียกพยานบุคคลมาไต่สวนเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควรด้วย 

 

ฉะนั้นการที่ศาลจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ได้ความตามทางไต่สวนทั้งหมดประกอบกัน หาใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฟังแต่เพียงสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วผลักภาระการพิสูจน์ให้แก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียวตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ 

 

เมื่อทางไต่สวนได้ความจากประจักษ์พยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 จำเลยจัดทำโครงการเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่ยุคดิจิทัล ที่ห้องประชุมชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ เลขที่ 1256/9 ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต เมื่อจำเลยมาถึงงานได้มีการพูดคุยเตรียมงานก่อนขึ้นเวทีเสวนากับพยาน 

 

ต่อมาพิธีกรได้เชิญขึ้นเวทีเสวนาขณะนั้นเวลาประมาณ 13.30 น. โดยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 15 นาที ก่อนออกจากสถานที่จัดงาน พยานกับจำเลยได้ถ่ายรูปร่วมกันบนเวที จากนั้นพยานใช้เวลาอีกประมาณ 15 นาทีในการพูดคุยกับผู้มาร่วมงานจนถึงเวลา 15.00 น. จึงออกจากสถานที่จัดงาน โดยมีบันทึกไทม์ไลน์ส่วนตัวที่บันทึกไว้ใน Google Maps ยืนยันช่วงเวลาสัมพันธ์กับคำเบิกความของพยาน และสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับขั้นตอนและใกล้เคียงกับเวลาการจัดงานเสวนา 

 

นอกจากนี้ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดงาน (ออร์แกไนเซอร์) เบิกความว่า จำเลยมาถึงงานเสวนาเวลาประมาณ 13.30 น. และทุกคนลงจากเวทีเวลาประมาณ 14.00 น. ประกอบกับจำเลยมีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำเลยมีกิจธุระสำคัญต้องออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปร่วมงานเสวนาวิชาการโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่แม่และเด็กในชุมชน และจำเลยยังแจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางโพว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กดปุ่มแสดงตนและลงมติในวาระที่ 1 เวลา 13.41 น. และวาระที่ 3 เวลา 14.01 น. เพราะรีบออกไปร่วมงานเสวนา อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเวลาที่เกิดเหตุ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยลงมติด้วยตนเองครั้งสุดท้ายเวลา 13.22 น.

 

ต่อมาในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. …. มีการลงมติ 2 ครั้งโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย คือเวลา 13.41 น. และ 14.03 น. อันเป็นการลงมติต่อเนื่องจากเวลา 13.22 น. แสดงว่ามีบุคคลรู้ว่าจำเลยออกจากห้องประชุมเมื่อใดและจะกลับเข้ามาประชุมอีกหรือไม่ รวมทั้งต้องมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยในครอบครองเพื่อลงมติแทนจำเลยได้ ทั้งเมื่อจำเลยกลับมาจากงานเสวนาก็ได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองลงมติในการแสดงตน และลงมติพิจารณาระเบียบวาระต่อไปอีกหลายครั้งจนปิดการประชุม 

 

พฤติการณ์บ่งชี้ว่าต้องมีการคบคิดปรึกษากันมาก่อน ที่จำเลยมีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งแรกยอมรับว่าจำเลยไม่อยู่ในที่ประชุม แต่ต่อมาจำเลยกลับมีหนังสือขอชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่า จำเลยลงมติร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. …. ด้วยตนเอง ต่อมากลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กดปุ่มแสดงตนและลงมติดังกล่าว และเบิกความต่อศาลสรุปความได้ว่า 

 

จำเลยไปร่วมงานเสวนา การแสดงผลลงมติตามฟ้องน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของระบบ หรืออาจมีผู้อื่นกดปุ่มลงมติโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย การให้การของจำเลยจึงมีลักษณะกลับไปกลับมา ไม่น่าเชื่อถือ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยอยู่ลงมติด้วยตนเองไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ทั้งการที่ผลแสดงตนหรือลงมติจะมีชื่อสมาชิกคนใดลงคะแนน อย่างไร พยานโจทก์เบิกความว่า ส.ส. ต้องใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนเสียบเข้าเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ กับต้องกดปุ่มแสดงตนหรือลงมติด้วย ดังนั้นหากไม่มีการเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตน และลงมติที่เครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์และกดปุ่มแล้ว หรือมีการเสียบบัตรค้างไว้แต่ไม่ได้กดปุ่มใด ย่อมไม่อาจเกิดการประมวลผลใดๆ ขึ้นได้ สำหรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการประชุมเป็นข้อผิดพลาดในขั้นตอนของการประมวลผล ไม่ใช่ข้อผิดพลาดของระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ และในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติก่อนและหลังเวลาเกิดเหตุหลายครั้ง แต่จำเลยกลับโต้แย้งเฉพาะเวลา 13.41 น.และ 14.01 น. ว่าระบบขัดข้องหรือผิดพลาด หากจำเลยลงมติด้วยตนเองจริง จำเลยย่อมต้องแจ้งต่อที่ประชุมสภาถึงข้อผิดพลาดนั้นในทันที เชื่อว่าระบบการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติไม่เกิดข้อขัดข้องหรือผิดพลาดดังที่จำเลยอ้าง 

 

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีและพยานหลักฐานแวดล้อมมีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไว้กับ ส.ส. อื่น หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปอยู่ในความครอบครองของ ส.ส. อื่นโดยความยินยอมของจำเลย เพื่อให้ ส.ส. นั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยลงมติแทน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงพิพากษายืน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising