ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เดินหน้าปล่อยสินเชื่อธุรกิจยั่งยืน เน้นลูกค้ากลุ่มธุรกิจและเจาะตลาดลูกค้าลงทุนไทย-อาเซียน ตอบโจทย์ภาคธุรกิจไทยที่มองหาการสนับสนุนด้านการค้าข้ามพรมแดน เผย FDI ยังสนใจลงทุนในไทย โดยเฉพาะซัพพลายเชนของ EV และอิเล็กทรอนิกส์
วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Deputy CEO และ Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในปีนี้จะเติบโตแบบชะลอตัวเมื่อเทียบกับในช่วง 1-2 ปีก่อน โดยเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
จากสภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้แต่ละกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยธนาคารจะเน้นให้สินเชื่อ 2 กลุ่ม คือ สินเชื่อเกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainability) และการเชื่อมต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน (Connect ASEAN) ที่เห็นสัญญาณการลงทุนมากในประเทศเวียดนาม และจีนเข้ามาไทยมากขึ้น
สำหรับการให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Financing Framework ธนาคารมีเป้าหมายในการเข้าไปสนับสนุนภาคธุรกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยในปี 2566 การเติบโตด้านสินเชื่อใหม่ มีสินเชื่อที่เกี่ยวกับความยั่งยืนคิดเป็นมูลค่า 3.31 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติใหม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2567 ยังไม่มีการตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนโดยเฉพาะแต่อย่างใด
ส่วนการเชื่อมโยงกับตลาดภูมิภาคและการค้าโลก ธนาคารเห็นสัญญาณนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มซัพพลายเชนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เป็นฐานรากระดับท็อปของรถยนต์สันดาป (ICE) จึงดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาสู่ซัพพลายเชนนี้ โดยเฉพาะผู้ผลิตจากจีน
นอกจากนี้นักลงทุนและธุรกิจข้ามชาติยังสนใจมาลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ด้วย โดยนักลงทุนหลักมาจากไต้หวันและเกาหลี ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบันพบว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากประเทศจีน แซงหน้าญี่ปุ่นแล้ว
วีระอนงค์กล่าวว่า ธนาคารได้จัดทำการสำรวจ UOB Business Outlook Study สำหรับประเทศไทย โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจ SMEs และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จากทุกภาคอุตสาหกรรมรวม 525 คน ซึ่งผลสำรวจพบเทรนด์ที่น่าสนใจ 3 เทรนด์ ดังนี้
1. ความสนใจที่เพิ่มขึ้นด้านการขยายการเติบโตในต่างประเทศ
ธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโตระหว่างประเทศ โดยเกือบ 90% มีเป้าหมายที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศภายใน 3 ปีข้างหน้า อาเซียนและจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะเวียดนาม เป็นเป้าหมายหลักสำหรับการเติบโตนี้ โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของประเทศไทยในอาเซียน โดยมีมูลค่าการค้าทวิภาคีเกินกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565
2. ธุรกิจยังมีข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
จากผลสำรวจ แม้ว่ากว่า 90% ของธุรกิจจะตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน แต่มีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้นำแนวปฏิบัติเหล่านี้ไปใช้ แรงจูงใจหลักในการนำแนวปฏิบัติเหล่านี้ไปใช้ ได้แก่ การปรับปรุงภาพลักษณ์ของธุรกิจ (56%) การดึงดูดนักลงทุน (50%) และการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ (46%)
3. การดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
การนำดิจิทัลมาใช้ยังคงอัตราที่สูงในหมู่ธุรกิจไทย โดยเกือบ 40% ได้นำโซลูชันดิจิทัลมาใช้ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ซึ่งเกินค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาค การปรับสู่ดิจิทัลได้เพิ่มการเข้าถึงลูกค้า สร้างประสบการณ์อันดีแก่ลูกค้า และเพิ่มความเร็วในการเข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม การปรับใช้ดิจิทัลกับการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการจัดการคู่ค้ายังคงตามหลังอยู่