ยูโอบีตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ 8-10% พร้อมรุกตลาด ESG คาดอาเซียนเนื้อหอม ต่างชาติจ่อขนเงินลงทุน มองเทรนด์ธุรกิจไทยขยายการลงทุนไปต่างประเทศยังโตต่อเนื่อง
พนิตศนี ตั๊นสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Head of Corporate Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย (UOB) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาเซียนกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก และมีโอกาสที่จะเป็นภูมิภาคที่เติบโตสูงที่สุดในโลกในช่วง 3-4 ปีจากนี้ โดยยูโอบีประเมินว่า GDP ของกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ (สิงคโปร์, ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์) จะเติบโต 4.2% ในปีนี้ (ปี 2565 โต 6.2%) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก และจะขึ้นไปแตะระดับ 4.8% ในปี 2567 อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ให้อาเซียนกลายมาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ลำดับที่ 4 ของโลก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาเซียนถือเป็นตลาดที่เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก ด้วยพลวัตและความหลากหลายทางเศรษฐกิจและประชากรที่มีจำนวนมากเกือบ 690 ล้านคน ซึ่งกว่า 60% ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 35 ปี นอกจากนี้อาเซียนยังถูกมองว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นโรงงานแห่งใหม่ของโลกแทนที่จีน และจะเป็นภูมิภาคที่ได้รับประโยชน์จากนโยบาย China+1 หรือการกระจายฐานการผลิตออกจากจีนมากที่สุด
ข้อมูลจากยูโอบีระบุว่า ในช่วงวิกฤตโควิด อาเซียนสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากทั่วโลก (FDI) ได้เพิ่มขึ้น จากเฉลี่ยปีละ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2558-2560 เป็นเฉลี่ยปีละ 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2561-2563 และในปี 2564 อาเซียนได้รับเม็ดเงินลงทุน หรือ FDI อยู่ที่ 1.79 แสนล้านดอลลาร์ โดย 22.5% มาจากสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ 14.8% จากสหภาพยุโรป และเป็นการลงทุนภายในอาเซียนที่ 13.1% โดยปัจจุบันอาเซียนยังใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ในฐานะจุดหมายปลายทางของ FDI รองจากสหรัฐฯ และจีน
นอกจากนี้รายงานการศึกษาของธนาคารยูโอบีใน UOB Business Outlook Study 2023 (SMEs amd Large Enterprises) ที่สำรวจบริษัทกว่า 4,000 แห่ง จาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักต่างๆ ใน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม รวมถึงจีนและฮ่องกง ยังพบว่า มากกว่า 4 ใน 5 หรือ 80% ของธุรกิจ กำลังมองหาโอกาสการขยายธุรกิจไปต่างประเทศในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย เป็นจุดหมายหลักในภูมิภาคอาเซียนที่ธุรกิจต้องการขยายตลาดมากที่สุด
พนิตศนีกล่าวว่า จากทิศทางการเติบโตดังกล่าว ทำให้กลยุทธ์การเติบโตของยูโอบีได้มุ่งเน้นไปที่ภูมิภาคอาเซียน และตั้งเป้าจะขยายการเติบโตในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ใช้งบลงทุนเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลไปกว่า 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อทำให้การให้บริการทางการเงินกับลูกค้า เช่น Cash Management และ Trade Finance มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
“เซ็กเตอร์ที่มีการเข้ามาลงทุนในอาเซียนค่อนข้างมากคือ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV นอกจากนี้ยังมีโลจิสติกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเฮลท์แคร์ โดยเราเห็นเทรนด์การลงทุนข้ามประเทศระหว่างกันของชาติในอาเซียนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันยังเห็นเม็ดเงินลงทุนจากจีนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคสูงขึ้น เช่น ในอุตสาหกรรม EV ชัดเจนว่าจีนเลือกอาเซียน และหลายแบรนด์เลือกที่จะเข้ามาตั้งโรงงานในไทย” พนิตศนีกล่าว
พนิตศนีกล่าวอีกว่า แม้ว่าไทยจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่โดดเด่นเท่าอินโดนีเซีย แต่ก็มีจุดเด่นด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า ขณะที่เวียดนามยังมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่พอ นอกจากนี้ไทยยังถือเป็นประเทศที่มีอุปสงค์ภายในของรถ EV ที่ค่อนข้างสูง ทำให้แบรนด์ EV หลายรายเลือกที่จะเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย
“ยูโอบีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับค่ายรถยนต์ EV ของจีน เช่น BYD, GWM, Changan และ GAC Aion เริ่มจากการให้บริการของ UOB China การที่เรามีเครือข่ายและแพลตฟอร์มเดียวกันที่สามารถซัพพอร์ตลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเข้ามาลงทุนในไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม ทำให้เขาเหมือนกับดีลแบงก์เดียวได้ทั้งอาเซียน” พนิตศนีกล่าว
พนิตศนีเปิดเผยว่า ในปีนี้ยูโอบี ประเทศไทย ตั้งเป้าหมายจะเติบโตพอร์ตสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 8-10% ขณะที่ทีมที่โฟกัสเฉพาะจีนคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 30-40% อย่างไรก็ดี พอร์ตสินเชื่อลูกค้าจีนในปัจจุบันยังมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก โดยมีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของสินเชื่อรวม แต่ในอนาคตมองว่ามีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 15-20%
“นอกจากการซัพพอร์ตลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ยูโอบีได้สนับสนุนธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศเช่นกัน โดยปัจจุบันโวลุ่มของไทยที่ออกไปข้างนอกมีสัดส่วนมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไปลงทุนในอาเซียนและจีน กระจายตัวอยู่ในทุกเซ็กเตอร์ ” พนิตศนีกล่าว
ทั้งนี้ ผู้บริหารยูโอบีประเมินว่า เทรนด์การออกไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียนของธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่อง เพราะเมื่อธุรกิจเติบโตมาถึงจุดที่เป็นผู้เล่นใหญ่ในประเทศแล้ว การเติบโตจะต้องขยายและกระจายการลงทุนออกไปนอกประเทศ โดยในอนาคตเทรนด์ดังกล่าวอาจต่อยอดไปถึงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางที่มีสินทรัพย์ 500-1,000 ล้านบาทด้วย
พนิตศนีกล่าวต่อว่า อีกหนึ่งประเภทสินเชื่อที่ยูโอบีจะให้ความสำคัญในการเติบโตคือ สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน หรือ ESG โดยปัจจุบันไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ภาคธุรกิจมีการเติบโตในเรื่องนี้สูง หลายบริษัทมีการระดมทุนผ่านสินเชื่อสีเขียวและสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน โดย 17% ของสินเชื่อปล่อยใหม่ของยูโอบีในปีนี้เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวกับ ESG