×

สางปม ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ ผ่านมุมมองนายแบงก์ออมสิน

17.10.2024
  • LOADING...

ปัญหาหนี้ครัวเรือน (Household Debt) ของไทยรุนแรงมากขึ้นในช่วงวิกฤตโควิดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อัตราหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากระดับ 80-90% ไปสูงถึง 95.5% ในช่วงวิกฤต ก่อนที่จะค่อยๆ ชะลอลงมาอยู่ที่ 89.6% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี 

 

แม้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะค่อยๆ ลดลง แต่ตัวเลขในระดับประมาณ 90% ต่อ GDP ยังคงเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงในสายตาของหลายๆ คน รวมทั้งผู้อำนวยการธนาคารออมสินอย่าง วิทัย รัตนากร

 

ต้นตอปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูง

 

“หนี้ครัวเรือนในระดับ 90% ถือว่าสูงมาก ถ้าจะให้ดีควรจะอยู่ที่ระดับ 70-80% ต่อ GDP” วิทัยกล่าวถึงระดับหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบัน

 

“ต้องยอมรับว่าคนที่มีรายได้ไม่พอ สุดท้ายต้องแก้ปัญหาด้วยการกู้ กู้ในระบบได้ก็กู้ในระบบ ถ้ากู้ในระบบไม่ได้ก็กู้นอกระบบ ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินรุนแรงและเรื้อรัง” วิทัยกล่าว

 

คำว่ารุนแรงก็คือรายได้ไม่พอ เมื่อวิกฤตโควิดเข้ามาซ้ำเติมก็ยิ่งต้องกู้มากขึ้น ส่วนคำว่าเรื้อรังคือ เมื่อกู้แล้วปัญหายังไม่จบก็ต้องกู้ต่อไปเรื่อยๆ 

 

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน บางส่วนอาจเกิดจากวินัยทางการเงิน แต่บางส่วนก็มีความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิดที่หลายคนขาดรายได้ 

 

วิทัยกล่าวต่อว่า หากมองในภาพใหญ่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากรายได้ที่โตไม่ทันรายจ่าย ส่วนหนึ่งอาจเป็นรายจ่ายไม่จำเป็น ซึ่งเป็นเรื่องของวินัยทางการเงิน อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะงานบางอย่างที่ไม่มั่นคงเพียงพอ ทำให้ความสามารถในการรับแรงช็อกต่ำมาก

 

“แต่เมื่อเกิดวิกฤตจะบอกให้ไม่ต้องกู้ รักษาวินัย ก็อาจจะไม่ได้ เพราะต้องกู้มาเพื่อดำรงชีพและประทังชีวิตไปก่อน แต่แน่นอนว่าทั้งหมดทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นและกลายเป็นปัญหาสำคัญ” 

 

ทางออกของปัญหาหนี้ครัวเรือน

 

“วิธีการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ตรงไปตรงมาคือทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น รายได้เพิ่มจะช่วยให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลง” วิทัยกล่าว 

 

เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ละคนจะมีเงินไปจ่ายคืนหนี้ได้มากขึ้น แต่ระหว่างที่เรารอให้เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลา เราก็ต้องพยายามบรรเทาปัญหาไปพร้อมๆ กัน

 

“การลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยให้หนี้ครัวเรือนค่อยๆ ลดลง ไม่ได้ลดแบบหักหัวลงทันที แต่ถ้าจะได้ผล การลดดอกเบี้ยจะต้องทำต่อเนื่องเป็นซีรีส์” วิทัยกล่าว 

 

นอกจากการแก้ปัญหาในภาพใหญ่แล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการบรรเทาปัญหาของแต่ละบุคคล ซึ่งธนาคารออมสินดูแลในส่วนนี้เป็นหลัก ทั้งเรื่องของการลดดอกเบี้ยและการปิดจบหนี้ (Hair Cut) 

 

“การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่มีเครื่องมือเดียวที่แก้ได้หมด ต้องแก้ปัญหาทั้งในภาพใหญ่และระดับปัจเจกผสมผสานกันไป ทั้งการเพิ่มรายได้, ลดดอกเบี้ย, การลดหนี้ และการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทุกอย่างต้องค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์เพื่อแก้ปัญหา” วิทัยกล่าว

 

เครื่องมือช่วยเหลือของออมสิน

 

หนึ่งในภารกิจหลักของธนาคารออมสินในปัจจุบันคือการแก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำควบคู่ไปกับเรื่องของ Creating Shared Value (CSV) หรือการสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วมกันกับสังคม 

 

วิทัยกล่าวว่า วันนี้เราอยู่ในจุดที่อุตสาหกรรมแบงก์มีกำไรมากเกินไป อย่างเช่น กรณีของธนาคารออมสิน

 

ปี 2562: กำไร 2.42 หมื่นล้านบาท

ปี 2563: กำไร 1.86 หมื่นล้านบาท

ปี 2564: กำไร 2.52 หมื่นล้านบาท

ปี 2565: กำไร 2.71 หมื่นล้านบาท 

ปี 2566: กำไร 3.35 หมื่นล้านบาท

ครึ่งแรกของปี 2567: กำไร 1.8 หมื่นล้านบาท

 

ส่วนเป้าหมายทั้งปีนี้คาดว่าจะมีกำไร 2.7 หมื่นล้านบาท หลังการตั้งสำรองฯ

 

ธนาคารออมสินจะมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Positive Impact) มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยสังคมในแต่ละปี คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท เช่น การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, การแก้หนี้, การลดดอกเบี้ย, การช่วยเหลือภัยพิบัติ, การดูแลสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอาชีพ ฯลฯ

 

“เป้าหมายของออมสินคือการขยาย Social Impact แต่จะขยายได้ต่อเมื่อไม่ตั้งเป้าให้มีกำไรสูงสุด แต่มีกำไรที่เหมาะสมแทน วันนี้เรายังวางเป้าหมายกำไรประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับในอดีต แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีกำไรในระดับ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี” วิทัยกล่าว

 

สิ่งที่ออมสินพยายามทำในช่วงที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น การ Hair Cut หนี้ให้กับลูกหนี้ไปแล้ว 7 แสนคน และจะทำเพิ่มอีก 1 แสนคนในช่วงที่เหลือของปีนี้, การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งการลดดอกเบี้ยจำนำทะเบียนลงต่ำกว่าตลาด 10% มาเหลือ 18% 

 

นอกจากนี้บริษัท เงินดีดี จำกัด ซึ่งออมสินถือหุ้นโดยตรงในสัดส่วน 49% จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนหน้า ปัจจุบันเริ่มปล่อยสินเชื่อแล้วและตั้งเป้าหมายที่จะดึงคนเข้าสู่ระบบให้ได้ประมาณ 1 แสนคนภายในปีแรก 

 

“เป้าหมายของเงินดีดีไม่ใช่เรื่องของมูลค่าสินเชื่อหรือกำไร แต่เป็นจำนวนคนที่เราอยากดึงเข้าสู่ระบบให้ได้มากที่สุด เพราะการรีไฟแนนซ์หนี้จากนอกระบบ ซึ่งดอกเบี้ยเดือนละ 20-30% เข้ามาสู่ระบบที่ดอกเบี้ยปีละ 20% จะช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนได้”​ วิทัยอธิบาย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X