สถานการณ์ทางการเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ด้วยประเด็นการออกมาเรียกร้องของ ‘พรรคการเมือง’ ที่ต้องการให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ทำการ ‘ปลดล็อก’ ทางการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ ไม่ติดเงื่อนไขตามกฎหมายที่ คสช. เคยประกาศไว้
ซึ่งโจทย์สำคัญของกระแสเรียกร้องแกมกดกัน คือ การที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งจะประกาศให้มีผลบังคับใ้ช้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อบังคับให้ต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา ไม่เช่นนั้นแล้วอาจส่งผลต่อการส่งตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง
ปลด หรือ ไม่ปลด สงสัยทำไมการเมืองติดล็อก?
“จะปลดล็อกกันอย่างไรก็อย่าถามผมบ่อยนักแล้วกัน มันทำให้คิดไม่ออก มันก็เลยช้า ถ้าถามมากก็คิดไม่ค่อยออก ให้ผมคิดสรุปออกมาก่อน แล้วผมจะเปิดเผยออกมาทีเดียวจบ ทันเวลาอยู่แล้ว”
คือถ้อยแถลงที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ต่อหน้าสื่อมวลชน ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งต้องนับว่าเป็นปฏิกิริยาล่าสุดต่อเรื่องนี้
เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางการเมืองของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ยังเป็นปัญหาในมิติของกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับมิติการเมืองก็คือ ยังติดอยู่ในบ่วงอุปสรรคของคำสั่ง คสช. ที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
ซึ่งหาก คสช. ไม่ยกเลิกคำสั่ง 2 ฉบับนี้ ก็เห็นจะเป็นปมเงื่อนสำคัญที่แต่ละพรรคการเมืองจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามกฎหมายอย่างเปิดเผย และอาจเกิดกรณีที่เข้าข่ายผิดต่อคำสั่ง คสช. ซึ่งได้กำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนเอาไว้ด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาการรวมกลุ่มของนักการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ จะมีให้เห็นอยู่บ้างก็ตาม
ขณะที่ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สภาพบังคับของคำสั่ง คสช. ถือว่าสิ้นผลไปแล้วหรือไม่ ก็ในเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว คำตอบนี้หากย้อนไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 279 เขียนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ให้บังคับใช้ได้ต่อไป
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายปกครองเอง โดยเฉพาะประเด็นการปลดล็อกที่ห่วงว่าจะทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ในทางการเมืองกลับมาวุ่นวายร้อนแรงอีกครั้ง ก็ยังเป็นเรื่องถกเถียงของทั้งสองฝ่าย เพราะฝ่ายพรรคการเมืองยืนยันว่า เป็นไปเพื่อการปฏิบัติตามกรอบเวลาของกฎหมาย (คลิกอ่านที่นี่) ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่น เพราะ โจทย์ใหญ่คือจะต้องมีการประชุมพรรคการเมือง เพื่อเร่งทำงานให้พร้อมสู่การเดินหน้าไปตามโรดแมปการเลือกตั้งที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ประกาศไว้เอง
เสียงจาก ตัวแทนพรรคการเมือง มอง ‘ปลดล็อก’ สำคัญมากขาดไหน?
เพื่อให้เห็นภาพและสะท้อนความคิดเห็นของ ‘พรรคการเมือง’ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ THE STANDARD จึงอาสาทำหน้าที่ตามไปฟังเสียงเหล่านั้นว่า ตัวแทนนักการเมืองแต่ละพรรคมีเหตุผลอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง
“ปล่อยให้บรรยากาศอึมครึม การบังคับใช้กฎหมายก็ทำไม่ได้จริง”
นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย อธิบายว่า ในฐานะพรรคการเมือง เมื่อถึงเวลานี้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้แล้ว ซึ่งได้กำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการอะไรบ้างไว้ รวมทั้งมีกรอบวัน-เวลาให้ต้องทำให้แล้วเสร็จ ในฐานะพรรคการเมืองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
“คสช. ในฐานะฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครองบ้านเมือง ควรจะต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่า ถ้าหากยังไม่ต้องการให้พรรคการเมืองรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางการเมือง ก็ให้ออกคำสั่ง คสช. มา เพราะไม่เช่นนั้นกรอบเวลาก็จะเดินต่อไป หรือจะออกคำสั่ง คสช. เลยก็ได้ว่าให้พักการใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน”
นายศุภชัยยังเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรี หรือ คณะรัฐมนตรีบางคน ออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า นักการเมืองต้องการการเลือกตั้ง อยากจะเลือกตั้ง นั้น ‘ไม่เกี่ยวกัน’ เนื่องจากกรอบเวลาตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามยังมีอยู่ “ถ้าไม่ทำให้ชัดเจน ปล่อยให้บรรยากาศอึมครึม การบังคับใช้กฎหมายก็ทำไม่ได้จริง”
“เสมือนเป็นการปฏิเสธกระบวนการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้”
ขณะที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เห็นว่า การปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้เป็นเรื่องของกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง เป็นกรอบเวลาตามที่กฎหมายกำหนด หาก คสช. ไม่ทำอะไรหรือสั่งห้าม ก็ต้องตอบให้ได้ว่าเมื่อเป็นฝ่ายเขียนกฎหมายแล้ว เหตุใดจึงไม่สามารถที่จะให้ทำตามกฎหมายได้
“วันเวลาที่กำหนดและเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติไม่ใช่เรื่องที่ทำวันเดียวเสร็จ พรรคใหม่ที่จะก่อตั้งก็ไม่รู้จะทำทันไหม การที่ไม่ให้ดำเนินการตามกฎหมายก็ดูจะเป็นการขัดกับกฎหมายอีก เสมือนเป็นการปฏิเสธกระบวนการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้”
นายปลอดประสพยังเห็นว่า ตามความเป็นจริงแล้วเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ควรมีการนำคำสั่ง คสช. มาใช้ หากขัดกับตัวบทของรัฐธรรมนูญ เรื่องเสรีภาพการแสดงออกเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะต้องเปิดโอกาสให้เป็นไปอย่างเสรี
“ผมตั้งข้อสังเกตอีกอย่างว่า คสช. หรือ ฝ่ายทหาร ต้องการจะตั้งพรรคการเมืองของตนเองหรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ยังไม่เรียบร้อย เมื่อตัวเองยังไม่พร้อมก็ไม่อยากให้คนอื่นพร้อม อาจจะเป็นเหตุผลนี้หรือไม่”
“การปฏิรูปการเมืองก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ภายในการเลือกตั้งครั้งแรก”
ข้ามมาที่พรรคการเมืองใหญ่อีกพรรคหนึ่ง อย่างพรรคประชาธิปัตย์ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า ส่วนตัวนั้นอยากเห็นการปฏิรูปการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตนเองก็ได้ออกเสียงโหวตให้ผ่านประชามติ เพื่อมุ่งหน้าสู่การปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งมีระบบใหม่ที่เรียกว่า ‘ไพรมารีโหวต’ ซึ่งจะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพื่อให้พร้อมที่จะส่งผู้สมัครลงสู่สนามเลือกตั้ง ‘ทำให้พรรคการเมืองไม่มีใครเป็นเจ้าของนอกจากสมาชิก’
“ด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ ที่ต้องการให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมาจากความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการกำหนดโดยกลุ่มอิทธิพลหรือนายทุน”
นายอรรถวิชช์อธิบายอีกว่า หาก คสช. เลือกที่จะปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป ท้ายสุดแล้วทุกพรรคการเมืองก็จะไปใช้เงื่อนไขตามบทเฉพาะกาลที่เปิดทางไว้ว่า หากมีสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองเพียงแห่งเดียว ก็สามารถส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตในจังหวัดนั้นๆ ก็ไม่ต่างกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา “ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และการปฏิรูปการเมืองก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ภายในการเลือกตั้งครั้งแรก
“แต่ถ้าหาก คสช. ตัดสินใจในตอนนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปพรรคการเมืองโดยแท้จริง” และยืนยันว่าไม่ใช่ความต้องการเรียกร้องการเลือกตั้ง แต่ตามกรอบกฎหมายแล้วก็ควรให้การเลือกตั้งสมกับความตั้งใจที่จะมีการปฏิรูปทางการเมือง และถ้าปลดล็อกแล้วมีความวุ่นวาย คสช. ก็สามารถใช้อำนาจที่มีในการดำเนินการได้
“เมื่อท่านคิดว่าเขียนกฎหมายมารัดกุมแล้วก็ไม่น่ามีอะไรต้องกังวล”
ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า มีมุมมองต่อการปลดล็อกอยู่ 2 แง่ คือ ในมุมของคนการเมืองก็แบบหนึ่ง ในมุมของคนนอกการเมืองก็แบบหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายออกมามีผลใช้บังคับแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องทำตาม แม้ว่าจะไม่สามารถทำได้ 100% แต่อันไหนทำได้ก่อนก็ควรจะต้องเปิดให้ทำ แต่ทั้งหมดนั้น ‘ต้องให้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองได้’ เพราะต้องมีการประชุมพรรค มีการจัดการเรื่องไพรมารีโหวต มีการเทียบเชิญบุคคลต่างๆ เพื่อเข้าร่วมงาน
“แม้ว่า คสช. จะสามารถออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อมาขยายเวลาที่ล่าช้าออกไป สำหรับกรอบเวลาในการดำเนินการต่างๆ แต่ความเป็นจริงแล้วมันก็ควรเป็นไปตามกฎหมาย หลายเรื่องมีรายละเอียดมากที่ต้องดำเนินการ”
นายวราวุธบอกอีกว่า ขณะนี้บรรยากาศบ้านเมืองได้ผ่านเหตุการณ์ใหญ่ที่สำคัญมาแล้ว ก็ควรจะได้เดินหน้าเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อ อย่างพรรคการเมืองก็ต้องการเข้าไปมีส่วนช่วยกิจการบ้านเมือง เช่น เหตุการณ์อุทกภัย หรืออื่นๆ แต่ก็ยังติดขัด รวมกลุ่มรวมตัวกันลำบาก
“เราไม่ได้เป็นคนควบคุมกฎกติกา ก็อยากวิงวอน อย่ากลัว เพราะเราก็อยากจะทำสิ่งดีๆ เมื่อท่านคิดว่าเขียนกฎหมายมารัดกุมแล้วก็ไม่น่ามีอะไรต้องกังวล ถ้ามีความวุ่นวายก็ควรจัดการตามกฎหมาย และควรเริ่มปลดล็อกได้แล้ว อาจเริ่มต้นเป็นขั้นๆ ไป”
โพลหนุนให้ปลดล็อกพรรคการเมือง อีกเสียงสะท้อน
ท่ามกลางการยื่นไมค์ถาม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อกรณีการปลดล็อกพรรคการเมือง เสียงอื้ออึงจากฝ่ายการเมืองว่า เมื่อไรจะเปิดพื้นที่ให้ทำอะไรๆ ได้ตามคำสัญญาเสียที อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ก็คือ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยสำนักโพล สำนักสำรวจวิจัยต่างๆ ก็ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง ประชาชนกับการปลดล็อกพรรคการเมือง โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,194 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.2 เห็นว่าควรปลดล็อกพรรคการเมือง ขณะที่ร้อยละ 29.8 เห็นว่าไม่ควร ส่วนที่เหลือร้อยละ 9.0 ไม่แน่ใจ
คำถามที่น่าสนใจอีกหัวข้อก็คือ เมื่อถามว่า ถ้าไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองแล้ว ท่านกังวลในเรื่องใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.5 กังวลเรื่องประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ รองลงมาร้อยละ 39.3 กังวลเรื่องการเลือกตั้งจะล่าช้าออกไป และร้อยละ 20.4 กังวลเรื่องพรรคการเมืองจะมีเวลาเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งน้อย
ขณะที่ ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง โพลปลดล็อก หรือ ปรับ ครม. จากความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,109 คน ระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2560 เมื่อถามถึงการปลดล็อก อนุญาตให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง พบว่า มากสุดร้อยละ 66.0 ระบุว่า ควรปลดล็อก อนุญาตให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้
ด้าน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรกับการปลดล็อกพรรคการเมือง จากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,289 คน ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายน 2560 เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่จะปลดล็อกพรรคการเมือง ร้อยละ 65.17 ระบุว่า ถึงเวลาแล้ว เพราะใกล้จะมีการเลือกตั้ง ควรให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง และร้อยละ 34.83 ระบุว่า ยังไม่ถึงเวลา
เมื่อได้ฟังเหตุผลและเสียงสะท้อนต่อการ ‘ปลดล็อก’ พรรคการเมืองแล้ว ผู้อ่านอาจจะต้องตอบคำถามตัวเองด้วยว่า ท่านคิดเห็นอย่างไร เมื่อการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะจะปลดล็อกช้าเร็วย่อมมีผลต่อการที่พรรคการเมืองจะส่งตัวแทนลงเลือกตั้งครั้งหน้า และแน่นอนว่า ‘คำตอบ’ ที่พรรคการเมืองตั้งตารอ จึงอยู่ที่ ‘คสช.’ ที่จะต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่างโดยไว ไม่เช่นนั้น ‘สัญญา’ อาจจะเนิ่นนานออกไปอีก