×

ม.หอการค้าฯ หั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ 4-6% ส่วนดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 21 ปี

โดย efinanceThai
09.04.2020
  • LOADING...

ม.หอการค้าฯ หั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ 4-6% จาก 1.1% หลังโควิดกระทบเศรษฐกิจ ฟากดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมอยู่ที่ 50.3 ต่ำสุดรอบ 21 ปี 6 เดือน ส่วนดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมเดือนมีนาคมอยู่ที่ 41.6 จากเดือนกุมภาพันธ์ 52.5 ต่ำสุดในรอบเกือบ 21 ปี 

   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ปี 2563 เบื้องต้นคาดติดลบ 4-6% จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะขยายตัวได้ 1.1% หลังโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจหนักกว่าคาด

   

โดยในเดือนมีนาคม เริ่มเห็นผลกระทบจากการที่ภาครัฐประกาศเคอร์ฟิว ส่งผลให้ประชาชนกักตุนสินค้าในช่วงแรก ก่อนที่ภาครัฐจะขยายเวลาการเคอร์ฟิว ยังไม่รวมกับประชาชนบางส่วนตกงาน รายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนที่หายไป และคาดว่าจะลากยาวไปถึงไตรมาส 3/63 

   

“เบื้องต้นเราปรับจีดีพีติดลบ 4-6% ไว้ก่อน ซึ่งจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีหน้า โดยตอนนี้ยังเชื่อว่าโควิด-19 จะคลี่คลายได้ภายในเดือนมิถุนายน แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ยังติดลบ และทำให้ไตรมาส 2 เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิค แต่จะติดลบไปถึงไตรมาส 3 และ 4 จนทำให้ทั้งปีติดลบหรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว 

   

ขณะที่การสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 50.3 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่อยู่ในระดับ 64.8 โดยเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 21 ปี 6 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังปรับตัวลดลงทุกรายการ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 41.6 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่อยู่ในระดับ 52.5 ต่ำสุดรอบ 20 ปี 11 เดือน 

   

สำหรับดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เนื่องจากการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละรายการปรับตัวลดลงมากกว่า 10 จุดภายในเดือนเดียว เนื่องจากความกังวลในวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งการปรับตัวลดลงอย่างมากภายในเดือนเดียวทุกรายการเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอด 21 ปี 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 ที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมา

   

โดยผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต 

   

นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งยังซ้ำเติมปัญหาต่อภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

    

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่อง และปรับตัวลดลงอย่างมากจนทุกรายการในเดือนนี้ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมยังปรับตัวลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจ 21 ปี 6 เดือน และคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะยังคงปรับตัวลดลต่อเนื่องต่อไปในอนาคตจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลายตัวลง ดังนั้น คาดว่าผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

   

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 2/63 คาดหายไป 4 ล้านคน จาก 10 ล้านคนในไตรมาส 1/63 ซึ่งปกติไตรมาส 2 จะมีนักท่องเที่ยวมาในไทยประมาณ 9 ล้านคน ทำให้ปีนี้คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะหายไป 12-13 ล้านคน ส่งผลให้เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 6 แสนล้านบาท และหากรวมกับนักท่องเที่ยวในประเทศอีก 1 แสนล้านบาท ทำให้ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 7 แสนล้านบาท

   

“มาตรการภาครัฐที่อัดฉีดเม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านบาทนั้น ประเมินว่า จะพยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยจะเห็นเม็ดเงินเข้าระบบได้ 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งจะมาจากนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน โดยต้องติดตามผลต่อไปว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะพยุงเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน”ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

รายงาน: กรณัช พลอยสวาท 

เรียบเรียง: สุรเมธี มณีสุโข 

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising