สหรัฐฯ ใช้สิทธิวีโต้ ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) วานนี้ (18 เมษายน) โดยคัดค้านร่างมติที่เสนอให้รับรองปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นการยับยั้งการรับรองความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ด้วยเช่นกัน
โดยอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์งดออกเสียง ส่วนสมาชิก UNSC ที่เหลืออีก 12 ประเทศ รวมถึงสมาชิกถาวรอย่างฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย ลงมติเห็นชอบ
โรเบิร์ต วูด (Robert Wood) รองเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ระบุว่า รัฐปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระควรได้รับการสถาปนาผ่านการเจรจาโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับทางการปาเลสไตน์ ไม่ใช่ผ่านการดำเนินการในเวที UN
“สหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนการแก้ปัญหาตามแนวทางแบบสองรัฐ (Two-State Solution) อย่างแข็งขัน ซึ่งการลงมติครั้งนี้ไม่ได้สะท้อนถึงการต่อต้านความเป็นรัฐปาเลสไตน์ แต่เป็นการยอมรับว่ามันจะเกิดขึ้นจากการเจรจาโดยตรงระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น”
ด้านประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ ออกแถลงการณ์ประณามการใช้สิทธิวีโต้ของสหรัฐฯ ว่า “ไม่ยุติธรรม ผิดจริยธรรม และไร้เหตุผล” โดยชี้ว่า สหรัฐฯ กำลังท้าทาย “เจตจำนงของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ของปาเลสไตน์”
ขณะที่ ริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติ กล่าวต่อที่ประชุม UNSC หลังการลงมติว่า “ข้อเท็จจริงที่ร่างมตินี้ไม่ผ่าน จะไม่ทำลายเจตจำนงของเรา และจะไม่ทำลายความมุ่งมั่นของเรา เราจะไม่หยุดความพยายามของเรา”
ความพยายามผลักดันปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิก UN โดยสมบูรณ์ เกิดขึ้นหลังจากที่สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซาปะทุขึ้นยาวนานกว่า 6 เดือน ในขณะที่อิสราเอลพยายามขยายการตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่ง UN ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ภาพ: Eduardo Munoz / Reuters
อ้างอิง: