ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ชี้ จีนเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพ นับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
จอห์น แรดคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ว่า รัฐบาลจีนเพิ่มอำนาจให้ตนเองด้วยการจารกรรมความลับของสหรัฐฯ และสร้างบริษัทเข้าแทนที่บริษัทสัญชาติอเมริกันในตลาด
ยกตัวอย่างบริษัทผู้ผลิตกังหันลมของจีน ที่ศาลสหรัฐฯ ตัดสินว่ามีความผิดฐานจารกรรมข้อมูลจากบริษัทคู่แข่งสัญชาติอเมริกัน ก่อนจะผลิตสินค้าจากเทคโนโลยีที่ขโมยมาแล้ววางจำหน่ายไปทั่วโลก ในขณะที่บริษัทสหรัฐฯ ที่เป็นคู่กรณีกลับเสียมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ และจำเป็นต้องปลดพนักงาน
พฤติกรรมช่วงชิง ทำเลียนแบบ และเข้าแทนที่ของจีน ทำให้ตอนนี้จีนเป็นเป้าหมายสังเกตการณ์ของปฏิบัติการข่าวกรอง และการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ แทนที่รัสเซียแล้ว
เพราะไม่เพียงจีนจารกรรมข้อมูลทางเศรษฐกิจ แต่ยังดำเนินการแทรกแซงด้วยอิทธิพลครั้งใหญ่ พุ่งเป้าสมาชิกรัฐสภาและเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการปลุกปั่นให้สหภาพต่างๆ ในบริษัทยักษ์ใหญ่ ใช้อิทธิพลกดดันนักการเมืองอเมริกันให้มีท่าทีออมชอมกับจีน มิเช่นนั้นจะต้องเสียคะแนนจากฐานเสียงในสหภาพ โดยจีนพุ่งเป้าโจมตีสมาชิกรัฐสภาด้วยวิธีการลักษณะนี้ มากกว่าที่รัสเซียเคยทำถึง 6 เท่า และมากกว่าอิหร่านถึง 12 เท่า
แรดคลิฟฟ์ซึ่งเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ยังเตือนว่า รัฐบาลจีนกำลังเตรียมเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และตั้งใจจะครอบครองโลกในทางเศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยี
ข้อกล่าวหาของผู้ที่นั่งตำแหน่งสูงสุดในประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ ที่มีสมาชิกเป็นหน่วยข่าวกรองอเมริกัน 17 หน่วยงาน สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ และผู้อำนวยการเอฟบีไอ คริสโตเฟอร์ เรย์ เคยกล่าวถึงจีนก่อนหน้านี้
แต่การที่แรดคลิฟฟ์ออกมากล่าวโจมตีจีนครั้งนี้ มีนัยสำคัญทางการเมือง เพราะเกิดขึ้นหลังจีนยกระดับกดดันพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างออสเตรเลีย โดยเปิดเผยรายการสิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการให้ออสเตรเลียเปลี่ยนในเชิงพฤติกรรม และขึ้นภาษีไวน์ที่นำเข้าจากออสเตรเลีย ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของออสเตรเลีย ด้วยมูลค่าทางการค้ามากกว่าจีน สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ รวมกันเสียอีก
โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน หัวชุนอิ๋ง แถลงการณ์เมื่อวันพุธ (2 ธันวาคม) กล่าวหาสหรัฐฯ ว่า กำลังเปิดฉากกดดันทางการเมืองกับจีนในหลายด้าน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากอคติเชิงอุดมการณ์และเชิงยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ มีต่อจีน
“จีนมีคำพังเพยว่า ‘เรามองเห็นในสิ่งที่จิตเราเชื่อ’ เราหวังว่าสหรัฐฯ จะหยุดมองทุกคนเป็นสายลับเสียที”
ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ วางจุดยืนแข็งกร้าวกับจีน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ทั้งการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน กล่าวหาจีนว่าจารกรรมข้อมูลทรัพย์สินทางปัญหาของบริษัทสหรัฐฯ และคว่ำบาตรลงโทษนักการเมืองจีนหลายคน ฐานอยู่เบื้องหลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์อย่างรุนแรงและโหดร้าย
แม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีกำหนดขึ้นสาบานตนรับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2021 จะมีจุดยืนทางนโยบายที่แตกต่างจากทรัมป์ในหลายประเด็น แต่ผู้สังเกตการณ์และสื่อต่างชาติคาดการณ์ว่า ไบเดนจะดำเนินนโยบายต่อต้านจีนต่อไป แต่เปลี่ยนมาใช้แรงกดดันทางการทูตจากชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ มากขึ้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: