×

นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: อนาคตของทรัมป์กับวิกฤตโควิด-19

17.03.2020
  • LOADING...

จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อนาคตในการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงแม้จะไม่เรียกได้ว่าสดใสอย่างหมดจด แต่ก็เป็นที่พรั่นพรึงของพรรคเดโมแครตไม่น้อย ถึงกับที่สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนให้ความเห็นว่า เป้าหมายเพียงอย่างเดียวในการเลือกตัวแทนของพรรคเดโมแครตเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คือการโค่นล้มทรัมป์ให้ได้ 

 

นั่นเป็นที่มาว่าเหตุใดในการลงคะแนนเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีในสมัยโอบามาจึงมีชัยชนะเหนือ เบอร์นี แซนเดอร์ส ถึงใน 10 รัฐ จาก 14 รัฐที่มีการลงเสียงในวันดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้ง พีต บุตติเจจ และ เอมี โคลบูชาร์ ถอนตัวออกจากการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตแล้วหันมาให้การสนับสนุนไบเดน แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะไบเดนมีโอกาสได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ไม่สุดโต่งมากกว่าแซนเดอร์ส ทำให้มีโอกาสในการชนะการเลือกตั้งมากกว่า

 

แต่เมื่อสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายแรกใกล้เมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ อนาคตของทรัมป์ในการกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยอาจไม่สดใสเช่นเดิม

 

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผลสำรวจคะแนนนิยมของทรัมป์โดยแกลลัปแสดงให้เห็นว่า อัตราการรับรองการทำงานของทรัมป์ตกลงจากช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปอยู่ที่ 47% ในขณะที่อัตราการไม่รับรองเพิ่มขึ้นเป็น 51% เช่นเดียวกับเว็บไซต์รับพนันผลการเลือกตั้ง ที่ปรับอัตราเงินพนันว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งลงต่ำกว่า 50 เซนต์เป็นครั้งแรกในวันที่ 12 มีนาคม

 

ทั้งหมดสะท้อนความเชื่อมั่นในการจัดการกับวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปี 2020 นี้

 

จนถึงกลางเดือนมีนาคม รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศห้ามชาวต่างชาติที่เดินทางไปเยือนจีน อิหร่าน และประเทศในกลุ่มเชงเก้น อังกฤษ และไอร์แลนด์ในช่วง 14 วันก่อนเดินทางมาสหรัฐฯ เข้าประเทศ สำหรับมาตรการภายในประเทศ รัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมมือกับสภาคองเกรส ประกาศให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจโควิด-19 ได้ตามจุดตรวจต่างๆ ฟรี และให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยในกรณีที่ป่วย และต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 2 อาทิตย์ รวมถึงให้การช่วยเหลือทางด้านอาหาร และการเงินอื่นๆ กับประชาชน

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศปิดโรงเรียน ห้ามการพบปะเกิน 10 คน ห้ามการนั่งกินอาหารในบาร์และร้านอาหาร โดยมาตรการทั้งหมดนี้มีขึ้นเพื่อบังคับให้คนมีระยะห่างจากกัน หรือที่เรียกว่า Social Distancing เพื่อชะลอการติดต่อของโรคโควิด-19 เพราะการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ เป็นอัมพาตได้ อาจจะดูเหมือนว่าสหรัฐฯ มีมาตรการในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ในความเป็นจริง การปฏิบัติตามมาตรการที่ว่ากลับก่อให้เกิดความสับสนในหมู่สาธารณชนพอสมควร เริ่มตั้งแต่คำถามที่ว่า ถ้ามีอาการแล้วควรจะไปตรวจที่ไหน? เราจะสามารถเดินเข้าไปตรวจได้เลยหรือไม่? คำถามเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการสื่อสารกับสาธารณชนในวงกว้าง

 

 

แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่า ประชาชนที่ประสงค์จะได้รับการตรวจ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็สามารถเข้ารับการตรวจได้ แต่ในความเป็นจริงจะได้รับการตรวจหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละรัฐ บางรัฐผู้ป่วยจะต้องติดต่อแพทย์หรือโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเป็นประจำก่อน เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19 หรือไม่ และผู้ป่วยอาจต้องรอผลตรวจจากแล็บเป็นเวลานานถึง 4 วัน แต่หากผู้ป่วยไม่มีประกันชีวิต นั่นหมายความว่าผู้ป่วยอาจไม่มีโรงพยาบาลหรือแพทย์ที่รักษาอยู่ประจำ จึงก่อความสับสนว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถเข้ารับการตรวจได้อย่างไร

 

แม้แต่ในการเข้ารับการตรวจแบบ Drive-Thru ผู้เข้ารับการตรวจก็ต้องถูกคัดกรองโดยพยาบาลก่อนว่า มีอาการป่วยเข้าข่ายเป็นโควิด-19 หรือไม่ และกว่าจะได้รับการตรวจโควิด-19 ผู้เข้ารับการตรวจจะถูกตรวจวัดไข้หวัดใหญ่ก่อน ซึ่งหากผู้เข้ารับการตรวจไม่มีประกันชีวิต ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องแบกภาระค่าตรวจไข้หวัดใหญ่เอง โดยรวมแล้วการตรวจโควิด-19 แบบ Drive-Thru ที่สหรัฐฯ ก็กินเวลาไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง

 

นี่ยังไม่รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีประกันสุขภาพ ที่จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง เพราะแม้ว่ารัฐบาลออกกฎหมายให้ทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจโควิด-19 ได้ฟรี แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงการเข้ารับการรักษา แม้แต่การเข้าห้องฉุกเฉินก็มีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่ประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพจะสามารถแบกรับได้

 

จนถึงตอนนี้ ทรัมป์ถูกวิจารณ์เป็นวงกว้างว่าไม่สามารถรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ประเทศในเอเชียเผชิญกับวิกฤตดังกล่าวไปล่วงหน้าแล้วถึง 2-3 เดือน 

 

นับตั้งแต่สหรัฐฯ พบผู้ป่วยเสียชีวิตรายแรก รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เวลา 1 วันเพื่อประกาศไม่ให้คนที่เดินทางไปอิหร่านเดินทางเข้าประเทศ และออกประกาศเตือนขั้นสูงสุดไม่ให้เดินทางไปยังเกาหลีใต้และอิตาลีในบริเวณที่มีการระบาด (ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมทรัมป์จึงเพิ่มอิหร่านเข้าไปในรายชื่อประเทศที่ห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว ทั้งๆ ที่ในเวลาดังกล่าว เกาหลีใต้มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุดรองจากจีนแล้ว) ใช้เวลา 3 วันเพื่อประกาศให้ทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจโควิด-19 ได้ฟรี ทั้งๆ ที่ยังไม่มีเครื่องมือพร้อมในการให้บริการ ใช้เวลาถึง 13 วันในการประกาศสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลใช้งบประมาณฉุกเฉินเพื่อรับมือกับไวรัสดังกล่าว 

 

แต่กระนั้น ในสภาวะที่มลรัฐต่างๆ กำลังเผชิญกับการขาดแคลนอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อสู้กับโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัยและเครื่องช่วยหายใจ ทรัมป์กลับออกมาบอกให้แต่ละรัฐจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวกันเอง ก่อนที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลกลางช่วย

 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวของทรัมป์ ผลสำรวจของ CNN เมื่อต้นเดือนมีนาคมยังคงพบว่า ประชาชนถึง 57% ยังมั่นใจกับการรับมือกับโควิด-19 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะที่ 41% ไม่มั่นใจ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ในการรับมือกับอีโบลาและไข้หวัดนก ในช่วงก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก

 

อนาคตในการกลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยของทรัมป์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในการรับมือกับโควิด-19 หลังจากนี้ หากปรากฏว่าสหรัฐฯ สามารถรับมือได้ดี คะแนนความนิยมของทรัมป์ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องความสับสนในการตรวจโควิด-19 และการรักษาได้อย่างทันท่วงที คะแนนนิยมของทรัมป์ก็อาจจะลดต่ำลงอีก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทรัมป์จะไม่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นสมัยที่สอง เพราะกองเชียร์ทรัมป์ที่ไม่ว่ายังไงก็ยังจะเลือกทรัมป์ก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X