สหภาพยุโรป (EU) กำลังเตรียมการที่จะขยายมาตรการคว่ำบาตรกองทัพของเมียนมา โดยพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจของกองทัพ เพื่อเป็นการตอบโต้การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จากการรายงานของ Reuters โดยอ้างการเปิดเผยของนักการทูตและเอกสารภายในจำนวน 2 ฉบับ
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เอกสารซึ่งลงวันที่ 5 มีนาคม ระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปอาจลงมติให้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวในวันที่ 22 มีนาคมนี้ โดยจะพุ่งเป้าไปยังบริษัทต่างๆ ที่สร้างรายได้หรือให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กองทัพเมียนมา
ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีคำสั่งห้ามค้าอาวุธกับเมียนมา และมีการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงบางคนมาตั้งแต่ปี 2018 อย่างไรก็ตาม มาตรการลงโทษใหม่นี้จะถือเป็นการตอบโต้ที่มีนัยสำคัญที่สุดนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารครั้งล่าสุด
นักการทูตของสหภาพยุโรปเผยกับ Reuters ว่า กลุ่มบริษัทของกองทัพเมียนมา ได้แก่ Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) และ Myanmar Economic Corporation (MEC) อาจเป็นเป้าของการคว่ำบาตรในครั้งนี้ โดยจะห้ามไม่ให้นักลงทุนและธนาคารของสหภาพยุโรปทำธุรกิจกับกลุ่มบริษัทเหล่านี้
กลุ่มบริษัทเหล่านี้มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของเมียนมา ตั้งแต่การทำเหมือง การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงโรงแรม โทรคมนาคม และธนาคาร อีกทั้งยังติดอันดับผู้เสียภาษีรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยกลุ่มบริษัทของกองทัพเมียนมาได้แสวงหาความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ เมื่อเมียนมาเปิดประเทศในช่วงที่มีการเปิดเสรีประชาธิปไตย
เมื่อปี 2019 หน่วยงานอิสระที่ดูแลด้านการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีเมียนมาของสหประชาชาติเคยเสนอแนะให้มีการคว่ำบาตรทั้งสองกลุ่มบริษัทดังกล่าว รวมถึงบริษัทย่อย โดยกล่าวว่า ธุรกิจเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้พิเศษของกองทัพ และสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
Reuters รายงานว่า ได้ติดต่อโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อขอให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวการขยายมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป แต่ไม่สามารถติดต่อโฆษกได้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหภาพยุโรปเปิดเผยว่า ได้ระงับการสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาให้แก่เมียนมา อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ ทาง EU ยังไม่ได้ยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่เมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อแรงงานสตรีในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ไฮโก มัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า มาตรการคว่ำบาตรใหม่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของสหภาพยุโรปในการลงโทษเมียนมาทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้การรัฐประหาร
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปประณามการก่อรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนที่แล้ว และรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปเรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี และคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน
อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องดังกล่าวถูกเพิกเฉย นอกจากนี้ตำรวจและทหารยังได้สังหารประชาชนมากกว่า 50 ราย ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมและการเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
การเตรียมคว่ำบาตรธุรกิจเมียนมาโดยสหภาพยุโรปเกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตรเมียนมา โดยมุ่งเป้าไปที่กองทัพและผลประโยชน์ทางธุรกิจของกองทัพ
นอกจากนี้เอกสารเผยด้วยว่า สหภาพยุโรปยังเตรียมที่จะอายัดทรัพย์สินและห้ามการเดินทางของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจชายแดนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร โดย EU อยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับรายชื่อบุคคลที่จะถูกคว่ำบาตรดังกล่าว
ภาพ: Dursun Aydemir / Anadolu Agency via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: