วานนี้ (17 พฤษภาคม) เฮนเรียตตา โฟร์ (Henrietta Fore) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้ออกมาเรียกร้องเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 แห่ง หรือ G7 บริจาควัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่วนเกินให้กับ COVAX ซึ่งเป็นโครงการจัดหาและจัดส่งวัคซีนระดับโลกให้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
ทั้งนี้ การเรียกร้องของเธอเกิดขึ้นก่อนจะมีการพบปะระหว่างบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ตามกำหนดการในสหราชอาณาจักรในเดือนหน้า โฟร์กล่าวโดยอ้างอิงผลการวิเคราะห์ข้อมูลใหม่จาก Airfinity ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ว่า หากกลุ่ม G7 และกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแบ่งปันวัคซีนที่ตนได้รับในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมเพียงร้อยละ 20 พวกเขาจะสามารถบริจาควัคซีนได้ราว 153 ล้านโดส โดยที่ยังสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนของตนได้ตามที่ให้คำมั่นไว้
“ในยามที่สมาชิกกลุ่ม G7 บางประเทศมีวัคซีนมากกว่าประเทศอื่นๆ และบางประเทศได้ฉีดให้ประชาชนในประเทศไปมากแล้วเช่นนี้ จำเป็นต้องมีการร่วมมืออย่างเร่งด่วนเพื่อรวบรวมวัคซีนส่วนเกิน และแบ่งเบาภาระความรับผิดชอบที่มี อันจะช่วยเหลือกลุ่มประเทศเปราะบางไม่ให้กลายเป็นพื้นที่เกิดโรคระบาดใหญ่แห่งใหม่” โฟร์กล่าว
โฟร์กล่าวด้วยว่า การแบ่งปันวัคซีนส่วนเกินโดยเร็วถือเป็นมาตรการขั้นต่ำในการลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นมาตรการฉุกเฉินที่สำคัญที่จำเป็นต้องทำในขณะนี้ สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนระดับโลก ส่งผลให้ปริมาณวัคซีนที่ต้องถูกจัดส่งให้กับโครงการ COVAX ลดลงอย่างมาก อุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้โครงการ COVAX ไม่ได้รับวัคซีน 140 ล้านโดส สำหรับการแจกจ่ายไปยังกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ทั้งยังมีแนวโน้มจะไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนดในเดือนมิถุนายนอีก 50 ล้านโดส
โฟร์กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางออกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของการระบาดครั้งนี้คือการกระจายวัคซีน การวินิจฉัย และการบำบัดรักษาทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งโครงการ COVAX ที่มี UNICEF เป็นผู้ดำเนินการหลัก เป็นตัวแทนของทางออกดังกล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: สำนักข่าวซินหัว