×

“ผู้ลี้ภัยต้องหมดจากโลกนี้” กัณวีร์ สืบแสง คนไทยหนึ่งเดียวกับภารกิจช่วยผู้ลี้ภัยที่ซูดานใต้

20.06.2019
  • LOADING...
UNHCR

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ซูดานใต้ ประเทศน้องใหม่ล่าสุดของโลกที่องค์การสหประชาชาติให้การรับรองไปเมื่อปี 2011 ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต ผู้คนจำนวนมากอดอยากเพราะไม่สามารถออกไปหาอาหารได้
  • กัณวีร์ สืบแสง คือเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับความไว้วางใจให้ไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศซูดานและซูดานใต้

ในดินแดนที่ห่างไกลจากประเทศไทยไปประมาณ 7,500 กิโลเมตรบนทวีปแอฟริกา มีผู้คนกว่า 2 ล้านคนต้องจากบ้านของพวกเขาเพื่อหลีกหนีการประหัตประหารจากพี่น้องชาติเดียวกัน และกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หรือไม่ก็ต้องหลีกหนีออกนอกประเทศและกลายเป็นผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม เพียงเพราะความขัดแย้งทางด้านการเมือง ทรัพยากร และเชื้อชาติที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองเป็นเวลากว่า 5 แล้ว

 

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศซูดานใต้ ประเทศน้องใหม่ล่าสุดของโลกที่องค์การสหประชาชาติให้การรับรองไปเมื่อปี 2011 ยังคงอยู่ในระดับวิกฤต ผู้คนจำนวนมากอดอยากเพราะไม่สามารถออกไปหาอาหารได้ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับเด็กที่ไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอสำหรับพัฒนาการที่ดี ในขณะที่ความช่วยเหลือจากทั้งองค์การสหประชาชาติและประเทศต่างๆ ได้หลั่งไหลเข้าไปในประเทศซูดานใต้อย่างไม่หยุดหย่อน แต่สถานการณ์ผู้ลี้ภัยกลับไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

 

วิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนนี้กำลังเป็นที่จับตาของหลายฝ่ายที่ต่างเรียกร้องให้มีการยุติความขัดแย้งและให้การช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้โดยเร็ว ซึ่งแม้กระทั่งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ก้มลงจุมพิตลงบนเท้าของคู่ขัดแย้งมาแล้วเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดมั่นว่าสงครามกลางเมืองจะไม่เกิดขึ้นอีก

 

THE STANDARD พูดคุยกับ กัณวีร์ สืบแสง เจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่เคยมีโอกาสได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศซูดานและซูดานใต้ เป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับความไว้วางใจให้ไปปฏิบัติภารกิจนี้ ที่จะมาบอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานด้านผู้ลี้ภัยในพื้นที่ต่างๆ มาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี

 

UNHCR

 

เริ่มต้นเข้ามาร่วมทำงานกับ UNHCR ได้อย่างไร ทำไมถึงสนใจที่จะทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

จริงๆ ต้องย้อนกลับไปยาวเลยตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ ซึ่งตอนนั้นเรียนเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ เน้นด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายด้านผู้ลี้ภัยโดยตรง พอเรียนจบแล้วกลับมา ตอนแรกยังไม่ได้ทำงานร่วมกับ UNHCR เพราะการรับเข้าทำงานค่อนข้างจะลำบากพอสมควร เลยเริ่มต้นจากการรับราชการก่อนที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลเรื่องผู้ลี้ภัยภายในประเทศไทย

 

หลังจากทำงานมาได้พอสมควรสักประมาณ 7-8 ปี ได้รับการเชิญจาก UNHCR ให้ไปร่วมงานด้วย เพราะเขาเห็นว่าเรามีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายระหว่างประเทศและผู้ลี้ภัย เลยเข้าร่วมและเริ่มต้นจากการไปประจำที่สำนักงานภาคสนามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดูแลผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศเมียนมา

 

ในประเทศไทยเราเองก็มีค่ายผู้ลี้ภัย แต่ประเทศไทยจะไม่เรียกพวกเขาว่าผู้ลี้ภัย เราเรียกว่าผู้หนีภัยจากการสู้รบ เนื่องจากว่าประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันกับองค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสถานะผู้ลี้ภัย (Convention Relating to the Status of Refugee) เพราะฉะนั้นตามหลักการแล้ว ในประเทศไทยจะไม่มีผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเลยแม้แต่คนเดียว จะมีแค่ผู้หนีภัยจากการสู้รบหรือผู้มาขอลี้ภัยเท่านั้น

 

UNHCR

 

แล้วผู้ลี้ภัยกับผู้หนีภัยจากการสู้รบแตกต่างกันหรือไม่

ในแง่มุมเวทีระหว่างประเทศถือว่าไม่แตกต่าง พวกเขาก็เป็นผู้ลี้ภัยนี่แหละ เพราะเหตุผลในการเดินทางออกนอกประเทศของพวกเขาคือการหนีการประหัตประหารด้านทางด้านการเมือง การหนีการประหัตประหารทางด้านสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวที่กฎหมายระหว่างประเทศให้การรับรอง

 

ภารกิจที่ได้รับมอบหมายมีอะไรบ้าง

ภารกิจครั้งล่าสุดที่ได้รับมอบหมายคือการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานภาคสนามเมือง Al Fashir และเมือง Al-Junaynah ประเทศซูดาน แต่ภารกิจแรกที่ได้รับมอบหมายต้องย้อนกลับไปสมัยที่ประเทศซูดานใต้เพิ่งจะแยกออกมาจากประเทศซูดานเมื่อปี 2011 ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการตกลงแยกประเทศกันแล้ว ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศยังคงมีอยู่ที่บริเวณชายแดน ส่งผลให้ผู้คนต้องหนีภัยจากซูดานลงมาซูดานใต้

 

หน้าที่ของผมตอนนั้นคือไปเปิดสำนักงาน UNHCR ที่เมือง Yida ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศซูดานใต้ มีผู้อพยพชาว Nubian ที่เคยอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขา Nubian ของประเทศซูดานหนีการประหัตประหารลงมากว่า 25,000 คน ซึ่งเราได้ให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศให้แก่คนกลุ่มนี้

 

การคุ้มครองระหว่างประเทศ หรือ International Protection หลายคนคงสงสัยว่ามันคืออะไร แสดงว่า UNHCR ให้ความคุ้มครองด้านการทหารด้วยใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่นะครับ หน่วยงานของเราเป็นหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน เราจะให้ความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ให้เรื่องเกี่ยวกับสถานะความเป็นผู้ลี้ภัย ให้พวกเขาสามารถมีสิทธิและโอกาสในการดำรงชีวิตได้เหมือนคนทั่วไปโดยที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้พวกเขาได้มีที่พักอาศัย อาหาร การใช้จ่ายต่างๆ

 

UNHCR

 

สภาพความเป็นอยู่เป็นอย่างไร มีความยากลำบากหรืออันตรายร้ายแรงมากแค่ไหน

ถ้าเราดูกันจริงๆ นะครับ พวกเขาหนีมาโดยที่ไม่มีอะไรเลย เสื้อผ้าบางคนก็ไม่มี มีแค่ชุดเดียวก็อยู่อย่างนั้น อาหารการกินก็ไม่มี น้ำนี่ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเลย ตอนที่ผมไปอยู่ตอนแรกคนหนีเข้ามา เราก็ต้องไปเปิดค่าย เปิดสำนักงานลงทะเบียน เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกเลยต้องมาขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ

 

UNHCR หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำงานได้ เพราะความช่วยเหลือนี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติต่างๆ เช่น World Food Program (โครงการอาหารโลก) หรือ World Health Organization (องค์การอนามัยโลก) สำหรับ UNHCR มีหน้าที่หลักในการประสานงานการให้ความช่วยเหลือในด้านสิทธิมนุษยชนกับผู้ลี้ภัย เราก็จะดึงศักยภาพของหน่วยงานแต่ละหน่วยมาให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

 

สำหรับค่ายแรกที่ผมไปที่เมือง Yida ประเทศซูดานใต้ มีผู้ลี้ภัยอยู่กันประมาณ 30,000 คน แต่พอมาค่ายที่สองที่เมือง Rumbek มีผู้ลี้ภัยอยู่กันมากถึง 800,000 คน พอเราไปจัดตั้งค่ายขึ้นมาก็โดนโจมตีอยู่บ่อยครั้ง และยังมีปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย เพราะในวัฒนธรรมของพวกเขา ผู้หญิงจะต้องเป็นคนหาน้ำมา ซึ่งในการไปเอาน้ำแต่ละครั้งจะต้องเดินทางไกล ทำให้มีการฉุดกระชากกระทําชําเราอยู่บ่อยครั้ง เราก็ต้องประสานให้รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้การดูแลคุ้มครอง

 

ถ้าถามว่าค่ายผู้ลี้ภัยมีหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องอธิบายว่าค่ายผู้ลี้ภัยมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบคือ 1. ค่ายแบบจัดตั้งที่มีรั้วรอบขอบชิด 2. ค่ายแบบจัดตั้งที่ไม่มีรั้ว และ 3. ไม่มีค่ายเลย เป็นการอยู่กันเป็นหมู่บ้านตามปกติ ส่วนเหตุผลที่ต้องมีรั้วเป็นเรื่องของความสะดวกในการบริหารจัดการ

 

แล้วอะไรทำให้คุณได้รับการคัดเลือกให้ไปปฏิบัติภารกิจนี้

เป็นการสมัครเข้าไปครับ เขาก็จะดูจากประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่เผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน พอได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 40 กว่าคนก็ถูกส่งไปอบรมอีก ก่อนที่เขาจะส่งให้ไปลงพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละปีมีผู้ผ่านการคัดเลือกน้อย ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการสูง เพราะศักยภาพด้านการเงินของหน่วยงานไม่เอื้ออำนวย

 

องค์กรระหว่างประเทศที่หลายๆ คนอาจจะคิดว่ามีเงิน แต่จริงๆ แล้วเงินมาจากประเทศผู้บริจาค ซึ่งก็มีข้อจำกัดค่อนข้างจะสูง เพราะฉะนั้นเขาก็เลือกคนน้อยๆ แต่ส่งไปพื้นที่หลายพื้นที่ ค่อนข้างลำบากพอสมควร

 

UNHCR

 

เห็นว่าความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยลำบากแล้ว ของเจ้าหน้าที่ล่ะ ต้องมีการปรับตัวอย่างไรในการลงพื้นที่

เราก็คงจะต้องทำตัวให้เหมือนผู้ลี้ภัย คงจะทำตัวให้แตกต่างไม่ได้ เขาอยู่อย่างไรเราก็อยู่อย่างนั้น การกินอยู่ก็ต้องกินอยู่อย่างเขา อย่างที่เรียนให้ทราบว่าตอนที่ถูกส่งให้เปิดสำนักงานที่เมือง Yida ตอนนั้นก็ไม่มีอะไรเลย พอลงเฮลิคอปเตอร์ไปมีเจ้าหน้าที่แค่ 3-4 คนช่วยกันเปิดสำนักงานโดยที่น้ำก็ไม่มี แต่ว่าการที่เราได้รับการอบรมมา ทำให้พอรู้ว่าจะต้องหาแหล่งน้ำที่ไหน หาอาหารที่ไหน กินเหมือนคนทั่วๆ ไป ซึ่งยากลำบากเหมือนกัน

 

ตอนที่ลงพื้นที่ไปคาดหวังอะไรบ้าง แล้วพอไปถึงที่ซูดานใต้เป็นไปตามความคาดหวังนั้นหรือไม่ ประสบปัญหาในการทำงานอะไรบ้าง

สิ่งที่เจอกับความคาดหวังคงเป็นอย่างเดียวกัน เพราะเราทราบอยู่แล้วว่าเราลงพื้นที่ไปไม่มีอะไรรองรับแน่นอน เป็นพื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งเราก็คาดหวังและเตรียมตัวไว้ แต่การเตรียมตัวอย่างเดียวไม่พอ ต้องเตรียมใจด้วย ถ้าใจไม่ถึงยังไงก็อยู่ไม่ได้ เราเป็นคนต่างชาติ เราไปยังพื้นที่ที่เราไม่เคยอยู่มาก่อน เราก็จะเห็นความลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ การพักอาศัยที่ทุกอย่างเหมือนกับที่เรามีความคิดในจินตนาการ

 

แต่ในจินตนาการหลายๆ คนอาจจะมองว่ามันดูเท่ มันดูสนุก แต่จริงๆ แล้วเวลาไปอยู่แค่วันเดียวเราก็จะตระหนักดีว่ามันไม่ควรที่จะมีผู้ลี้ภัยอยู่บนโลกนี้ ขนาดเราไปตั้งค่ายผู้ลี้ภัยยังมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่ ซึ่งผิดกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกฎหลักเลยว่าประเทศใดก็ตามไม่ควรที่จะทำร้ายประชาชนที่ได้รับการยอมรับแล้วว่าเป็นผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังคงมีการยิงใส่ค่ายผู้ลี้ภัยอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

UNHCR

 

สิ่งที่ประทับใจคืออะไร ที่คนไทยหลายคนอาจจะไม่เคยพบเจอคนแอฟริกามาก่อน พวกเขาเป็นคนอย่างไร

ต้องยอมรับว่าเมื่อพวกเขาได้เป็นผู้ลี้ภัยแล้ว พวกเขาจะมีความต้องการสูง เพราะว่าพวกเขาก็ต้องการกินอยู่เหมือนคนทั่วไป แต่ว่าสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญมาทำให้ไม่สามารถอยู่ได้ พอลงไปถึงในพื้นที่ ทุกคนมีความรุนแรง เพราะสิ่งต่างๆ ที่เรามีให้เขาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่พักอาศัย หรืออะไรก็ตาม เราให้อาหารเขาได้แค่จานเดียวต่อวัน แต่พวกเขาต้องการ 4 จานต่อวัน

 

ความประทับใจที่มีคือ ทุกครั้งที่เราเอาอะไรไปให้ พวกเขาจะมีสิ่งตอบแทนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการร้องรำทำเพลง การเต้นรำ การเข้ามาขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่มาให้ความดูแลพวกเขา บางครั้งที่ทีมงานของผมสามารถผลักดันให้พวกเขาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามได้ ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางออกไป คนทั้งหมู่บ้านมาทำอาหารให้เราทานขนาดที่พวกเขาเองยังแทบที่จะไม่มีอะไรให้ทาน ลำบากไปหาของป่ามาทำอาหารให้เราทั้งวันทั้งคืนเพื่อเป็นการขอบคุณที่เราสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ ซึ่งนั่นก็เป็นกำลังใจให้เราเล็กๆ น้อยๆ เพราะเราก็ไม่ต้องการอะไรสูงอยู่แล้ว เข้าไปทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน แค่รอยยิ้มอย่างเดียวเราก็พอใจแล้วครับ

 

UNHCR

 

ในการลงพื้นที่แต่ละครั้งมีอะไรที่เราเห็นว่ามันแปลกไหมที่อยากจะแชร์เพิ่มบ้าง

ก่อนอื่นต้องเรียนก่อนว่า ผู้ลี้ภัยก็คือคนคนหนึ่งเหมือนพวกเราทุกคน และเราก็คงไม่อยากที่จะเห็นญาติพี่น้องของเราเป็นผู้ลี้ภัย การเป็นผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องสนุกและการทำงานเรื่องผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องสนุกเช่นเดียวกัน

 

แต่สิ่งที่แปลกอาจจะเป็นเรื่องใน UNHCR เองที่มีคำพูดที่ว่า วันใดก็ตามที่เราสามารถปิดสำนักงานได้ วันนั้นเป็นวันที่เราต้องฉลองกัน หลายๆ คนคงมองว่าถ้าปิดสำนักงาน พวกคุณก็ต้องตกงานสิ แต่จริงๆ แล้วพวกเราทำงานเพื่อที่จะตกงาน ถ้าวันใดก็ตามที่ผู้ลี้ภัยหมดไปจากโลกนี้ สำนักงาน UNHCR หมดไปจากโลกนี้ นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องงานแต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าโลกนี้จะไม่มีความขัดแย้งแล้ว โลกนี้จะมาซึ่งสันติสุข โลกนี้จะไม่ทำให้คนคนหนึ่งต้องเป็นผู้ลี้ภัยอีกต่อไป นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการ

 

ผู้ลี้ภัยบางคนไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีการแยกประเทศเกิดขึ้น เพราะเรื่องของการแยกประเทศเป็นเรื่องของการบริหารจัดการทางการเมือง พวกเขามองว่าเป็นแค่การย้ายหมู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้มองว่าเป็นการข้ามเขตแดนแต่อย่างใด

 

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกสะเทือนใจมากคือ เมื่อครั้งแรกเลยที่ผมไปเป็นชุดเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินที่ค่ายผู้ลี้ภัยเมือง Yida ประเทศซูดานใต้ ในระหว่างที่เรากำลังเปิดจุดรับลงทะเบียนอยู่นั้น ปรากฏว่ามีชายคนหนึ่งขาขาดเดินเข้ามาจะลงทะเบียน ซึ่งทีมของเราขอให้เขาไปพบแพทย์ก่อน แต่เขาไม่ยอม เพราะเขาบอกว่าต้องลงทะเบียนก่อนถึงจะมีข้าวกิน เราจึงให้เขาลงทะเบียนก่อนแล้วพาเขาไปพบแพทย์ ซึ่งหลังจากที่เขาลงทะเบียนเสร็จได้ไม่นาน เขาก็เสียชีวิต เขายอมที่จะทนเจ็บเพื่อที่จะมีข้าวกิน

 

UNHCR

 

ตลอดระยะเวลาที่ได้ลงพื้นที่ เห็นความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด ผู้ลี้ภัยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง

การแก้ไขสถานการณ์เรื่องผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งที่ใช้เวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนที่มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ 1. การไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม 2. การส่งกลับประเทศต้นกำเนิด และ 3. การทำให้พวกเขาสามารถผสมกลมกลืนเข้ากับประเทศที่ขอลี้ภัยได้

 

ในการที่ผู้ลี้ภัยจะสามารถกลับไปยังมาตุภูมิได้นั้น ประเทศนั้นจะต้องมีความสงบเรียบร้อยเสียก่อน แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์เรื่องผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นจากความขัดแย้งต่างๆ ที่มักจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะได้รับการแก้ไข ดังนั้นสถานการณ์เรื่องผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะเวลาอันสั้น

 

ประสบการณ์ที่ล้ำค่าที่สุดจากการไปลงพื้นที่ซูดานใต้มา แล้วเอามาปรับใช้ในการทำงานปัจจุบันคืออะไร

การทำงานเรื่องผู้ลี้ภัยเป็นการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จะนำไปสู่กระบวนการเพื่อสันติภาพ จริงๆ แล้ว UNHCR ในฐานะหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ จะต้องเป็นหน่วยงานที่ไม่ทำเพื่อการเมือง แต่เราก็หนีความจริงไม่ได้ เพราะการเมืองเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น

 

สิ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้คือกระบวนการสร้างสันติภาพ กระบวนการสร้างความปรองดองระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความขัดแย้งกัน และกระบวนการแก้ไขปัญหาจากรากหญ้าให้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เวลาที่เราคิดวิธีการแก้ไขปัญหา เราจะต้องมองไปที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก ไม่สร้างกรอบการแก้ไขปัญหามาครอบพวกเขา พวกเขาจะต้องเป็นคนบอกเราว่าควรจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร เราควรจะเป็นผู้ฟังที่ดีเพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

UNHCR

 

กลับมาที่ประเทศไทยกันบ้าง เห็นว่าคุณเคยดูแลเรื่องผู้ลี้ภัยที่แม่ฮ่องสอนด้วย ประสบการณ์มันต่างกันไหม

เมื่อเทียบกับที่ประเทศไทยแล้ว ต้องบอกเลยว่าคนละเรื่องเลย ผู้ลี้ภัยหรือผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิง 9 แห่งตามแนวชายแดนตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนไล่ลงมาถึงจังหวัดราชบุรีมีการทำงานที่ชัดเจน มีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ในการช่วยเหลือพวกเขาอยู่แล้ว

 

แต่ผู้ลี้ภัยในแอฟริกาไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างต้องเริ่มจากศูนย์ใหม่ ถ้าเทียบสถานการณ์กันแล้ว ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเยอะ แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขายังต้องการความช่วยเหลืออยู่ และเราไม่สามารถพูดได้ว่าการทำงานในประเทศไทยนั้นง่ายกว่า

 

ที่จริงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยอาจจะเป็นสถานการณ์ที่ยาวนานที่สุดในโลกก็เป็นได้ เพราะเกิดขึ้นมาประมาณ 30 กว่าปีแล้วแต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนเสียที ตอนนี้มีการกลับไปบ้างแล้วประมาณไม่เกิน 1,000 คนจากทั้งหมดที่ลงทะเบียนไว้กว่า 130,000 คน เพราะฉะนั้นลองคิดดูว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เราสามารถส่งกลับได้เพียงพันคน เราต้องใช้ระยะเวลาอีกกี่ปีกว่าที่เราจะสามารถส่งกลับที่เหลืออยู่ได้ทั้งหมด

 

เรื่องนี้เป็นการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของประเทศต้นกำเนิด รัฐบาลที่ให้พื้นที่พักพิง องค์การสหประชาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่เราไม่สามารถที่จะดูแคลนพวกเขาได้ เพราะองค์กรเหล่านี้ทำงานกันจริงจังโดยที่ไม่หวังผลประโยชน์อะไรเลย

 

ผมมองว่าการแก้ไขปัญหาในประเทศไทยมาถูกทางแล้ว แต่ว่าอาจจะต้องใช้ความพยายามให้มากกว่านี้ ทั้งจากความจริงใจของรัฐบาลประเทศต้นกำเนิดในการที่จะยอมรับพวกเขากลับไปยังประเทศของพวกเขา และรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือและพูดคุยกับรัฐบาลประเทศต้นกำเนิด ถ้าเราต้องการที่จะแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง ผมว่าเราต้องมีการจัดเวทีพูดคุยกันให้มากกว่านี้

 

ตอนนี้เริ่มมีการลงนามในสัญญา 3 ฝ่ายระหว่างรัฐบาลไทย รัฐบาลเมียนมา และ UNHCR ในการให้คำมั่นว่าจะมีการส่งกลับ ถึงแม้ว่ากระบวนการต่างๆ อาจจะใช้เวลานาน แต่ผมมีความหวังว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขในเวลาอันใกล้นี้

 

ถึงแม้ว่าหน้าที่ผมคือการเปิดออฟฟิศ แต่ผมอยากเห็นการปิดออฟฟิศ UNHCR ในประเทศไทยเหลือเกิน

 

UNHCR

 

มีอะไรอยากจะฝากถึงผู้อ่าน เกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วโลกบ้าง

ผมขอเรียนว่าเรายังมีความจำเป็นสูงในการได้รับความช่วยเหลือจากประเทศผู้บริจาคหรือว่าจากผู้บริจาคเป็นรายบุคคลเองก็ตาม เพราะเจ้าหน้าที่เราเองก็มีน้อย เงินบริจาคก็มีน้อย พวกเราทำงานด้วยเงินบริจาคนะครับ พวกเราไม่สามารถหาเงินเข้ามาเองได้ เพราะฉะนั้นยิ่งเรามีผู้บริจาคเยอะมากเท่าใด เรายิ่งจะมีทรัพยากรที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้มากเท่านั้น ยังมีผู้คนกว่า 60 กว่าล้านคนทั่วโลกที่ยังรอคอยการช่วยเหลืออยู่ครับ

 

ถ้ามีคนอยากจะลุกขึ้นมาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยแบบคุณบ้าง พวกเขาสามารถทำได้อย่างไรบ้าง

การลงพื้นที่อาจจะลำบากหน่อยนะครับ เพราะพื้นที่ที่เราลงไปเป็นพื้นที่ที่มีข้อจำกัดด้านความมั่นคง รัฐบาลที่ให้พื้นที่พักพิงมักจะมีความเข้มงวดในการควบคุมการเข้าออกพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นการช่วยเหลือที่ง่ายสุดเลยคือการบริจาค

 

แต่ถ้าใครอยากจะมาร่วมงานกับ UNHCR ผมยินดีที่จะให้ข้อมูลต่างๆ และผมอยากที่จะเห็นคนเข้ามาทำงานด้านผู้ลี้ภัยมากขึ้น ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะ UNHCR เท่านั้น อาจจะเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อผู้ลี้ภัยทั่วโลก

 

UNHCR

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X