สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เรียกร้องผู้นำทั่วโลกวันนี้ให้เร่งความพยายามในการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความร่วมมือ เพื่อหยุดและลดแนวโน้มการพลัดถิ่นจากความรุนแรงและการประหัตประหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเกือบทศวรรษ
แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่จำนวนผู้ที่ถูกบังคับให้หนีจากสงคราม การประหัตประหาร และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2020 กลับพุ่งสูงขึ้นเกือบ 82.4 ล้านคนตามรายงานแนวโน้มประจำปีของ UNHCR ที่เผยแพร่ในนครเจนีวาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ซึ่งเพิ่มสูงถึงร้อยละ 4 จากสถิติที่สูงในประวัติการณ์ 79.5 ล้านคนเมื่อปลายปี 2019
รายงานระบุว่า เมื่อปลายปี 2020 มีผู้ลี้ภัยจำนวน 20.7 ล้านคนอยู่ในความห่วงใยของ UNHCR อีก 5.7 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ และชาวเวเนซุเอลาอีก 3.9 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นอยู่ในต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอีก 48 ล้านคน และมีผู้ขอลี้ภัยอีกกว่า 4.1 ล้านคน จำนวนผู้คนเหล่านี้บ่งบอกว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคภัยและการเจรจาขอหยุดยิง ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป และขับไล่ให้ผู้คนต้องออกจากบ้านเกิดตนเอง
“เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้คือชีวิตจริงของมนุษย์ที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้าน และเรื่องราวของการพลัดถิ่น การโดนริดรอน และความทุกข์ทรมาน พวกเขาต้องการความเมตตาและความช่วยเหลือจากพวกเรา ไม่ใช่แค่ทางด้านมนุษยธรรม แต่ยังรวมถึงการหาทางออกสำหรับความทุกข์ยากนี้“
“อนุสัญญาปี 1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยและข้อตกลงโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ได้วางกรอบกฎหมายและแนวทางรับมือต่อการพลัดถิ่นไว้แล้ว เรายังต้องการการขับเคลื่อนเจตจำนงทางการเมืองที่มากขึ้น เพื่อจัดการกับความขัดแย้งและการประหัตประหารที่เป็นต้นเหตุของการบังคับให้ผู้คนต้องหนีออกจากบ้านเกิด” ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าว
เด็กหญิงและเด็กชายอายุต่ำกว่า 18 ปี คือร้อยละ 42 ของจำนวนผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั้งหมด พวกเขามีความเปราะบางมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในวิกฤตที่เกิดขึ้นยาวนานหลายปี การประเมินล่าสุดของ UNHCR ระบุว่ามีเด็กเกือบ 1 ล้านคนที่เกิดในสถานะผู้ลี้ภัยระหว่าง ปี 2018-2020 และหลายคนต้องตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
“เรื่องน่าเศร้าของเด็กเหล่านี้ที่ต้องลืมตามองโลกท่ามกลางการลี้ภัยน่าจะมีเหตุผลมากพอให้เราพยายามกันมากขึ้น เพื่อป้องกันและยุติความขัดแย้งและความรุนแรง” กรันดีกล่าว
รายงานยังระบุอีกว่า ในช่วงที่การแพร่ระบาดอยู่ในจุดสูงสุด มากกว่า 160 ประเทศต่างปิดชายแดน โดยที่รัฐ 99 แห่ง ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลที่แสวงหาความคุ้มครอง แต่หลังมีการผ่อนปรนมาตรการ เช่น การตรวจคัดกรองโรคบริเวณชายแดน การใช้ใบรับรองสุขภาพหรือการกักตัวชั่วคราวเมื่อมาถึง ขั้นตอนการลงทะเบียนที่ไม่ซับซ้อน และการสัมภาษณ์จากทางไกล หลายประเทศได้ค้นพบแนวทางการเข้าถึงการขอลี้ภัยโดยที่ยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้
ขณะที่ผู้คนยังถูกบังคับให้หนีข้ามชายแดน อีกหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นอยู่ในประเทศ โดยส่วนมากเป็นผลจากวิกฤตในประเทศเอธิโอเปีย ซูดาน กลุ่มประเทศซาเฮล โมซัมบิก เยเมน อัฟกานิสถาน และจากโคลอมเบีย ที่จำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2.3 ล้านคน
ตลอดปี 2020 มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศประมาณ 3.2 ล้านคน และมีผู้ลี้ภัยเพียง 251,000 คนเท่านั้นที่ได้เดินทางกลับมาตุภูมิโดยความสมัครใจ ซึ่งจำนวนลดลงถึงร้อยละ 40 และ 21 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2019 ผู้ลี้ภัยอีก 33,800 คน ยังคงรอสถานะอยู่ในประเทศที่ขอลี้ภัย
ส่วนการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สามของผู้ลี้ภัยนั้นลดลงอย่างน่าใจหาย โดยมีผู้ลี้ภัยเพียง 34,400 คนที่ได้ย้ายถิ่นฐานในปีที่ผ่านมา ถือเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำนวนประเทศที่สามารถเปิดรับการย้ายถิ่นฐานได้และสถานการณ์ของโรคโควิด-19
“ทางออกต่างๆ นั้นต้องการผู้นำระดับโลกและบุคคลที่สามารถช่วยให้ผู้คนก้าวข้ามความแตกต่าง ยุติการเมืองแบบอัตนิยม และหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกัน แก้ไขความขัดแย้ง และสร้างความแน่ใจต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน” กรันดีกล่าว
ข้อมูลสำคัญจากรายงานแนวโน้มประจำปีของ UNHCR ปี 2020
- ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่น 82.4 ล้านคนทั่วโลก (จาก 79.5 ล้านคนในปี 2019) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ได้แก่
- ผู้ลี้ภัย 26.4 ล้านคน (จาก 26 ล้านคนในปี 2019) แบ่งเป็น
- ผู้ลี้ภัย 20.7 ล้านคนในความห่วงใยของ UNHCR (จาก 4 ล้านคนในปี 2019)
- ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ 5.7 ล้านคนในความห่วงใยของหน่วยงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA)
- ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 48 ล้านคน (จาก 7 ล้านคนในปี 2019)
- ผู้ขอลี้ภัย 4.1 ล้านคน (4.1 ล้านคนในปี 2019)
- ผู้พลัดถิ่นชาวเวเนซุเอลา 3.9 ล้านคน (จาก 3.6 ล้านคนในปี 2019)
- ปี 2020 เป็นปีที่ 9 ติดต่อกันแล้วที่การพลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันร้อยละ 1 ของมวลมนุษยชาติกำลังพลัดถิ่น และมีผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2011 ที่มีผู้พลัดถิ่นไม่ถึง 40 ล้านคน
- มากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นออกนอกประเทศ มาจาก 5 ประเทศหลัก คือ ซีเรีย (6.7 ล้านคน), เวเนซุเอลา (4 ล้านคน), อัฟกานิสถาน (2.6 ล้านคน), ซูดานใต้ (2.2 ล้านคน) และเมียนมา (1.1 ล้านคน)
- ผู้ลี้ภัยทั่วโลกส่วนมากเกือบถึง 9 ใน 10 (ร้อยละ 8.6) ได้รับที่พักพิงในประเทศเพื่อนบ้านของพื้นที่ที่มีวิกฤต และเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ประเทศที่ได้รับการพัฒนาน้อยที่สุดได้มอบที่ลี้ภัยถึงร้อยละ 27 แก่ผู้ลี้ภัยทั่วโลก
- เป็นเวลา 7 ปีติดต่อกันที่ตุรกียังคงเป็นประเทศที่มอบที่พักพิงแก่ประชากรผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลก (3.7 ล้านคน) ตามมาด้วยประเทศโคลอมเบีย (1.7 ล้านคน รวมถึงชาวเวเนซุเอลาที่พลัดถิ่นอยู่ในต่างประเทศ) ปากีสถาน (1.4 ล้านคน) และเยอรมนี (1.2 ล้านคน)
- คำร้องขอลี้ภัยทั่วโลกที่ยังคงรอสถานะอยู่ มีจำนวนพอกับในปี 2019 (4.1 ล้านคำร้อง) ในขณะที่รัฐต่างๆ และ UNHCR ได้ร่วมกันลงทะเบียนผู้ขอลี้ภัยได้เพียง 1.3 ล้านคำร้อง ซึ่งน้อยกว่าในปี 2019 ถึง 1 ล้านคำร้อง (น้อยกว่าร้อยละ 43)
- ดาวน์โหลดรายงานแนวโน้มประจำปีของ UNHCR และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ได้ที่ https://www.unhcr.org/unhcr-global-trends-2020-media-page-60be2dd14
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: