×

UN ชี้ พิษเงินเฟ้อพุ่ง ดันอาหาร-น้ำมันแพง ฉุดคนยากจนทั่วโลกเพิ่ม 71 ล้านคน

08.07.2022
  • LOADING...
UNDP

UNDP หรือโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยผลการศึกษาสำรวจฉบับล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า สงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนกลายเป็นปัจจัยที่จุดชนวนให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดันราคาอาหารและพลังงานแพงขึ้น จนส่งผลให้ประชากรถึง 71 ล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะความยากจน

 

อาคิม สไตเนอร์ ผู้บริหาร UNDP กล่าวระหว่างการเผยแพร่รายงานฉบับดังกล่าวที่สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลจาก 159 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ที่แสดงให้เห็นว่า การปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ ในปีนี้ เริ่มมีผลกระทบรุนแรงและฉับพลันต่อหลายพื้นที่ เช่น แอฟริกา คาบสมุทรบอลข่าน และเอเชีย เรียบร้อยแล้ว และผลกระทบของภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสสำหรับครัวเรือนที่มีฐานะยากจนแต่เดิม

 

ขณะเดียวกันในรายงานที่มีความยาว 20 หน้านี้ จะมุ่งเน้นประเด็นไปที่การแก้ไขปัญหาวิกฤตค่าครองชีพในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า จะมีประชากรอีก 51.6 ล้านคนตกอยู่ในความยากจนในช่วง 3 เดือนแรกหลังสงคราม กล่าวคือมีรายได้เพียง 1.90 ดอลลาร์ต่อวันหรือน้อยกว่านั้น โดยตัวเลขดังกล่าวจะผลักให้ประชากรยากจนมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 9% ของประชากรโลก อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้คนอีก 20 ล้านคนก้าวล่วงสู่ภาวะความยากจน ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานคือ มีรายได้เท่ากับหรือต่ำกว่า 3.20 ดอลลาร์ต่อวัน

 

ถ้อยแถลงของรายงานระบุว่า ความยากจนที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันจะมีผลต่อสวัสดิการของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยากจนหรือมีรายได้ต่ำค่อนไปทางยากจนที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะราคาอาหารและพลังงานกินส่วนแบ่งพื้นที่ของรายได้ต่อเดือนไปเกือบทั้งหมด กลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่รัฐบาลทั่วโลกจะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ สงครามในยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอาหารและพลังงานทั่วโลกอย่างรุนแรง สาเหตุเป็นเพราะทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นประเทศที่ส่งออกอาหารหลักอย่างข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันดอกทานตะวัน รายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

 

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจบวกกับการที่ท่าเรือในยูเครนไม่สามารถส่งออกธัญพืชไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำได้ ผลักดันให้ผู้คนหลายสิบล้านคนเผชิญกับความยากจนและวิกฤตเศรษฐกิจ

 

รายงานของ UNDP ระบุว่า ในช่วง 12 เดือน สิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2022 ราคาของก๊าซธรรมชาติมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 166.8%

 

ประเทศที่มีแนวโน้มเผชิญปัญหาความยากจนสูงสุด ได้แก่ อาร์เมเนียและอุซเบกิสถานในลุ่มน้ำแคสเปียน, บูร์กินาฟาโซ, กานา, เคนยา, รวันดา, ซูดานในแอฟริกา, เฮติในลาตินอเมริกา รวมทั้งปากีสถานและศรีลังกาในเอเชียใต้

 

UN ยังเตือนว่า ราคาอาหารและพลังงานที่แพงขึ้นจะจุดชนวนให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงและความไม่สงบภายในประเทศ เพราะนอกจากจะไม่สามารถหาเลี้ยงปากท้องได้แล้ว คนยากจนส่วนหนึ่งจะประสบปัญหากับการหาเงินใช้หนี้ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นของตนเอง

 

ทั้งนี้ แต่เดิมในกลุ่มประเทศยากจน 42% ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนคือค่าอาหาร แต่เมื่อชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย ราคาเชื้อเพลิงและอาหารหลัก เช่น ข้าวสาลี น้ำตาล และน้ำมันปรุงอาหาร ปรับตัวแพงขึ้น

 

สไตเนอร์กล่าวว่า การศึกษานี้ยังแสดงให้เห็นแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งแต่เดิมเศรษฐกิจโลกก็อยู่ในภาวะเปราะบางอยู่แล้ว จากการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เพราะการระบาดใหญ่ของโควิด ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลสะสมอย่างช้าๆ แต่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก โดยภาวะระบาดใหญ่ของโควิดนั้นทำให้ผู้คนราว 125 ล้านคนตกอยู่ในภาวะยากจนไปก่อนแล้วในช่วง 18 เดือนที่มีการล็อกดาวน์

 

จอร์จ โมลินา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ UNDP และเป็นหนึ่งในผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า การระบาดของโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับช่วงเวลา 36 เดือนของ ‘After Shock’ และผลกระทบจากสงครามในยูเครนนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรง ส่งผลต่ออุปทานพลังงานและอาหารโลก ตลอดจนทำให้อัตราเงินเฟ้อทะยานสูงด้วย

 

ก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวัน ทาง UN ได้เผยแพร่รายงานภาวะความหิวโหยทั่วโลกในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยราว 2.3 พันล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงในระดับปานกลางค่อนไปทางรุนแรงของการที่ไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับรับประทาน

 

UN เตือนว่า ผลการศึกษาดังกล่าวมีขึ้นก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นภาวะความหิวโหยในปีนี้จึงมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

ผู้บริหารของ UNDP ได้ออกโรงเรียกร้องให้เศรษฐกิจทั่วโลกร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยเชื่อว่าในโลกนี้มีความมั่งคั่งเพียงพอที่จะจัดการกับวิกฤตได้ แต่กลับมีข้อจำกัดตรงที่ขาดความสามารถของนานาประเทศ ในการดำเนินการให้พร้อมเพรียงกันและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ก่อนให้คำแนะนำว่า การกำหนดเป้าหมายเงินทุนและกรอบเวลาถือเป็นเครื่องมือทางนโยบายที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X