×

เมื่อไรสังคมจะเท่าเทียมอย่างแท้จริง? UNDP ชี้ปี 2023 ‘อคติทางเพศต่อผู้หญิง’ ยังฝังรากลึกในทุกมิติทั่วโลก

โดย THE STANDARD TEAM
29.11.2023
  • LOADING...

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้คนทั่วโลกได้ออกมาเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้ผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลงถนนของประชาชน การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ แต่ความเคลื่อนไหวเหล่านี้กลับไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม มิหนำซ้ำความรุนแรงและอคติที่มีต่อผู้หญิงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

 

รายงาน Gender Social Norms Index (GSNI) ประจำปี 2023 ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เปิดเผยตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานทางเพศในสังคมทั่วโลกที่สะท้อนว่า ‘อคติทางเพศต่อผู้หญิง’ ยังมีอยู่อย่างแพร่หลาย ตอกย้ำว่าโลกของเรายังไม่สามารถสร้างสังคมที่เท่าเทียมให้เกิดขึ้นจริงได้

 

ผู้หญิงเผชิญอคติทางเพศในหลากหลายมิติ

 

รายงาน GSNI ปีล่าสุดได้เปิดเผยข้อมูลจากแบบสำรวจในรอบปี 2010-2014 และ 2017-2022 ครอบคลุม 80 ประเทศและเขตปกครอง คิดเป็น 85% ของจำนวนประชากรโลก เปิดเผยว่าผู้หญิงและผู้ชาย 9 ใน 10 คนมีอคติทางเพศต่อผู้หญิง 

 

ยิ่งไปกว่านั้นรายงานชุดนี้ยังได้รวบรวมทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงใน 4 มิติหลัก ได้แก่ การเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ และสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย

 

มิติแรกคือ ‘การเมือง’ (Political) พบว่า 61% ของผู้ทำแบบสำรวจทั่วโลกยังมีอคติทางเพศด้านการเมือง และมีมากถึง 49% ที่คิดว่าผู้ชายเป็นผู้นำทางการเมืองได้ดีกว่าผู้หญิง ขณะเดียวกันมีเพียง 27% ที่มองว่าการที่ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายคือสิ่งสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย

 

มิติที่สองคือ ‘การศึกษา’ (Educational) พบว่า 28% ของผู้ทำแบบสำรวจทั่วโลกยังมีอคติทางเพศด้านการศึกษา โดยมี 28% คิดว่าการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสำคัญต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

 

มิติที่สามคือ ‘เศรษฐกิจ’ (Economic) พบว่า 60% ของผู้ทำแบบสำรวจทั่วโลกยังมีอคติทางเพศด้านเศรษฐกิจ โดยมี 46% ที่คิดว่าผู้ชายควรมีสิทธิด้านการงานมากกว่าผู้หญิง และมี 43% ที่มองว่าผู้ชายบริหารธุรกิจได้ดีกว่าผู้หญิง

 

มิติสุดท้ายคือ ‘สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย’ (Physical Integrity) พบว่า 75% ของผู้ทำแบบสำรวจทั่วโลกยังมีอคติทางเพศด้านร่างกาย

 

อคติทางเพศฉุดรั้งผู้หญิงในการเป็นผู้นำ

 

แม้ว่าปัจจุบันผู้หญิงจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเทียบเท่ากับผู้ชายหลายประการแล้ว เช่น สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม เป็นต้น แต่ถ้าพูดถึงบทบาทในเชิงอำนาจหรือการเป็นผู้นำ โลกของเรายังมีสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งเหล่านี้ค่อนข้างน้อย

 

รายงานของ UNDP พบว่าอคติทางเพศคือปัจจัยที่ฉุดรั้งผู้หญิงในการเป็นผู้นำ เพราะเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกยังเชื่อว่าผู้ชายสามารถเป็นผู้นำทางการเมืองได้ดีกว่าผู้หญิง โดยมี 2 ใน 5 ของผู้ทำแบบสำรวจทั่วโลกที่เชื่อว่าผู้ชายบริหารงานได้ดีกว่าผู้หญิง

 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราแทบจะไม่เห็นผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทั้งในบริษัทเอกชนและบทบาททางการเมือง สอดคล้องกับข้อมูลที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยสัดส่วนของตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นผู้หญิงเพียง 10% นับตั้งแต่ปี 1995 และผู้หญิงยังมีที่นั่งในรัฐสภาทั่วโลกมากกว่า 1 ใน 4 เพียงเล็กน้อย เท่านั้นยังไม่พอ ผู้หญิงยังมักถูกตัดสินรุนแรงกว่าผู้ชายเมื่อดำรงตำแหน่งหรืออยู่ในบทบาทเดียวกัน

 

อคติทางเพศนำไปสู่ความรุนแรงในผู้หญิง

 

อคติทางเพศไม่ได้เป็นแค่อุปสรรคที่ขัดขวางความก้าวหน้าและความเสมอภาคของผู้หญิงเท่านั้น แต่ความเชื่อนี้ยังนำไปสู่การใช้ ‘ความรุนแรงต่อผู้หญิง’ ในทุกรูปแบบด้วย

 

เพราะมากกว่า 25% ของประชากรโลกเชื่อว่าสามีตีภรรยาเป็นเรื่องที่ ‘ยอมรับได้’ สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า 26% ของผู้หญิงอายุมากกว่า 15 ปีเคยเจอความรุนแรงจากคู่รัก

 

แม้แต่บรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยตรงก็อาจก่อให้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงได้ ตัวอย่างเช่น ค่านิยมที่เชื่อว่าผู้ชายสามารถควบคุมร่างกาย บทบาททางสังคม หรือแม้แต่ทรัพย์สินของผู้หญิงได้ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้หญิงจะถูกคู่รักทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ

 

ยิ่งไปกว่านั้นความรุนแรงในความสัมพันธ์ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเมื่อเกิด ‘ความขัดแย้ง’ และการล่วงละเมิดทางเพศยังถูกใช้เป็น ‘เครื่องมือทางสงคราม’ โดยคนที่เชื่อว่าความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้อาจก่อความรุนแรงนั้นเองหรือหาเหตุผลให้การกระทำที่รุนแรง

 

ดังนั้นบรรทัดฐานทางสังคมที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรงเหล่านี้ อาจทำให้ผู้หญิงจำนวนมากไม่สามารถหลบหนีหรือแม้แต่หลีกเลี่ยงความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ได้ 

 

ความเท่าเทียมทางเพศไทยถดถอย อคติทางเพศเพิ่มขึ้นรอบด้าน


ในขณะที่อคติทางเพศทั่วโลกยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น แล้วประเทศไทยยืนอยู่ตรงไหนของสถานการณ์นี้

 

รายงาน GSNI ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ความเท่าเทียมทางเพศ ‘ถดถอย’ เพราะเมื่อเปรียบเทียบแบบสำรวจในรอบปี 2010-2014 และ 2017-2022 พบว่าประเทศไทยมีคติทางเพศเพิ่มขึ้นทุกด้าน ยกเว้นอคติด้านร่างกาย

 

Gender Social Norms Index (GSNI)

สัดส่วนอคติทางเพศในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกมิติสะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่สามารถหาทางออกให้กับสถานการณ์นี้ได้ ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ผู้หญิงไทยจำนวนมากอาจต้องเผชิญกับอคติทางเพศ การเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม และความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคในประเทศไทย

 

ภาพ: Hyejin Kang / Shutterstock

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising