×

UNDP และ WHO เรียกร้องเลิกสูบบุหรี่วันนี้ หยุดความยากจนและความรุนแรงจากโควิด-19

31.05.2021
  • LOADING...
บุหรี่

HIGHLIGHTS

  • ประเทศไทยมีคนสูบบุหรี่ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งโรคจากการสูบบุหรี่เพิ่มความรุนแรงให้กับโรคโควิด-19
  • ยอดผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่อยู่ที่เกือบ 80,000 คน หรือมากกว่าโควิด-19 ถึง 100 เท่า  
  • คนไทยรายได้น้อยสูญเสียเงินไปกับการซื้อบุหรี่ 17% ซึ่งเป็นการซ้ำร้ายความยากจน
  • ในปี 2560 ประเทศไทยเสียเงิน 9,300 ล้านบาทไปกับการสูบบุหรี่ หรือคิดเป็น 17% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศในปัจจุบัน
  • ประเทศไทยเป็นชาติแรกในเอเชียที่ใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ แต่อัตราการเก็บภาษียาสูบก้าวไม่ทันการเติบโตของรายได้ ซึ่งทำให้ราคาบุหรี่มีราคาที่เอื้อมถึงได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับโรคโควิด-19 ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับอีกหนึ่งภัยร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไม่ต่างจากไวรัสมาเป็นระยะเวลานานหลายปี นั่นคือภัยจากการสูบบุหรี่

 

ตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดจนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 700 คน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน ยอดผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่อยู่ที่เกือบ 80,000 คน หรือมากกว่าโควิด-19 ถึง 100 เท่า  

 

“เลิกตอนนี้ก็ไม่ช่วยอะไรหรอก” หรือ “สูบมาตลอดไม่มีโรค เลิกแล้ว คอยดู เดี๋ยวโรคมา” จึงเป็นเพียงความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง เพราะปอดจะเริ่มทำงานได้ดีขึ้นภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์หลังจากเริ่มสูบบุหรี่

 

​วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้ในฐานะผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือ UNDP (เรอโน เมแยร์) และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย หรือ WHO (นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์) ขอเรียกร้องให้ประชากรไทยกว่า 10 ล้านคนที่ยังสูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ทันที เพราะไม่มีตอนไหนที่ดีไปกว่าตอนนี้ เนื่องจากการเลิกบุหรี่ไม่เพียงช่วยชีวิตคุณและครอบครัวจากโรคภัย เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอด ที่เพิ่มความรุนแรงให้กับโรคโควิด-19 แต่ยังช่วยคุณและครอบครัวจากค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

 

 

บุหรี่นั้นเสพติดง่ายและมีผลกระทบมหาศาลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม WHO และ UNDP มองว่าการเลิกบุหรี่ต้องการมากกว่าความพยายามแค่ในระดับบุคคล แต่ต้องได้รับความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากรัฐบาลและสังคม โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลิกสูบบุหรี่ และกำหนดนโยบายไปในทิศทางเดียวกันเพื่อผลักดันการเลิกสูบบุหรี่ หรือ ‘Commit to Quit’

 

คนไทยรายได้น้อยยังเสียเงินไปกับบุหรี่ 17% 

 

การเลิกบุหรี่ทำให้ครอบครัวไม่ต้องเผชิญกับความยากจน หรือไม่ทำให้ปัญหาความยากจนรุนแรงขึ้น ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาความลำบากทางการเงินในครอบครัวของผู้มีรายได้น้อย เพราะตัดค่าใช้จ่ายส่วนเกินของครอบครัว หรือการเสียโอกาสในการหารายได้ของเสาหลักของครอบครัว เนื่องจากการสูบบุหรี่นำไปสู่โรคภัย ความพิการ หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

ในประเทศไทยประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด ซึ่งคิดเป็น 25% ของประเทศ ใช้รายได้ 17% ไปกับการซื้อบุหรี่ ซึ่งหมายความว่าครอบครัวเหล่านี้สูญเสียทรัพยากรมหาศาลที่ควรได้รับจากการลงทุนที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจน เช่น อาหาร การศึกษา หรือปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดที่ผู้คนเหล่านี้กำลังสูญเสียรายได้

 

ไทยไม่ควรเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไปกับโรคจากบุหรี่

 

นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์มูลค่ามหาศาล งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2563 ประมาณการว่าในปี 2560 ประเทศไทยสูญเสียเงิน 9,300 ล้านบาท (หรือ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไปกับการสูบบุหรี่ ซึ่งเท่ากับ 0.65% ของ GDP หรือคิดเป็น 17% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศในปัจจุบัน ด้วยเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังหดตัว ประกอบกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ประเทศจึงไม่ควรเกิดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสูญเสียจากสาเหตุที่ป้องกันได้อย่างการสูบบุหรี่

 

ประเทศไทยเป็นชาติแรกในเอเชียที่ใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ แต่ยังต้องปรับปรุงอัตราการเก็บภาษียาสูบ

 

อย่างไรก็ตามในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสุขภาพฉบับแรกซึ่งบังคับใช้ในปี 2546 ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการควบคุมการสูบบุหรี่ผ่านนโยบายด้านต่างๆ

 

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเป็นชาติแรกในเอเชียที่เริ่มใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ พิมพ์ยี่ห้อในรูปแบบมาตรฐาน ปราศจากตราสินค้า และยังมีคำเตือนน่ากลัวที่ลดทอนความน่าดึงดูดใจของการสูบบุหรี่ 

 

นอกจากนี้ยังประกาศห้ามบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการสูบบุหรี่และทิ้งก้นบุหรี่บริเวณชายหาดที่ผู้คนนิยมไปเที่ยว ซึ่งไม่เพียงช่วยปกป้องสุขภาพของนักท่องเที่ยวและคนในท้องที่ แต่ยังปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างชายหาด และสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล 

 

กระนั้น ช่องว่างก็ยังคงมีอยู่โดยเฉพาะด้านการเก็บภาษียาสูบ ตามรายงานของ Tobacco Tax Scorecard ฉบับล่าสุด ซึ่งประเมินประสิทธิภาพของนโยบายการเก็บภาษียาสูบใน 174 ประเทศ ชี้ว่า ประเทศไทยทำคะแนนได้เพียง 1.75 จาก 5 เนื่องจากขอบเขตและความถี่ของการขึ้นภาษียาสูบของไทยก้าวไม่ทันอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตด้านรายได้ ทำให้วันนี้ผลิตภัณฑ์ยาสูบในประเทศไทยมีราคาที่เอื้อมถึงได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 อีกทั้งยังมีการกำหนดอัตราภาษีของบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน และยาเส้นสำหรับบุหรี่ม้วนเองที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้คนเปลี่ยนมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่เก็บภาษีน้อยกว่าแทนที่จะเลิกบุหรี่เมื่อภาษีแพงขึ้น

 

การขึ้นภาษียาสูบเป็นมาตรการเดียวที่มีประสิทธิภาพที่สุด พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง และช่วยแก้ปัญหาความยากจน โดยช่วยป้องกันไม่ให้เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ และยังช่วยกระตุ้นให้นักสูบเลิกสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนยากจนและเยาวชนซึ่งมีความอ่อนไหวต่อราคา นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น กระตุ้นผลิตภาพแรงงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดรายจ่ายสาธารณะซึ่งหลีกเลี่ยงได้ และเพิ่มรายรับของรัฐบาล ลดอัตราความยากจนและความไม่เท่าเทียม ไปจนถึงลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประโยชน์ในด้านการพัฒนานี้จะช่วยเร่งให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้เร็วยิ่งขึ้น

 

การเก็บภาษียาสูบมากขึ้นจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาการของโรคโควิด-19 จะรุนแรง ทั้งยังช่วยเพิ่มรายรับของประเทศในการแก้ปัญหาโควิด-19 หรือนำเงินส่วนนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้คนเลิกบุหรี่ ช่วยให้เกษตรกรที่ปลูกยาสูบเปลี่ยนมาปลูกพืชทางเลือก หรือดำรงชีวิตด้วยแนวทางอื่นเช่นเดียวกับในฟิลิปปินส์ ซึ่งรัฐบาลไทยตระหนักดีถึงช่องว่างเหล่านี้และประสงค์จะแก้ไข แต่การบังคับใช้กลับล่าช้าออกไป

 

ในการประมาณความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases: NCD) ซึ่งบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คณะทำงานระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องโรคไม่ติดต่อ (UN Interagency Task Force on the Prevention and Control of NCD) องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จับมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกำลังพัฒนากรณีศึกษาเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อร่วมกันตามคำขอของรัฐบาลไทย

 

โรคไม่ติดต่อนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 74% ของประชากรในประเทศไทย และมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ดังนั้น การควบคุมการสูบบุหรี่จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับโรคโควิด-19

 

วันงดสูบบุหรี่โลกย้ำเตือนเราว่า การเลิกบุหรี่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลและสังคมโดยรวม เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียมหาศาลจากการสูบบุหรี่

 

และเราควรลงมือเลยตอนนี้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X