×

IMF ย้ำชัด BOJ ต้องยืดหยุ่นนโยบายการเงิน หากต้องการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน

31.05.2023
  • LOADING...
นโยบายการเงิน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ และผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินการคลังและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างมาก แม้ว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาราคาพลังงานจะเริ่มปรับตัวลดลงซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อลดลง แต่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกกลับแข็งแกร่งยิ่งขึ้นแตะระดับ 4.1% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981

 

รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุว่า ภายหลังเกิดภาวะฟองสบู่แตกตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดมาอย่างยาวนาน ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังจะหลุดพ้นจากกับดักเงินฝืด และสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืนได้ในที่สุด ด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังต่อไปนี้ 

 

  1. แรงกดดันจากวิกฤตพลังงานและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงผลกระทบในวงกว้างและยาวนาน 
  2. การเจรจาปรับค่าแรงของพนักงานประจำปีระหว่างสหภาพแรงงานและบริษัทขนาดใหญ่ ส่งสัญญาณถึงข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มค่าจ้างที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้และเท่าทันกับภาวะเงินเฟ้อ
  3. การสำรวจภาคธุรกิจระบุว่าเงินเฟ้อคาดการณ์มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดราคาสินค้าและบริการ

 

อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขและข้อจำกัดสำคัญที่มาพร้อมกับปัจจัยเหล่านี้ที่ทำให้การรักษาระดับเงินเฟ้อนี้เป็นเรื่องท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นค่าแรงอาจส่งผลกระทบต่อ SMEs ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ของประเทศ อาจมีผลกำไรที่ลดลง และประสบปัญหาในการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานจำนวนมาก นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง อาจส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะลดทอนความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของการส่งออก และอาจทำให้ญี่ปุ่นกลับไปสู่ภาวะเงินฝืด 

 

โดยรายงานล่าสุดของ IMF คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่เหนือเป้าหมาย 2% ไปจนถึงสิ้นปี 2024 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการอ่อนค่าของเงินเยน

 

ความท้าทายของ BOJ

ความท้าทายสำคัญที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังเผชิญอยู่ คือการหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ในฐานะที่ BOJ เป็นธนาคารกลางรายใหญ่เพียงแห่งเดียวที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นติดลบที่ -0.1% และยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-Easy Policy) ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ภายใต้มาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) BOJ ได้ให้คำมั่นที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีให้อยู่ในกรอบที่กำหนด นโยบายนี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ในปี 2016 เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่เชื่อถือได้ ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) และธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกเริ่มต้นขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 ทำให้ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันอย่างมหาศาล เมื่อนักลงทุนคาดการณ์ว่าความพยายามของญี่ปุ่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะสิ้นสุดลง ส่งผลให้ BOJ ต้องซื้อพันธบัตรมูลค่าหลายล้านล้านเยน เพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้อยู่ในกรอบที่ต้องการ ซึ่งอาจทำให้กลไกตลาดทำงานอย่างไม่มีเสถียรภาพ

 

ปัจจุบัน BOJ เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยถือครองพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มากกว่า 80% อันเนื่องมาจากการซื้อพันธบัตรอย่างถล่มทลายของ BOJ ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์จาก IMF จึงแนะนำให้ BOJ ใช้แนวทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับการกำหนดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว และปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ผู้กำหนดนโยบายควรคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้จนกว่าจะปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเศรษฐกิจในการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน

 

การดำเนินนโยบายที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยเพิ่มความคล่องตัว ลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ และลดความเสี่ยงที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงักหรือบ่อนทำลายเสถียรภาพด้านราคา

 

BOJ มีทางเลือกในการเพิ่มความยืดหยุ่น วิธีหนึ่งคือการขยายกรอบการเคลื่อนไหวอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว สิ่งนี้จะช่วยให้กลไกตลาดมีอิทธิพลมากขึ้น และลดการพึ่งพาของ BOJ ในการแทรกแซงอย่างต่อเนื่องในตลาดตราสารหนี้ นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ทางเลือกหนึ่งคือการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในระดับต่ำ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมีบทบาทสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้กำหนดนโยบายจะต้องประเมินข้อดีและข้อเสียของแต่ละแนวทางอย่างรอบคอบ ตลอดจนประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ 

 

การไหลของเงินทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญและเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในโลกมากว่า 3 ทศวรรษ ด้วยทรัพย์สินสุทธิในต่างประเทศกว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยหลายปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นยังรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ ส่งผลให้เงินทุนไหลออกไปยังการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า นั่นหมายความว่าหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้กลับมาลงทุนสินทรัพย์ในประเทศ และช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นนั่นเอง

 

สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อมูลค่าของสินทรัพย์ในต่างประเทศ เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นเทขายสินทรัพย์ในต่างประเทศและกลับมาลงทุนสินทรัพย์ในญี่ปุ่น โดยผลกระทบจะมีนัยสำคัญมากขึ้นในประเทศที่นักลงทุนญี่ปุ่นถือครองหนี้ในประเทศจำนวนมาก เช่น บางประเทศในยูโรโซน ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจและความผันผวนของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น สิ่งสำคัญสำหรับ BOJ คือการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในนโยบายการเงิน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบเชิงลบต่ออัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ทั่วโลก และรักษาเสถียรภาพในตลาดการเงิน

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% อย่างยั่งยืนได้สำเร็จ การดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ BOJ ควรพิจารณาใช้นโยบายอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการลดการสนับสนุนทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาด และมาตรการใหม่ๆ ควรมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือครัวเรือนที่เปราะบางเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising