×

วันแห่งประวัติศาสตร์ ผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม

โดย THE STANDARD TEAM
27.03.2024
  • LOADING...
สมรสเท่าเทียม

วันนี้ (27 มีนาคม) เป็นอีกหนึ่งวันที่รัฐสภา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระ 2 รายมาตรา โดยมีทั้งสิ้น 68 มาตรา เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศที่ก้าวหน้าในระดับโลก 

 

✨ คืนสิทธิเพื่อคืนความเท่าเทียม

 

ดนุพร ปุณณกันต์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ กล่าวเสนอต่อที่ประชุมว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาและสรุปได้เป็น 3 ข้อดังนี้ 

 

  1. คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าบทบัญญัติในบางมาตรานั้นมีการใช้ถ้อยคำไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน จึงปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ 

 

  1. คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสควรกำหนดไว้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้ผู้ที่จะหมั้นหรือสมรสได้พ้นจากอายุความเป็นเด็ก รวมถึงให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศที่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเด็ก 

 

รวมถึงหลักการคุ้มครองสิทธิเด็กในการป้องกันปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก และการบังคับให้เด็กแต่งงาน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฉบับอื่นที่ประเทศไทยนั้นเป็นภาคีอยู่

 

  1. คณะกรรมาธิการฯ ได้เพิ่มบทบัญญัติอีกจำนวน 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้คู่สมรสที่ก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายฉบับนี้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางกฎหมายตามกฎหมายอื่นที่ได้กำหนดไว้ให้แก่สามีภรรยา หรือสามีภรรยาในทันที เพื่อลดภาระให้กับหน่วยงานต่างๆ ในการทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ในความรับผิดชอบ 

 

ดนุพรกล่าวต่อว่า กฎหมายฉบับนี้เราแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อทุกคนในประเทศไทย หลังจากกฎหมายได้ผ่านวาระ 1 ไปแล้ว เราฟังเสียงอย่างรอบด้าน คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาด้วยความรอบคอบ และขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ชายหญิงทั่วไปที่เคยได้รับสิทธิอย่างไร ท่านจะไม่เสียสิทธินั้นแม้แต่น้อย สิทธิของท่านยังเท่าเดิมทุกประการ 

 

ดนุพรกล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนสิทธิให้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่อาจเลือกเกิดได้ แต่เลือกที่จะเป็นตามสิ่งที่ต้องการได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้งเคยระบุว่าเราอยากจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นกฎหมายซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเท่าเทียมในสังคมไทย 

 

✨ ภาคประชาชนถกเดือด

 

สำหรับสาระสำคัญในกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้นเป็นการคืนสิทธิให้แก่บุคคล อาทิ การแก้ไขคำว่า ชาย-หญิง-สามี-ภริยา เป็นคำว่า บุคคล-ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น และคู่สมรส เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้นหรือคู่สมรสไม่ว่าจะมีเพศใดก็ตาม โดยบุคคลสามารถหมั้นกันได้เมื่อทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งการหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้แก่ผู้รับหมั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ให้มีสิทธิเรียกรับผิดใช้ค่าทดแทน และหากผู้รับหมั้นเป็นฝ่ายผิดสัญญา ให้คืนของหมั้นแก่ผู้หมั้นด้วย 

 

ขณะที่การสมรสจะกระทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้สมรสกันก่อนได้ พร้อมห้ามการสมรสในกรณีที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือสืบสายโลหิตเดียวกัน และไม่สามารถสมรสซ้อนกับบุคคลอื่นได้ รวมถึงการหย่าจะสมบูรณ์เมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนหย่า ซึ่งเหตุฟ้องหย่า เช่น มีชู้ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นประจำ คู่สมรสประพฤติชั่ว ทำร้ายร่างกายและจิตใจ จงใจทิ้งร้างอีกฝ่ายกว่า 1 ปี เป็นต้น 

 

นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทน และเหตุฟ้องหย่า ให้ครอบคลุมกรณีคู่หมั้นหรือคู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าเพศใด พร้อมแก้ไขเงื่อนระยะเวลาการสมรสใหม่ ในกรณีที่หญิงมีชายเป็นผู้สมรสเดิม และจะสมรสกับชายใหม่เท่ากัน (เพื่อป้องกันกรณีที่มีครรภ์จากชายเดิมติดมาด้วย) รวมถึงการเพิ่มเหตุการฟ้องหย่าให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกัน เช่น มีชู้ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นประจำ

 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยที่มาจากภาคประชาชนได้เสนอขอให้บัญญัติเพิ่มคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ (ที่ทำหน้าที่เสมือนมารดา-บิดา) เพื่อให้เกิดคำกลางๆ ลงในร่างกฎหมายแทนบิดา-มารดา รองรับความสมบูรณ์ของครอบครัวให้คู่สมรสเพศเดียวกัน 

 

แต่คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากชี้แจงว่า การกำหนดบุพการีลำดับแรกเป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมายและไม่มีการให้คำนิยามอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ จึงเป็นเรื่องน่ากังวลที่จะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบตามการปรับแก้ของคณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก  

 

ทั้งนี้ เมื่อบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศกันจดทะเบียนสมรสร่วมกันแล้วก็จะมีสถานะคู่สมรส ดังนั้นก็จะไปเข้าเงื่อนไขในกฎหมายอื่นๆ ที่รองรับสิทธิประโยชน์ของคู่สมรส เช่น สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ, สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคู่สมรสยังสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีใด อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมาก 400 เสียง ต่อ 10 เสียง ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ โดย สส. พรรคประชาชาติ ได้ขอใช้เอกสิทธิ์ไม่ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักศาสนา 

 

✨ ด่านต่อไป สว. 

 

เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม สส. แล้วนั้น จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา โดย สว. ไม่มีอำนาจปัดตก แต่สามารถเสนอได้ 3 ทาง ได้แก่ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และแก้ไขเพิ่มเติม 

 

ทั้งนี้ หาก สว. ไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายจะถูกยับยั้งไว้และส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างกฎหมายนั้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้หลังพ้นไปแล้ว 180 วัน และลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ หรือ 251 เสียง (ถ้ามี สส. ครบ 500 คน) ก็ถือว่าร่างกฎหมายฉบับนั้นได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

 

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เคยกล่าวถึงความพร้อมของวุฒิสภาในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า วุฒิสภาพร้อมพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันที่ 1-2 หรือ 9 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 

 

คำนูณให้ความมั่นใจว่าจะสามารถพิจารณาพร้อมตั้งคณะกรรมาธิการฯ มาพิจารณาต่อได้ทันอย่างแน่นอน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาในช่วงการปิดสมัยประชุมมาพิจารณา ก่อนจะเสนอกลับมายังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ให้ทันก่อนที่สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ 

 

สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ แต่จะยังคงอยู่รักษาการปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อาจอยู่ในช่วงรอยต่อดังกล่าว

ดังนั้นวุฒิสภาจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภาไปศึกษาความพร้อมหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพิจารณาร่างกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในวุฒิสภาชุดปัจจุบัน 

 

อย่างไรก็ตาม หากร่างกฎหมายนี้ไม่ได้รับการพิจารณาจาก สว. ภายในอีก 2 สัปดาห์นี้ จะทำให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกพิจารณาอีกครั้งในการประชุมรัฐสภาสมัยถัดไป ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 

 

ทั้งนี้ หากสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของประเทศไทย ที่สามารถต่อสู้ผลักดันจนผ่านชั้นของสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นการยืนหยัดต่อความหลากหลายทางเพศ LGBTQIA+

 

ประเทศไทยจะถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และถือเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศที่ก้าวหน้าในระดับโลก รวมถึงกฎหมายฉบับนี้จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการสมรสในประเทศไทยอย่างยิ่งใหญ่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X