ทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา แถลงวานนี้ (20 มีนาคม) ว่ารัฐบาลทหารเมียนมากำลังขยายการก่อความรุนแรงต่อพลเรือน หลังเผชิญความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการสู้รบกับกองกำลังชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่
แอนดรูว์สเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมาว่า “ตอนนี้รัฐบาลทหารควบคุมพื้นที่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ”
“พวกเขาสูญเสียทหารไปหลายหมื่นนายเนื่องจากการแปรพักตร์ การบาดเจ็บล้มตาย และการยอมจำนน พวกเขาสูญเสียฐานทัพทหารไปหลายร้อยแห่ง พวกเขาสูญเสียเมืองและหมู่บ้านไปหลายสิบแห่ง”
แอนดรูว์สชี้ว่า ความพ่ายแพ้ต่อกองกำลังชาติพันธุ์ส่งผลให้ตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีการโจมตีพลเรือนที่รุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือนนั้นเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า มีการวางทุ่นระเบิดเพิ่มขึ้นในพื้นที่หมู่บ้าน วัด และทุ่งนา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากทุ่นระเบิดเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ขณะที่การบังคับเกณฑ์ทหารกำลังผลักดันให้หนุ่มสาวเมียนมาจำนวนมากต้องหลบซ่อนตัวหรือหนีออกนอกประเทศ หรือแม้แต่เข้าร่วมกองกำลังต่อต้าน
สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษคือ กลุ่มชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ที่ตอนนี้ติดอยู่ท่ามกลางพื้นที่สู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังอาระกัน (Arakan Army)
โดยแอนดรูว์สระบุว่า กองทัพเมียนมาได้ใช้เครื่องบินรบทิ้งระเบิดโจมตีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ชาวโรฮิงญานั้นถูกห้ามไม่ให้อพยพออกจากพื้นที่ไปยังจุดอื่นที่ปลอดภัยกว่า ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาหลายคนเสียชีวิตจากการสู้รบ และกรณีล่าสุดคือ การทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตไปอย่างน้อย 23 คน
“การโจมตีเหล่านี้และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบอื่นๆ ต่อชาวโรฮิงญายังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะออกมาตรการชั่วคราวเพื่อปกป้องสิทธิชาวโรฮิงญาในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
เรียกร้องนานาชาติเพิ่มการคว่ำบาตร
แอนดรูว์สระบุว่า ทั่วโลกกำลังถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากสถานการณ์ในเมียนมาไปยังวิกฤตการณ์อื่นๆ โดยเขามองว่าวิกฤตขัดแย้งในเมียนมานั้นยังมี ‘แสงแห่งความหวัง’ ในการฟื้นฟูสันติภาพและประชาธิปไตย
“รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาเป็นเหมือนเห็ด พวกเขาเจริญรุ่งเรืองในความมืด และยิ่งเรามุ่งความสนใจไปที่ประเทศนี้ได้มากเท่าไร เราก็จะยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น” เขากล่าว
ขณะที่เขาเตือนว่า ความวุ่นวายในเมียนมาอาจลุกลามสู่ภูมิภาคและทั่วโลก ทั้งจากกรณีผู้ลี้ภัยและการละเมิดน่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนปัญหาจากเครือข่ายอาชญากรระหว่างประเทศพบที่หลบซ่อนในพื้นที่ควบคุมโดยรัฐบาลทหาร
“ปัจจุบันเมียนมาเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์กลางระดับโลกในการปฏิบัติการหลอกลวงทางไซเบอร์ที่ผู้คนนับหมื่นตกเป็นทาส และล่อลวงเหยื่อทั่วโลก”
เขายังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศมุ่งความสนใจต่อสถานการณ์ในเมียนมา และดำเนินการกดดันหรือร่วมกันคว่ำบาตรรัฐบาลทหารให้มากขึ้น โดยเสนอ 4 แนวทางหลัก ได้แก่
- การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกีดกันเงินทุนปฏิบัติการของรัฐบาลทหาร
- ขัดขวางการส่งอาวุธให้แก่รัฐบาลทหาร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรัสเซียและจีน
- ยุติการปฏิบัติต่อกองทัพเมียนมาในฐานะรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย
- มุ่งเน้นความรับผิดชอบ เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความโหดร้ายต่อพลเรือนจะต้องรับผิดชอบ
“เราจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักการพื้นฐานในการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร เราจะต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการประสานงานร่วมกันและมุ่งเน้นมากขึ้น” แอนดรูว์สกล่าว และเผยว่าเขากำลังสืบสวนความสัมพันธ์ด้านการธนาคารและการเงินระหว่างรัฐบาลทหารกับประเทศอื่นๆ ในโลก และหวังว่าจะเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในปลายปีนี้
ภาพ: YOSHIKAZU TSUNO / Gamma-Rapho via Getty Images
อ้างอิง: