×

UN เตือน หากโลกร้อนขึ้นทะลุ 1.5 องศาฯ จะสร้างความหายนะให้กับสิ่งมีชีวิตทั่วโลก

08.10.2018
  • LOADING...

ผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติเตือนว่า โลกเรามีเวลาถึงปี 2030 เท่านั้น ที่จะหยุดยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มิเช่นนั้นอาจสายเกินแก้

 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นกลไกติดตามปัญหาโลกร้อนภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติ ออกรายงานเตือนในที่ประชุม IPCC ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์) เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้ประชากรหลายร้อยล้านคนทั่วโลกเผชิญความเสี่ยงภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม และวิกฤตขาดแคลนอาหารขั้นรุนแรง

 

รายงานความยาว 728 หน้า ระบุว่า ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นแล้วราว 1 องศาเซลเซียส หรือเพิ่มขึ้น 2 ใน 3 จากกรอบอุณหภูมิที่ตั้งไว้ เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้นรัฐบาลทั่วโลกจึงต้องเร่งดำเนินมาตรการที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของสังคมในช่วงหลายปีข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อนในระดับที่สร้างหายนะ

 

คณะนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะช่วยรักษาชีวิตมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศได้จำนวนมหาศาล แต่ที่ผ่านมา เรายังทำได้ไม่ดีพอ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้ก้าวไปสู่จุดวิบัตินั้น

 

รายงานยังแนะนำให้รัฐบาลทั่วโลกช่วยกันควบคุมภาวะโลกร้อนไม่ให้สูงเกิน 0.5 องศาเซลเซียส (0.9 องศาฟาเรนไฮต์) นับจากวันนี้ ซึ่งเป็นกรอบเป้าหมายใหม่แทนของเดิมที่กำหนดไม่ให้เพิ่ม 1 องศาเซลเซียส (1.8 องศาฟาเรนไฮต์) ด้วยเหตุผลว่า การเพิ่มขึ้นอีก 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มความเสี่ยง ทำให้ประชากรมากถึงครึ่งหนึ่งของโลกต้องขาดแคลนน้ำดื่ม นอกจากนี้ยังส่งผลให้คนล้มตายหรือเจ็บป่วยจากคลื่นความร้อนหรือโรคติดเชื้ออีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งการลดกรอบเป้าหมายดังกล่าวจะช่วยป้องกันวิกฤตเหล่านั้น อีกทั้งช่วยควบคุมการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลด้วย

 

โอ เฮก กุลเบิร์ก ผู้อำนวยการสถาบัน Global Change แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย กล่าวว่า การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 0.5 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะทำให้โลกสามารถรักษาสภาพระบบนิเวศที่เป็นอยู่ไว้ได้ต่อไป แต่หากเพิ่มขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียสจากเพดานที่ตั้งไว้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ อย่างใหญ่หลวง

 

เมื่อปี 2010 นานาชาติได้เริ่มดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายจำกัดภาวะโลกร้อนไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส (3.6 องศาฟาเรนไฮต์) เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยเป้าหมายดังกล่าวอยู่ในความตกลงตามกรอบอนุสัญญาปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ข้อตกลงฉบับนี้ยังมีการกำหนดอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ นั่นคือนานาชาติควรจำกัดภาวะโลกร้อนไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ถ้าประเทศต่างๆ สามารถทำได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X