×

รายงาน UN ชี้แก๊งค้ายาในเอเชียปรับตัวรับวิกฤตโควิด-19 ผลิตยาบ้าสู่ตลาดมากเป็นประวัติการณ์ แหล่งใหญ่จากลุ่มน้ำโขงตอนล่าง รวมไทย

10.06.2021
  • LOADING...
UNODC

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) เผยแพร่รายงานสถานการณ์ยาเสพติดในเอเชีย พบว่า แก๊งค้ายาในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2020 ที่ผ่านมาได้อย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มการผลิตและส่งออกยาเสพติดแบบสังเคราะห์อย่าง ‘ยาบ้า’ ออกสู่ตลาดได้มากขึ้นเป็นประวัติการณ์

 

รายงานของ UNODC ระบุว่า เมธแอมเฟ​ตามีน (Methamphetamines) หรือยาบ้า ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชีย ประสบปัญหาการลักลอบขนส่งในช่วงต้นของการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ยังรุนแรง ก่อนที่แก๊งค้ายาจะสามารถหาช่องทางหลบเลี่ยงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด และส่งยาเสพติดออกสู่ตลาดในประเทศต่างๆ ได้มากกว่าปี 2019 

 

ข้อมูลจากทางการในประเทศแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าปีที่แล้วสามารถตรวจยึดยาบ้าได้เกือบ 170 ตัน มากกว่าปี 2019 ถึง 19% 

 

ซึ่งแม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขมูลค่าการค้ายาบ้า แต่เชื่อว่าจะไม่น้อยกว่าในปี 2019 ที่มีข้อมูลอยู่ระหว่าง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.3 แสนล้าน ถึง 1.9 ล้านล้านบาท 

 

“ในขณะที่การระบาดใหญ่ (ของโควิด-19) ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว องค์กรอาชญากรรมที่ครอบงำภูมิภาคมีการปรับตัวและลงทุนอย่างรวดเร็ว พวกเขายังคงผลักดันการผลิตยาบ้า ท่ามกลางความพยายามเพื่อสร้างตลาดและความต้องการสินค้า” เจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ระบุในแถลงการณ์ที่ส่งให้สื่อ

 

รายงานยังชี้ว่า แก๊งค้ายาเสพติดสามารถเติบโตและขยายการผลิตท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่เกิดขึ้นทั่วโลกด้วยการปรับตัวรับมือต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

 

โดยแก๊งค้ายาเหล่านี้เริ่มใช้สารเคมีที่มีการควบคุมน้อยกว่าในการผลิตยาบ้า พร้อมทั้งเลือกแหล่งผลิตใหม่และเส้นทางส่งสินค้าใหม่ ในสถานที่ซึ่งยากที่ทางการจะเข้าตรวจสอบและจับกุม ขณะเดียวกันยังได้ลูกค้าใหม่ที่ไกลถึงประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก

 

การผลิตและลักลอบขนส่งยาเสพติดส่วนใหญ่ในเอเชียถูกขับเคลื่อนจากประเทศแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา และไทย 

 

โดยหลายแหล่งผลิตยาบ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่พบในกัมพูชา แม้จะถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับศูนย์ผลิตยาเสพติดในรัฐฉานของเมียนมา ซึ่งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ชายแดนไทยและลาว และอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกองกำลังติดอาวุธและเจ้าพ่อค้ายาเสพติด ซึ่งปีที่แล้วทางการกัมพูชาสามารถกวาดล้างแหล่งผลิตยาเสพติดได้ 5 แห่ง และในจำนวนนี้ 4 แห่งเป็นแหล่งผลิตยาบ้า

 

“กลุ่มอาชญากรที่เป็นองค์กร สามารถดำเนินการขยายการค้ายาเสพติดสังเคราะห์ในระดับภูมิภาคได้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแม่น้ำโขงตอนบนและรัฐฉานของเมียนมา ด้วยการรักษาปริมาณสารเคมีให้เพียงพอในพื้นที่การผลิต แม้จะมีมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อการค้าข้ามพรมแดนอย่างถูกกฎหมาย” ดักลาส กล่าว

 

ขณะที่แก๊งค้ายาพยายามหลบเลี่ยงมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วยการใช้เส้นทางลักลอบขนส่งผ่านประเทศลาว ที่มีการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ก่อนข้ามชายแดนต่อไปยังศูนย์กลางลักลอบขนส่งยาเสพติดทั้งในไทยและเวียดนาม นอกจากนี้ยังพบว่าฮ่องกงก็เป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางที่มีการลักลอบขนส่งยาบ้าเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 10 เท่า 

 

UNODC ยังชี้ว่า การที่ยาบ้าทะลักออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นนั้น ทำให้ราคาขายส่งยาบ้าทั้งในไทย กัมพูชา และมาเลเซีย ลดลงจนมีราคาถูก ในขณะที่ทำให้ความต้องการซื้อและเสพยาบ้ายิ่งสูงขึ้น ซึ่งปริมาณการผลิตยาบ้าที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นผลจากสารเคมีตั้งต้นที่หาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยาเสพติดสังเคราะห์อื่นๆ เช่น ยาเลิฟและยาเค ก็เพิ่มขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียเช่นกัน

 

ขณะที่ดักลาสและผู้เชี่ยวชาญมองว่าสถานการณ์ยาเสพติดในเอเชียปีนี้อาจเลวร้ายลงอีก เนื่องจากแก๊งค้ายาเสพติด โดยเฉพาะในเมียนมา อาจใช้โอกาสจากสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจที่พังทลายในการเพิ่มการผลิตและลักลอบขนส่งยาเสพติด

 

“เมื่อเศรษฐกิจพังทลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมายมักจะก้าวขึ้นมาและมีอำนาจมากขึ้น นั่นคือสถานการณ์ที่เรากลัวและคาดคิดไว้” เขากล่าว

 

ภาพ: Photo by Chaiwat Subprasom / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising