องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า ความพยายามของมนุษย์เพื่อรักษาชั้นโอโซนโลกนั้นได้ผลดีตามที่คาดหวังไว้ และชั้นโอโซนโลกอาจใช้เวลาในการฟื้นฟูตัวเองให้กลับสู่สภาพสมบูรณ์ได้ในอีกเพียงไม่กี่สิบปีข้างหน้าเท่านั้น
รายงานการประเมินผลครั้งสำคัญจาก UN ระบุว่า พิธีสารมอนทรีออลที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 1987 ซึ่งระบุถึงข้อห้ามในการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชั้นโอโซนประสบความสำเร็จด้วยดี โดยชั้นโอโซนเป็นส่วนหนึ่งของชั้นบรรยากาศโลกที่คอยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตที่ส่วนใหญ่เกิดจากดวงอาทิตย์ ซึ่งหากปราศจากชั้นโอโซนหรือเกิดช่องโหว่แล้ว รังสีอัลตราไวโอเลตจะสามารถทะลุทะลวงเข้าถึงพื้นผิวโลกได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ข้อมูลระบุว่า รังสีอัลตราไวโอเลตสามารถทำลายดีเอ็นเอและก่อให้เกิดอาการผิวไหม้แดดได้ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงระยะยาวต่อปัญหาต่างๆ เช่น มะเร็งผิวหนัง
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า ชั้นโอโซนที่ปกคลุมโลกมีความหนาแน่นลดลงในช่วงปี 1970 โดยตัวการสำคัญที่คอยกัดกินชั้นโอโซนคือสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในกระป๋องสเปรย์ ตู้เย็น ฉนวนโฟม และเครื่องปรับอากาศ
ต่อมาในปี 1985 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบรูโหว่ในชั้นโอโซน ส่งผลให้อีกสองปีต่อมา โลกได้มีการลงนามพิธีสารมอนทรีออล โดยมี 46 ประเทศที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเลิกใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชั้นโอโซน และในเวลาต่อมา ข้อตกลงดังกล่าวได้กลายเป็นสนธิสัญญาสหประชาชาติฉบับแรกที่บรรลุการให้สัตยาบันสากล และในปัจจุบัน เกือบ 99% ของสารต้องห้ามที่ทำลายชั้นโอโซนได้ถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้ว
โดยในอดีตรูโหว่โอโซนในแอนตาร์กติกขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2000 แต่หลังจากนั้น ขนาดพื้นที่และความลึกของรูโหว่ก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จนในที่สุด รายงานที่จัดทำร่วมกันโดย UN สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ระบุว่า ขณะนี้พิธีสารมอนทรีออลกำลังทำงานได้ผลตามที่คาดหวังไว้
รายงานระบุว่า หากยังคงนโยบายปัจจุบันไว้ ชั้นโอโซนจะกลับคืนสู่สภาพเดียวกับปี 1980 หรือก่อนที่รูโหว่โอโซนจะปรากฏขึ้น ณ จุดต่างๆ ทั่วโลก โดยในปี 2066 คาดว่ารูโหว่โอโซนบริเวณแถบแอนตาร์กติก ซึ่งเป็นจุดที่ชั้นโอโซนลดลงมากที่สุด จะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ ส่วนในปี 2045 คาดว่ารูโหว่โอโซนบริเวณแถบอาร์กติกจะฟื้นตัวเช่นเดียวกัน สำหรับบริเวณอื่นๆ นั้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณสองทศวรรษในการฟื้นตัว
แม้ว่าการลดลงของชั้นโอโซนจะเป็นอันตรายจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ แต่มันไม่ใช่สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม รายงานระบุไว้ว่า การรักษาชั้นโอโซนมีผลเชิงบวกต่อการป้องกันภาวะโลกร้อนร่วมด้วย เนื่องจากสารเคมีอันตรายบางชนิดที่นานาประเทศยกเลิกใช้งานตามพิธีสารมอนทรีออลนั้นก็เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีอานุภาพรุนแรงด้วย
นักวิทยาศาสตร์พบว่า การเลิกใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นได้ถึง 1 องศาเซลเซียส ในช่วงกลางศตวรรษนี้ หากเทียบกับการเพิ่มการใช้งานถึง 3% ต่อปี
แม้รายงานนี้จะถือเป็นข่าวดี และมีหลักฐานว่าการดำเนินการระหว่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมนั้นได้ผลอย่างรวดเร็ว แต่รายงานจาก UN ก็เตือนด้วยว่า ไม่มีหลักประกันใดที่จะรับรองได้ว่าชั้นโอโซนจะฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดไป เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่นที่มากระทบ เช่น ข้อเสนอเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนโดยการส่งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลายล้านตันขึ้นสู่บรรยากาศชั้นบน หรือที่เรียกว่าการฉีดละอองในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ อาจลดประสิทธิภาพของการฟื้นตัวของชั้นโอโซนที่กำลังดำเนินอยู่ได้
ภาพ: studio23 Via Shutterstock
อ้างอิง: