คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ที่น่าตกใจว่า โลกของเรามีแนวโน้มที่จะก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสำคัญของภาวะโลกร้อนภายในทศวรรษหน้า ซึ่งชาติต่างๆ จะต้องร่วมยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิสและเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดอย่างเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงเกินจนไปอยู่ในระดับอันตราย
รายงานระบุว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยคาดว่าจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ‘ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ 2030’ ในช่วงเวลาที่หลายประเทศยังคงเดินหน้าใช้งานถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญ เพราะภายใต้ความตกลงปารีสที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2015 แทบทุกประเทศตกลงที่จะสร้างความพยายามในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หากอุณหภูมิความร้อนทะลุเพดานนั้นไปแล้ว จะผลส่งให้เกิดหายนะทางธรรมชาติตามมา ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่รุนแรง น้ำท่วมหนัก ภัยแล้งสาหัส พืชผลเสียหาย และอาจมีสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ที่จะเริ่มสูญพันธุ์ด้วย อันเป็นสถานการณ์ที่มนุษย์ยากจะรับมือไหว
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเปิดเผยว่า การที่โลกก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างการปล่อยให้อุณหภูมิทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียสนั้น ไม่ได้ถึงขั้นที่จะทำให้มวลมนุษยชาติล่มสลาย แต่ความร้อนที่เพิ่มขึ้นทุกๆ เสี้ยวองศาเซลเซียส จะค่อยๆ ทำให้ภัยคุกคามที่มีต่อมนุษย์รุนแรงหนักขึ้นเรื่อยๆ เช่น การขาดแคลนน้ำ ผู้คนขาดสารอาหาร หรือคลื่นความร้อนแรงสูง แต่หากเราปล่อยปละละเลยให้อุณหภูมิขยับขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้ว ความเลวร้ายก็จะเพิ่มขึ้นอีก ผู้คนหลายสิบล้านคนทั่วโลกจะเจอกับคลื่นความร้อนที่อาจถึงขั้นคร่าชีวิตมนุษย์ น้ำแล้งจนไม่พอดื่มกินหรือใช้ในอุตสาหกรรม และเกิดอุทกภัยตามแนวชายฝั่ง แนวปะการังจะทยอยตายลง ส่วนน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกอาจไม่มีเหลือในช่วงฤดูร้อน
ปัจจุบันโลกของเรามีอุณหภูมิสูงเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้วที่ 1.1 องศาเซลเซียส และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็สูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลว่าที่สุดนั้นเป้าหมายความตกลงปารีสจะประสบกับความล้มเหลวในอีกไม่ช้า
แต่ถึงเช่นนั้น รายงานจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยังมีโอกาสสุดท้ายที่มนุษย์จะพลิกสถานการณ์ได้ โดยชาติอุตสาหกรรมใหญ่ทั้งหมดจะต้องผนึกกำลังกันลดการปล่อยก๊าซกระจกลงประมาณครึ่งหนึ่งจากระดับปัจจุบันภายในปี 2030 และหลังจากนั้นจะต้องยุติการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศอย่างสิ้นเชิงภายในช่วงต้นทศวรรษที่ 2050 หากเป้าหมายทั้งสองประการนี้สำเร็จ โลกจะมีโอกาสที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ราว 50%
ทั้งนี้ รายงานย้ำด้วยว่า หากเราลงมือช้ากว่าที่กำหนดไว้ไปแค่เพียงไม่กี่ปี ก็มีแนวโน้มสูงที่จะทำให้โลกไปไม่ถึงจุดหมาย หรือรับประกันได้ว่าอนาคตโลกของเราจะร้อนระอุกว่าเดิม และเต็มไปด้วยภยันตรายมากขึ้น
โฮซึง ลี (Hoesung Lee) ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า “ความเร็วและขนาดของสิ่งที่โลกเราได้ทำไปแล้ว ตลอดจนแผนการปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอที่จะจัดการกับภาวะโลกรวน เหมือนกับว่าเรากำลังเดินไปช้าๆ ทั้งที่จริงเราควรวิ่งแบบสุดแรงเกิด”
รายงานดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ชาติผู้สร้างมลพิษมากที่สุดในโลกอย่างจีนและสหรัฐอเมริกายังคงเดินหน้าอนุมัติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ ข้อมูลจากปี 2022 ระบุว่า จีนได้ออกใบอนุญาตสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินมากถึง 168 แห่ง ขณะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้อนุมัติโครงการขุดเจาะน้ำมันขนาดมหึมาที่มีชื่อว่า ‘โครงการวิลโลว์’ (Willow Project) จนเกิดกระแสต่อต้านจากบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่น้อยทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์
ภาพ: Tatiana Grozetskaya Via Shutterstock
อ้างอิง: