ราวินา ชามดาสนี โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UNOHCHR แถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกรณีที่ทางการไทยตั้งข้อหาผู้ชุมนุมอย่างน้อย 35 คนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงผู้ชุมนุมที่เป็นนักเรียนวัยเพียง 16 ปี ด้วยมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาไทย
“ความผิดตามกฎหมายนี้ซึ่งว่าด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือสมาชิกในราชวงศ์ มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี” ชามดาสนีกล่าวในแถลงการณ์ที่ออกทั้งรูปแบบหนังสือลายลักษณ์อักษรและวิดีโอ
“เรามีความกังวลใจอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีผู้ชุมนุมอายุ 16 ปี ที่เมื่อวานนี้ตำรวจได้ควบคุมตัวขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อร้องขอให้มีการกุมขัง ซึ่งภายหลังศาลฯ ปฏิเสธคำร้องและให้ประกันตัวอย่างมีเงื่อนไข”
โฆษก UNOHCHR ย้ำว่า ได้แสดงความกังวลและเรียกร้องรัฐบาลไทยมาหลายครั้งแล้ว ให้บังคับใช้มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาตามครรลองสากล “เราจึงรู้สึกผิดหวังอย่างมากที่หลังไม่มีการใช้กฎหมายนี้มานาน 2 ปี วันนี้เรากลับเห็นผู้ถูกตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก และน่าตื่นตระหนกที่มีการใช้กฎหมายนี้กับผู้เยาว์
“เรายังคงเป็นห่วงต่อข้อหาทางอาญาร้ายแรงอื่นๆ ที่ทางการไทยฟ้องร้องต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาชุมนุมอย่างสงบในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมถึงข้อหาการปลุกระดม และข้อหาภายใต้พระราชบัญญัติอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งทางการไทยได้ตั้งข้อหากับผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เช่นเดียวกับผู้ชุมนุมอย่างสันติคนอื่นๆ”
ดังนั้นสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย “หยุดการตั้งข้อกล่าวหาที่มีโทษทางอาญาเหล่านี้กับประชาชนที่ออกมาแสดงสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ
“ประชาชนควรสามารถแสดงออกถึงสิทธิเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวกับการตอบโต้ทางกฎหมายจากภาครัฐ ซึ่งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตรวจสอบพบว่าการควบคุมตัวบุคคลที่ออกมาแสดงถึงเสรีภาพการแสดงออก หรือสิทธิมนุษยชนต่างๆ ถือเป็นการจับกุมและคุมขังโดยพลการ”
UNOHCHR ยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ปรับแก้ไขมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้เป็นไปตามกรอบมาตราที่ 19 ว่าด้วยเสรีภาพทางการแสดงออกของตราสารระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: