สหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้นานาประเทศยุติการขายอาวุธให้เมียนมา เพื่อตอบโต้การรัฐประหารและการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง พร้อมกับเรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งรวมถึง ออง ซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และยุติความรุนแรงต่อผู้ที่ประท้วงอย่างสันติ
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติประณามรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาที่ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่การลงมติดังกล่าวถือว่ามีนัยทางการเมือง
คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา กล่าวว่า “ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่ในวงกว้างนั้นเป็นเรื่องจริง เวลาเป็นสิ่งสำคัญ โอกาสที่จะล้มเลิกการยึดอำนาจของทหารนั้นกำลังลดน้อยลงไปทุกขณะ”
มติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนจาก 119 ประเทศ โดยเบลารุสเป็นประเทศเดียวที่โหวตคัดค้าน ขณะที่อีก 36 ประเทศงดออกเสียง รวมถึงรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้แก่กองทัพเมียนมา
บางประเทศที่งดออกเสียงให้เหตุผลว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องภายในของเมียนมา ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งระบุว่า มติดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงการปราบปรามที่โหดร้ายต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งทำให้ประชาชนเกือบล้านคนต้องหนีออกนอกประเทศ
โอลอฟ สคูก ทูตสหภาพยุโรปประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า มติดังกล่าวเป็นการ “เพิกถอนความถูกต้องตามกฎหมายของรัฐบาลเผด็จการทหาร ประณามการกระทำทารุณและการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และแสดงให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวของเมียนมาในสายตาชาวโลก”
แต่ จ่อ โม ทุน เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเมียนมาประจำสหประชาชาติ ซึ่งเป็นผู้แทนของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวเมียนมา กล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวังที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติใช้เวลานานกว่าจะผ่านมติดังกล่าว ซึ่งเขาระบุว่ามาถึงตอนนี้ก็ ‘เจือจาง’ ไปแล้ว
ซูจี วัย 75 ปี ถูกกักบริเวณในบ้านตั้งแต่รัฐประหาร และไม่ค่อยมีใครเห็นหรือได้ยินเธอ ยกเว้นการปรากฏตัวในศาลเป็นช่วงเวลาสั้นๆ
กองทัพเมียนมาได้ให้เหตุผลในการยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า มีการทุจริตการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่บรรดาผู้ตรวจสอบการเลือกตั้งอิสระกล่าวว่า การเลือกตั้งดังกล่าวเสรีและยุติธรรม
การรัฐประหารก่อให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ และกองทัพของเมียนมาปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหว และนักข่าวอย่างไร้ความปราณี
จนถึงขณะนี้กองกำลังความมั่นคงได้สังหารผู้คนไปแล้วกว่า 860 ราย และควบคุมตัวผู้ประท้วงไว้เกือบ 5,000 ราย ตามรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP)
เมื่อเดือนที่แล้ว Human Rights Watch ได้เรียกร้องให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติผ่านมติที่เรียกร้องให้มีการห้ามค้าอาวุธ โดยกล่าวว่า “แม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายกับรัฐต่างๆ แต่มติดังกล่าวจะมีน้ำหนักทางการเมืองอย่างมาก
“รัฐบาลของประเทศต่างๆ ควรตระหนักว่าอาวุธที่ขายให้แก่กองทัพเมียนมานั้น มีแนวโน้มที่จะถูกนำไปใช้เพื่อกระทำความผิดต่อประชาชน” องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุ “การห้ามค้าอาวุธสามารถช่วยป้องกันอาชญากรรมดังกล่าวได้”
ภาพ: Santosh Krl / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: